มะเร็งตับ
มะเร็งตับ ระยะแรกจะไม่แสดงอาการใดๆ (ยกเว้นรายที่เป็นตับแข็งอยู่ก่อน ก็จะมีอาการของโรคตับแข็ง) เมื่อก้อนมะเร็งลุกลามมากขึ้น จึงเริ่มมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด จุกเสียดท้อง คล้ายอาการอาหารไม่ย่อย บางรายอาจมีอาการปวดหรือเสียวชายโครงขวาโดยไม่มีอาการอื่นๆ ชัดเจนก็ได้ อาการเหล่านี้มักแสดงอยู่เป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน โดยผู้ป่วยอาจไม่ได้ใส่ใจ หรือคิดว่าเป็นอาการปวดยอกชายโครง หรืออาหารไม่ย่อย
เมื่อก้อนมะเร็งโตมากขึ้น ก็จะมีอาการอ่อนเพลียมากขึ้น รู้สึกแน่นอึดอัดที่บริเวณลิ้นปี่ทั้งวัน มีอาการปวดใต้ชายโครงขวา ซึ่งอาจปวดร้าวไปที่ไหล่ขวาหรือใต้สะบักด้านขวา ผู้ป่วยจะเบื่ออาหารมากขึ้น และน้ำหนักลดอย่างรวดเร็วจนคนใกล้ชิดรู้สึกผิดสังเกต
บางรายอาจมีอาการตาเหลือง ตัวเหลือง ปัสสาวะเหลืองเข้ม อาจคลำได้ก้อนที่ใต้ชายโครงขวา ท้องบวม หรือเท้าบวมทั้ง 2 ข้าง อาจมีไข้ต่ำๆ ร่วมด้วย
รายที่มีภาวะอุดกั้นของทางเดินน้ำดี (มักพบในโรคมะเร็งท่อน้ำดี) ผู้ป่วยจะมีอาการตาและตัวเหลืองจัด คันตามตัว อุจจาระสีซีด
รายที่มีภาวะตับแข็งระยะท้ายร่วมด้วย อาจมีอาการอาเจียนเป็นเลือด
การดำเนินโรค
ส่วนใหญ่ที่ตรวจพบเมื่อมีอาการน้ำหนักลดอย่างมากแล้ว มักจะเป็นมะเร็งตับระยะท้าย หากปล่อยไว้ไม่รักษา ก็มักจะเสียชีวิตภายใน 6-12 เดือนโดยเฉลี่ย แต่ถ้าได้รับการดูแลรักษา มีกำลังใจดี ผู้ป่วยสามารถดูแลตนเองได้ดี ก็อาจมีชีวิตที่มีคุณภาพ และยืนยาวเป็นปีๆ
รายที่ตรวจพบตั้งแต่ระยะแรก หากได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ก็อาจหายขาด หรือมีชีวิตอยู่ได้ยืนยาว
ภาวะแทรกซ้อน
มะเร็งตับอาจแพร่กระจายไปทั่วท้องและอวัยวะต่างๆ ทำให้เกิดอาการเจ็บปวด หายใจลำบาก และอาการผิดปกติของอวัยวะที่มะเร็งแพร่ไปถึง เช่น ปวดกระดูกสันหลัง อาการผิดปกติทางสมอง เป็นต้น
ก้อนมะเร็งอาจมีการแตก ทำให้มีการตกเลือดในท้องเป็นอันตรายได้
ผู้ป่วยอาจมีอาการใจหวิวคล้ายเป็นลมจากภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เนื่องจากตับถูกทำลายจนไม่อาจผลิตน้ำตาลออกมาในกระแสเลือดได้
รายที่มีตับแข็งร่วมด้วย (โรคนี้มักพบคู่กับมะเร็งตับ) ระยะท้าย ก็มักจะมีอาการอาเจียนเป็นเลือด เลือดออกง่าย ภูมิต้านทานต่ำทำให้เป็นโรคติดเชื้อแทรกซ้อนได้ง่าย และท้ายที่สุดอาจเกิดภาวะตับวาย (ซึม เพ้อ ชัก หมดสติ)
การแยกโรค
ผู้ที่มีอาการอ่อนเพลีย และน้ำหนักลดอย่างรวดเร็ว อาจเกิดจากมะเร็งที่อวัยวะอื่น เช่น มะเร็งกระเพาะอาหาร (มีอาการปวดท้องคล้ายโรคกระเพาะอาหาร) มะเร็งลำไส้ใหญ่ (มีอาการท้องเดิน ท้องผูก หลังปวดท้องเรื้อรัง หรือถ่ายเป็นเลือด) มะเร็งปอด (มีอาการไอเรื้อรัง ไอเป็นเลือด เจ็บหน้าอก) เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังอาจเกิดจากเบาหวาน (มีอาการกระหายน้ำ ปัสสาวะบ่อย หิวบ่อย) คอพอกเป็นพิษ (เหนื่อยง่าย ใจสั่น มือสั่น ขี้ร้อน เหงื่อออกมาก คอพอก) วัณโรคปอด (ไข้และไอเรื้อรัง ไอเป็นเลือด) โรคเอดส์ (ไข้เรื้อรัง ท้องเดินเรื้อรัง)
อาการตาเหลือง ตัวเหลือง ท้องบวม เท้าบวม อาจเกิดจากโรคตับแข็ง ซึ่งผู้ป่วยมักมีประวัติดื่มเหล้าจัดมานาน และมักตรวจพบอาการฝ่ามือแดง และมีจุดแดงๆ ขึ้นที่หน้าอก
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเกิดจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งดังกล่าวข้างต้น ก็ควรจะไปพบแพทย์ เพื่อให้การดูแลรักษาอย่างถูกต้องแต่เนิ่นๆ
- อ่าน 63,273 ครั้ง
พิมพ์หน้านี้