มาลาเรีย
ในระยะ 2-3 วันแรกจะมีอาการไข้ต่ำๆ ครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว คล้ายไข้หวัดใหญ่ อาจมีอาการคลื่นไส้ เบื่ออาหาร ปวดท้องท้องเดินร่วมด้วยก็ได้
ต่อมาจะมีอาการจับไข้หนาวสั่นมาก ซึ่งแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ เริ่มจากระยะสั่น (จะมีอาการหนาวสั่น ต้องห่มผ้าหนาๆ กินเวลาประมาณ 20–60 นาที) แล้วตามด้วยระยะร้อน (มีไข้สูง ปวดศีรษะมาก ปวดกระดูก ปวดกล้ามเนื้อ กินเวลาประมาณ 3-8 ชั่วโมง) สุดท้ายเป็นระยะเหงื่อออก (จะมีเหงื่อออกชุ่มทั้งตัวไข้จะลดลงเป็นปกติ แต่จะรู้สึกอ่อนเพลียและอยากจะนอนหลับ กินเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง)
อาการจับไข้หนาวสั่น อาจเป็นวันละครั้งหรือทุก 36 ชั่วโมง (สำหรับมาลาเรียชนิดฟาลซิพารัม) หรือทุก 48 ชั่วโมง (สำหรับมาลาเรียชนิดไวแวกซ์)
บางคนอาจไม่มีอาการจับไข้หนาวสั่นเป็นเวลาชัดเจนดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงแรกๆ ของการเป็นโรคนี้ อาจมีอาการไข้สูงตลอดเวลา หรือจับไข้หนาวสั่นวันละหลายครั้งก็ได้
การดำเนินโรค
ถ้าได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ตั้งแต่ระยะแรกเริ่มของอาการไข้มาลาเรีย มักจะหายขาดได้ภายใน 1 สัปดาห์ บางคนอาจมีการติดเชื้อมาลาเรียร่วมกันมากกว่า 1 ชนิด เมื่อรักษาชนิดหนึ่งทุเลาแล้ว อาจมีไข้เพิ่มจากเชื้ออีกชนิดหนึ่ง ซึ่งจำเป็นต้องให้การรักษาเพิ่มเติม
สำหรับมาลาเรียชนิดไวแวกซ์ ถ้าไม่ได้รับยาฆ่าเชื้อในตับ (ได้แก่ ยาไพรมาควีน) เมื่ออาการทุเลาในช่วงแรกแล้ว ต่อไปอาจมีอาการกำเริบซ้ำได้อีก
สำหรับมาลาเรียชนิดฟาลซิพารัม ถ้าได้รับการรักษาล่าช้า หรือผู้ป่วยมีภูมิต้านทานโรคต่ำ ก็อาจเป็นรุนแรง และมีภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวได้
ภาวะแทรกซ้อน
มักเกิดกับผู้ป่วยที่เป็นมาลาเรีย ชนิดฟาลซิพารัม หลังจากเริ่มมีอาการเป็นไข้ 3-7 วัน โดยเฉพาะในหญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่ขาดอาหาร และผู้ที่ไม่มีภูมิคุ้มกันต่อมาลาเรีย (เช่น คนในเมืองที่เดินทางเข้าไปในเขตป่าเขา)
ภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญ ได้แก่ มาลาเรียขึ้นสมอง (cerebral malaria) ผู้ป่วยจะมีอาการปวดศีรษะอย่างมาก ซึม สับสน ชักกระตุกทั้งตัว หมดสติ มีอัตราตายสูงถึงร้อยละ 20 นอกจากนี้ ยังอาจพบภาวะไตวายเฉียบพลัน (ปัสสาวะออกน้อย) ภาวะโลหิตจางรุนแรง (ซีด) ภาวะปอดบวมน้ำ (หายใจหอบ) ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (ใจสั่น เหงื่อออก เป็นลม) ภาวะเลือดออก ดีซ่าน (ตาเหลือง ตัวเหลือง) เป็นต้น
ถ้าเกิดในหญิงตั้งครรภ์ อาจทำให้แท้งบุตร ทารกเสียชีวิต คลอดก่อนกำหนด ทารกน้ำหนักน้อย
การแยกโรค
อาการไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว ซึ่งพบในระยะแรกๆ ของไข้มาลาเรีย อาจทำให้คิดว่าเป็นเพียงไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ หรือ โรคอุจจาระร่วง (ถ้ามีอาการท้องเดินร่วมด้วย) จึงควรซักถามประวัติการอยู่หรือเข้าไปในเขตป่าเขาที่ยังมีการระบาดของมาลาเรีย ถ้ามีประวัติดังกล่าว ควรคิดถึงไข้มาลาเรียและควรปรึกษาแพทย์เพื่อการตรวจวินิจฉัยให้แน่ชัด
นอกจากนี้ อาการไข้สูง หรือมีไข้ตลอดเวลาอาจมีสาเหตุจากโรคอื่นๆ เช่น
- ไข้เลือดออก จะมีไข้สูงตลอดเวลา ซึม เบื่ออาหาร หน้าแดง ตาแดง อาจพบมีการระบาดของไข้เลือดออก ในโรงเรียนหรือในชุมชนของผู้ป่วยไทฟอยด์ จะมีไข้สูงตลอดเวลา ปวดศีรษะ ปวดท้อง อาเจียน ท้องผูกหรือท้องเดิน
- ไทฟัส จะมีไข้สูง ปวดศีรษะ อาจมีอาการหนาวสั่น อาจพบรอยแผลคล้ายรอยบุหรี่จี้ตามบริเวณซอกรักแร้ ขาหนีบ ก้น และบริเวณร่มผ้า มักพบในคนที่อยู่ตามไร่ สวน หรือป่าเขา
- เล็ปโตสไปโรซิส (ไข้ ฉี่หนู) จะมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว ปวดเจ็บกล้ามเนื้อน่อง อาจมีอาการหนาวสั่น ตาแดง ตาเหลือง มักพบในคนที่มีประวัติย่ำน้ำที่ท่วมขังหรือแช่ในน้ำตามห้วยหนอง คลอง บึง
ส่วนอาการไข้สูง หนาวสั่นมาก อาจเป็นอาการของโรคอื่นๆ เช่น
- กรวยไตอักเสบเฉียบพลัน จะมีไข้สูง หนาวสั่นมาก ปวดท้อง ปวดหลัง ปัสสาวะขุ่น
- ปอดอักเสบ ในระยะ 24 ชั่วโมงแรกอาจจะมีไข้สูง หนาวสั่น ร่วมกับอาการไอ เจ็บหน้าอก หายใจหอบ
- ท่อน้ำดีอักเสบ (ascending cholangitis) จะมีไข้สูงหนาวสั่นมาก ปวดท้องมาก ตาเหลือง
- ภาวะเม็ดเลือดแดงแตก จะมีไข้สูง หนาวสั่นมาก ตาเหลือง
อย่างไรก็ตาม หากสงสัยโรคใดโรคหนึ่งดังกล่าวข้างต้น ก็ควรจะไปปรึกษาแพทย์โดยเร็ว
- อ่าน 174,779 ครั้ง
พิมพ์หน้านี้