อีสุกอีใส
เด็กจะมีไข้ต่ำๆ อ่อนเพลียและเบื่ออาหารเล็กน้อย ในผู้ใหญ่มักมีไข้สูงและปวดเมื่อยตามตัวคล้ายไข้หวัดใหญ่นำมาก่อน ผู้ป่วยจะมีผื่นขึ้นซึ่งจะขึ้นพร้อมๆ กันกับวันที่เริ่มมีไข้ หรือ 1 วันหลังจากมีไข้ เริ่มแรกจะขึ้นเป็นผื่นแดงราบก่อน ต่อมาจะกลายเป็นตุ่มนูนมีน้ำใสๆ อยู่ข้างในและมีอาการคัน ต่อมาจะกลายเป็นหนองหลังจากนั้น 2-4 วัน ก็จะตกสะเก็ด ผื่นและตุ่มจะขึ้นตามไรผมก่อน แล้วลามไปตามหน้า ลำตัว และแผ่นหลัง จะทยอยขึ้นเต็มที่ภายใน 4 วัน บางรายมีตุ่มขึ้นในช่องปาก ทำให้ปากเปื่อย ลิ้นเปื่อย เจ็บคอ บางรายอาจไม่มีไข้ มีเพียงผื่นและตุ่มขึ้น ทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นเริมได้ เนื่องจากผื่นตุ่มของโรคนี้จะค่อยๆ ออกทีละระลอก (ชุด) ขึ้นไม่พร้อมกันทั่วร่างกาย ดังนั้นจะพบว่าบางที่ขึ้นเป็นผื่นแดงราบ บางที่เป็นตุ่มใส บางที่เป็นตุ่มกลัดหนอง และบางที่เริ่มตกสะเก็ด ด้วยลักษณะนี้ ชาวบ้านจึงเรียกว่า อีสุกอีใส (มีทั้งตุ่มสุกตุ่มใส)
การดำเนินโรค
เด็กเล็กมักจะเป็นโรคแบบไม่รุนแรง มีตุ่มขึ้นไม่มาก บางคนอาจมีไข้ต่ำๆ หรือไม่มีไข้ และจะหายได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์ ซึ่งชาวบ้านมักจะคุ้นเคยกับโรคนี้มาแต่โบราณ และอาจให้กินยาเขียวในการรักษา ส่วนเด็กโตและผู้ใหญ่ ส่วนมากก็มักจะหายได้เองภายใน 1-3 สัปดาห์ แต่มีเพียงส่วนน้อยอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวข้างต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ป่วยที่หายจากโรคนี้ บางคนเมื่ออายุมากขึ้น (อาจเป็นสิบๆ ปี หลังจากนั้น) อาจกลายเป็นโรคงูสวัดตามมา เนื่องจากเชื้อไวรัสชนิดนี้สามารถแฝงตัวอยู่ที่ปมประสาทใต้ผิวหนัง (แม้ว่าตุ่มจะยุบลงแล้ว) เมื่อโตขึ้นภูมิคุ้มกัน (แอนติบอดี) ต่อเชื้อนี้อ่อนลง เชื้อที่แฝงตัวอยู่ก็จะแบ่งตัวจนกลายเป็นงูสวัดได้
ภาวะแทรกซ้อน
ในเด็กเล็กส่วนใหญ่มักจะไม่มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง ยกเว้นการแกะเกาจนกลายเป็นตุ่มหนอง ฝี พุพอง ในเด็กโต (อายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป) และผู้ใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือมีโรคเรื้อรังอยู่ก่อน ก็อาจเกิดภาวะแทรกซ้อน ที่พบได้บ่อยหน่อย คือ ปอดอักเสบ (ปอดบวม) ส่วนภาวะอื่นๆ ที่อาจพบได้แต่ค่อนข้างน้อย เช่น ตับอักเสบ, ข้ออักเสบ, กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ, ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ (มีเลือดออกง่าย), ภาวะโลหิตเป็นพิษ (เชื้อแบคทีเรียเข้ากระแสเลือด), ไตอักเสบ เป็นต้น
ที่สำคัญสำหรับหญิงตั้งครรภ์ ถ้าเป็นอีสุกอีใสในช่วงไตรมาสแรก (3 เดือนแรก) ทารกในครรภ์มีโอกาสพิการได้ประมาณร้อยละ 5 และในช่วงไตรมาสที่ 3 (3 เดือนสุดท้ายก่อนคลอด) ถ้าแม่เป็นโรคนี้ 5 วันก่อนคลอดจนถึง 2 วันหลังคลอด ทารกที่เกิดมามีโอกาสติดเชื้อกลายเป็นโรคอีสุกอีใสชนิดรุนแรง ซึ่งอาจถึงตายได้ (ในสหรัฐอเมริกาพบว่าทารกที่มีแม่เป็นโรคนี้ในช่วงดังกล่าว มีโอกาสเป็นโรคนี้ตายประมาณร้อยละ 5) โดยทั่วไปคนส่วนใหญ่จะติดเชื้ออีสุกอีใส และมีภูมิคุ้มกันตั้งแต่อายุไม่มาก มีน้อยคนที่จะมาติดเชื้อตอนตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตามก่อนแต่งงานหรือก่อนตั้งครรภ์ หากไม่แน่ใจว่าตัวเองเคยติดเชื้ออีสุกอีใสมาก่อนหรือไม่ ก็ควรจะปรึกษาแพทย์ให้แน่ใจ
การแยกโรค
อีสุกอีใสมักจะมีอาการเด่นชัด คือ มีตุ่มน้ำพุขึ้นพร้อมๆ กับมีไข้ (ตัวร้อน) ในวันแรกของโรค ตุ่มจะขึ้นที่ศีรษะ คอ แล้วกระจายตามลำตัว ส่วนแขน ขา จะมีประปราย อย่างไรก็ตาม อาการมีตุ่มน้ำพุขึ้นตามร่างกายได้ ก็อาจเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น
- โรคมือ-เท้า-ปาก (hand-foot-and-mouth disease) เกิดจากไวรัสที่มีชื่อว่า ค็อกแซกกี (coxsackie virus) ชนิด A 16 พบบ่อยในเด็กอายุต่ำกว่า 10 ขวบ จะมีอาการไข้ร่วมกับแผลเปื่อยในปาก (ตามกระพุ้งแก้ม เพดานปาก) และมีตุ่มน้ำพุขึ้นที่มือ เท้า รวมทั้งฝ่ามือ ฝ่าเท้า อาการมักจะหายได้เองภายใน 3-5 วัน โดยไม่ทำให้เกิดแผลเป็น
- หิด (scabies) เกิดจากตัวไร (เชื้อหิด) ซึ่งติดต่อง่ายโดยการสัมผัส จะมีตุ่มคันมากเกิดที่ง่ามมือ ง่ามเท้า ไม่มีไข้ มักเป็นพร้อมกันหลายคนในบ้านหรือห้องเรียน
- ตุ่มพุพอง (impetigo) เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย จะมีลักษณะขึ้นเป็นตุ่มหนองเพียงไม่กี่จุดไม่กระจายทั่วตัวแบบอีสุกอีใส ส่วนใหญ่จะไม่มีไข้
- หัด (measles) เกิดจากไวรัสหัดจะมีไข้สูงตลอดเวลา หน้าแดง ตาแดง ซึม เบื่ออาหาร น้ำมูกไหล ไอ และในวันที่ 3-4 ของไข้จะมีผื่นแดงเล็กๆ ขึ้นทั้งตัว ไม่มีตุ่มน้ำแบบอีสุกอีใส
- เริม (herpes simplex) เกิดจากไวรัสเริมจะมีตุ่มน้ำใสขึ้นเป็นหย่อม (กระจุก) ตรงตำแหน่งเดียว เช่น ที่มุมปาก หรือตามลำตัว แขน ขา มักจะไม่มีไข้ มักจะพุขึ้นตรงที่เดิมเป็นๆ หายๆ เรื้อรัง แต่ละครั้งตุ่มจะแตกและตกสะเก็ดภายใน 1-2 สัปดาห์ ในรายที่ร่างกายอ่อนแอ อาจมีตุ่มเริมน้ำขึ้นกระจายทั่วตัว คล้ายอีสุกอีใสได้
- งูสวัด (herpes zoster) เกิดจากเชื้อไวรัสวาริเซลลาชนิดเดียวกับอีสุกอีใส กล่าวคือ เมื่อมีการติดเชื้อไวรัสนี้ ครั้งแรกในชีวิตจะเกิดโรคอีสุกอีใสขึ้นมาก่อน หลังจากอาการทุเลาไปแล้ว เชื้อไวรัสจะหลบซ่อนอยู่ที่ปมประสาทใต้ผิวหนัง เมื่ออายุมากขึ้นภูมิคุ้มกันต่อเชื้อนี้อ่อนลง เชื้อไวรัสที่แฝงตัวอยู่ยาวนานก็จะแบ่งตัวจนมีปริมาณมากขึ้น จนทำให้เกิดโรคงูสวัด ซึ่งจะมีอาการขึ้นเป็นตุ่มเรียงตัวตามแนวเส้นประสาทที่เคยแฝงตัวอยู่ มีลักษณะเป็นแนวยาว ชาวบ้านจึงเรียกว่า งูตระหวัด หรืองูสวัด ก่อนขึ้นเป็นตุ่ม มักจะมีอาการปวดแสบปวดร้อนในบริเวณนั้นอยู่หลายวัน ส่วนใหญ่จะไม่มีไข้ โรคเหล่านี้หากเกิดจากไวรัส มักจะให้การรักษาตามอาการ ส่วนหิดจำเป็นต้องให้ยาทาฆ่าเชื้อหิด ส่วนแผลพุพองจำเป็นต้องรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ
- อ่าน 44,416 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้