Skip to main content
ข้อมูลสุขภาพ มูลนิธิหมอชาวบ้าน
menu

Login Pop

  • เข้าสู่ระบบ
    • ลืมรหัสผ่าน
search
  • เว็บหลักหมอชาวบ้าน
  • สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน
  • มูลนิธิหมอชาวบ้าน
  • หน้าแรก
  • ดูแลสุขภาพด้วยตัวเอง
  • บทความสุขภาพน่ารู้
  • สื่อสุขภาพ
  • คำถามสุขภาพ
  • ข่าวสาร
  • ติดต่อหมอชาวบ้าน
  • ข้อปฏิเสธความรับผิดชอบ
หน้าแรก » ดูแลสุขภาพด้วยตนเอง » ข้อมูลโรคและการรักษา » ไข้เลือดออก

ไข้เลือดออก

  • อาการ
  • สาเหตุ
  • การรักษา
  • การดูแลตนเอง
  • อื่นๆ

อาการของไข้เลือดออกแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่

ระยะที่ 1 ระยะไข้สูง

ผู้ป่วยจะมีไข้สูงซึ่งเกิดขึ้นฉับพลัน มีลักษณะไข้สูงลอยตลอดเวลา (กินยาลดไข้ก็มักจะไม่ลด) หน้าแดง ตาแดง ปวดศีรษะ กระหายน้ำ ผู้ป่วยจะซึม มักมีอาการเบื่ออาหารและอาเจียนร่วมด้วยเสมอ บางรายอาจบ่นปวดท้องในบริเวณ ใต้ลิ้นปี่หรือชายโครงขวา หรือปวดท้องทั่วไป อาจมีอาการท้องผูก หรือถ่ายเหลว ส่วนมากมักจะไม่ค่อยมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล หรือไอมาก (เช่น คนที่เป็นไข้หวัดหรือออกหัด) แต่บางรายอาจมีอาการเจ็บคอ คอแดงเล็กน้อย หรือไอบ้างเล็กน้อย

ในราววันที่ 3 ของไข้ อาจมีผื่นแดง ไม่คัน ขึ้นตามแขน ขา และลำตัว ซึ่งจะเป็นอยู่ 2-3 วัน บางรายอาจมีจุดเลือดออกมีลักษณะเป็นจุดแดงเล็กๆ (บางครั้งอาจมีจ้ำเขียวด้วยก็ได้) ขึ้นตามหน้า แขน ขา ซอกรักแร้ ในช่องปาก (เพดานปาก กระพุ้งแก้ม ลิ้นไก่) ในระยะนี้อาจคลำพบตับโต และมีอาการกดเจ็บเล็กน้อย การทดสอบทูร์นิเคต์* ส่วนใหญ่จะให้ผลบวกตั้งแต่วันที่ 2 ของไข้ และในวงกลมเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 นิ้ว มักจะพบมีจุดเลือดออกมากกว่า 20 จุดเสมอ ผู้ป่วยจะมีไข้สูงลอยอยู่ประมาณ 2-7 วัน ถ้าไม่มีอาการรุนแรง ส่วนมากไข้ก็จะลดลงในวันที่ 5-7 บางรายอาจมีไข้เกิน 7 วันได้ แต่ถ้าเป็นมาก ก็จะปรากฏอาการระยะที่ 2

ระยะที่ 2 ระยะช็อกและมีเลือดออก

มักจะพบในไข้เลือดออกที่เกิดจากเชื้อเด็งกีที่มีความรุนแรงขั้นที่ 3 และ 4 และไม่ค่อยพบผู้ป่วยที่เกิดจากเชื้อชิกุนคุนยา อาการจะเกิดขึ้นในช่วงระหว่างวันที่ 3-7 ของโรคซึ่งถือว่าเป็นช่วงวิกฤติของโรค อาการไข้จะเริ่มลดลง แต่ผู้ป่วยกลับมีอาการทรุดหนัก มีอาการปวดท้องและอาเจียนบ่อยขึ้น ซึมมากขึ้น กระสับกระส่าย ตัวเย็น มือเท้าเย็น เหงื่อออก ปัสสาวะออกน้อย ชีพจรเต้นเบาแต่เร็ว (อาจมากกว่า 120 ครั้งต่อนาที) และความดันต่ำ ซึ่งเป็นอาการของภาวะช็อก ภาวะนี้เกิดขึ้นเนื่องจากพลาสมาไหลซึมออกจากหลอดเลือด ทำให้ปริมาตรของเลือดลดลงมาก ถ้าเป็นรุนแรงผู้ป่วยอาจมีอาการไม่ค่อยรู้สึกตัว ตัวเย็นชืด ปากเขียว ชีพจรคลำไม่ได้ และความดันตกจนวัดไม่ได้ หากไม่ได้รับการรักษาได้ทันท่วงทีก็อาจตายได้ภายใน 1-2 วัน

นอกจากนี้ ผู้ป่วยยังอาจมีอาการเลือดออกตามผิวหนัง (มีจ้ำเขียวพรายย้ำขึ้น) เลือดกำเดาไหล อาเจียนเป็นเลือดสดๆ หรือเป็นสีกาแฟ ถ่ายอุจจาระเป็นเลือดสดๆ หรือเป็นสีน้ำมันดิบๆ ถ้าเลือดออกมักทำให้เกิดภาวะช็อกรุนแรงถึงตายได้อย่างรวดเร็ว ระยะที่ 2 นี้ จะกินเวลาประมาณ 24-72 ชั่วโมง ถ้าหากผู้ป่วยสามารถผ่านช่วงวิกฤติไปได้ ก็จะเข้าสู่ระยะที่ 3

ระยะที่ 3 ระยะฟื้นตัว

ในรายที่มีภาวะช็อกไม่รุนแรง เมื่อผ่านช่วงวิกฤติไปแล้ว ก็จะดีขึ้นอย่างรวดเร็ว หรือแม้แต่ผู้ป่วยที่มีภาวะช็อกรุนแรง เมื่อได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงที ก็จะฟื้นตัวสู่สภาพปกติ อาการที่ส่อว่าดีขึ้น ก็คือ ผู้ป่วยจะเริ่มอยากกินอาหารแล้วอาการต่างๆ จะกลับคืนสู่สภาพปกติ ระยะนี้อาจกินเวลา 7-10 วัน หลังผ่านระยะที่ 2

รวมเวลาตั้งแต่เริ่มเป็นจนแข็งแรงดีประมาณ 7-14 วัน, ในรายที่มีอาการเพียงเล็กน้อย อาจเป็นอยู่ 3-4 วัน ก็หายได้เอง (ส่วนอาการไข้ อาจเป็นอยู่ 2-7 วัน บางรายอาจนาน 10 วันก็ได้)

การดำเนินโรค

ประมาณร้อยละ 70-80 ของคนที่เป็นไข้เลือดออกจะมีอาการเพียงเล็กน้อย และหายได้เองภายในประมาณ 7-14 วัน เพียงแต่ให้การรักษาตามอาการและให้ดื่มน้ำมากๆ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำและช็อกก็เพียงพอ ไม่ต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาล ไม่ต้องฉีดยาหรือให้น้ำเกลือทางหลอดเลือด ประมาณร้อยละ 20-30 อาจมีภาวะช็อกหรือเลือดออก ซึ่งก็มีทางรักษาได้ด้วยการให้น้ำเกลือหรือให้เลือด มีเพียงส่วนน้อยที่อาจเป็นรุนแรงถึงตายได้ โดยเฉพาะถ้าพบในเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี อาจมีอัตราตายสูงกว่ากลุ่มอายุอื่นๆ

ภาวะแทรกซ้อน

นอกจากภาวะเลือดออกรุนแรง (ถ้ามีเลือดออกในกระเพาะอาหารจำนวนมากหรือมีเลือดออกในสมองมักมีอัตราตาย สูง) และภาวะช็อกแล้ว ยังอาจเกิดภาวะตับวาย (มีอาการดีซ่าน) ซึ่งเป็นภาวะร้ายแรงถึงตายได้ มักพบในผู้ป่วยที่มีภาวะช็อกอยู่นาน นอกจากนี้อาจเป็นปอดอักเสบ (อาจมีภาวะมีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอดร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้) หลอดลมอักเสบ หรือกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบแทรกซ้อนได้ แต่ก็มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก นอกจากนี้ถ้าให้น้ำเกลือมากไป อาจเกิดภาวะปอดบวมน้ำ (pulmonary edema) เป็นอันตรายได้ ดังนั้น เวลาให้น้ำเกลือทางหลอดเลือด ควรตรวจดูอาการอย่างใกล้ชิด

การแยกโรค

ไข้เลือดออกจะมีอาการไข้สูง (ตัวร้อน) เป็นสำคัญ ควรแยกแยะออกจากไข้อื่นๆ ได้แก่

  1. ไข้หวัด มีอาการตัวร้อนเป็นพักๆ มีน้ำมูกไหล ไอ เจ็บคอเล็กน้อย ไข้มักจะหายได้เองภายใน 2-4 วัน
  2. ไข้หวัดใหญ่ มีอาการตัวร้อนจัดเป็นพักๆ ปวดเมื่อยตามตัวมาก เบื่ออาหาร เจ็บคอเล็กน้อย ไอ และมีน้ำมูกเล็กน้อยร่วมด้วย อาการไข้มักจะหายได้เองภายใน 3-5 วัน
  3. หัด มีอาการตัวร้อนตลอดเวลา หน้าแดง ตาแดง คล้ายไข้เลือดออก แต่แตกต่างกันตรงที่หัดจะมีขี้มูกเกรอะกรัง ไอ และหลังมีไข้ 3-4 วันจะมีผื่นแดงขึ้นตามตัว โรคนี้มักหายได้เองภายใน 7-10 วัน
  4. ปอดอักเสบ (ปอดบวม) มีไข้สูง ไอมีเสลด เจ็บหน้าอก และหายใจหอบ หากสงสัยต้องไปพบแพทย์ทันที มักต้องทำการตรวจเสมหะ เอกซเรย์ปอด
  5. ไข้รากสาดน้อย (ไทฟอยด์) มีไข้สูงตลอดเวลา จุกแน่นท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูกหรือไม่ก็ถ่ายเหลว ไม่มีน้ำมูก อาการตัวร้อนมักจะเป็นนานเป็นสัปดาห์ขึ้นไป หากสงสัยแพทย์จะทำการตรวจเลือดพิสูจน์
  6. เล็ปโตสไปโรซิส (ไข้ฉี่หนู) จะมีไข้สูงตลอดเวลา หนาวสั่น ปวดน่อง ตาแดง ดีซ่าน หากสงสัยควรไปพบแพทย์โดยเร็ว
  • อ่าน 126,802 ครั้ง
  • พิมพ์หน้านี้พิมพ์หน้านี้

ข้อมูลสื่อ

290-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 290
มิถุนายน 2003
สารานุกรมทันโรค
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ
Skip to Top

คุณไม่สบายตรงไหน

  • ศีรษะหู ตา คอ จมูก ปาก
  • ลำตัวท้อง แขน มือ อวัยวะภายใน
  • ลำตัวส่วนล่างอวัยวะเพศ ขา เท้า
  • อาการทั่วไป ไข้หวัด ผิวหนัง ฯลฯ

ข้อมูลสุขภาพ

  • โรค
  • ยา
  • สมุนไพร
  • ปฐมพยาบาล
Doctor Me

  • สนับสนุนสื่อสุขภาพออนไลน์หมอชาวบ้าน
  • สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน
  • คำแนะนำสำหรับประชาชน เรื่อง โรคจากเชื้อแบคทีเรีย อีโคไลชนิดรุนแรง
  • ผ่าตัดฟรีสำหรับเด็ก ที่เป็นโรคหัวใจ
  • สมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย (สพท.)
Appstore
GooglePlay

แผนผังเว็บไซต์

  • หน้าแรก
  • ดูแลสุขภาพด้วยตัวเอง
  • บทความสุขภาพน่ารู้
  • สื่อสุขภาพ
  • คำถามสุขภาพ
  • ข่าวสาร
  • ติดต่อหมอชาวบ้าน
  • ข้อปฏิเสธความรับผิดชอบ

รวมลิงค์เครือข่าย

  • มูลนิธิหมอชาวบ้าน
  • สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน
  • สถาบันโยคะวิชาการ

สื่อสุขภาพ

  • คลิปสุขภาพ
  • หมอชาวบ้านรายเดือน
  • คลินิกรายเดือน
  • จดหมายข่าวย้อนหลัง
  • feed หมอชาวบ้าน
  • facebook หมอชาวบ้าน
  • youtube หมอชาวบ้าน
  • feed หมอชาวบ้าน
  • facebook หมอชาวบ้าน
  • twitter หมอชาวบ้าน
  • youtube หมอชาวบ้าน
สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)< และสถาบัน ChangeFusion< พัฒนาระบบโดย Opendream< สัญญาอนุญาต cc by-nc-sa <