มะเร็งต่อมลูกหมาก
แพทย์จะเลือกวิธีการรักษาตามความรุนแรง (มะเร็งลุกลามเร็วหรือช้า) ระยะของโรคที่เป็น อายุของผู้ป่วย รวมทั้งคำนึงถึงผลดีผลเสียของวิธีการรักษา
- ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งระยะแรกเริ่ม (ระยะที่ 1) ไม่มีอาการแสดง (ตรวจพบโดยบังเอิญ) แพทย์จะไม่ให้การรักษาใดๆ แต่จะเฝ้าติดตามดูการเปลี่ยนแปลงโดยการตรวจระดับสารพีเอสเอและการใช้นิ้ว ตรวจทางทวารหนักเป็นระยะๆ ถ้าจำเป็นอาจทำการตรวจชิ้นเนื้อ ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักมีชีวิตที่เป็นปกติสุขอยู่ได้เป็นเวลานาน เนื่องจากมะเร็งมีการลุกลามช้า ไม่คุ้มกับความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนจากวิธีบำบัดรักษา เช่น กลั้นปัสสาวะไม่ได้ ภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ เป็นต้น แต่ถ้าติดตามแล้วพบว่ามะเร็งมีการลุกลามมากขึ้น แพทย์อาจพิจารณาให้การรักษาด้วยการผ่าตัด หรือรังสีบำบัด
- ผู้ที่มีสุขภาพทรุดโทรม หรือมีโรคประจำตัวร้ายแรง (เช่น โรคหัวใจ) หรือคาดว่าอยู่นานไม่ถึง 10 ปี หรือมีอายุมากเป็นอุปสรรคต่อการผ่าตัดหรือฉายรังสี แพทย์ก็อาจไม่ให้การรักษาใดๆ และเฝ้าติดตามดูการเปลี่ยนแปลงของโรค ในทำนองเดียวกัน
- ผู้ป่วยที่มะเร็งยังจำกัดอยู่เฉพาะที่ต่อมลูกหมาก และมีอายุต่ำกว่า 65 ปี หรือคาดว่าสามารถอยู่ได้นานเกิน 10 ปี มักจะทำการผ่าตัดต่อมลูกหมาก ซึ่งมีอยู่หลายวิธี รวมทั้งวิธีใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด การผ่าตัดอาจมีผลข้างเคียง เช่น กลั้นปัสสาวะไม่ได้ นกเขาไม่ขัน (องคชาตไม่แข็งตัว)
- ผู้ป่วยที่มะเร็งยังจำกัดอยู่เฉพาะที่ต่อมลูกหมาก แต่มีอายุมาก หรือสุขภาพทรุดโทรม หรือปฏิเสธการผ่าตัด หรือผู้ป่วยที่มะเร็งเริ่มลุกลามออกไปที่บริเวณรอบๆ ต่อมลูกหมาก แพทย์มักจะให้การรักษาด้วยรังสีบำบัด ซึ่งมีทั้งวิธีฉายรังสีจากภายนอกเข้าไปที่ต่อมลูกหมาก หรือการฝังเม็ดรังสี (radioactive seeds) ไว้ในเนื้อมะเร็ง รังสีบำบัดอาจมีผลข้างเคียง เช่น อาการเจ็บปวดขณะถ่ายปัสสาวะหรืออุจจาระ ปัสสาวะบ่อยหรือต้องรีบเข้าห้องน้ำทันทีที่มีความรู้สึกปวดปัสสาวะ ถ่ายอุจจาระเหลว นกเขาไม่ขัน
- ผู้ป่วยที่มะเร็งแพร่กระจายไปทั่วแล้วหรือค่าพีเอสเอเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ หรือผู้ป่วยอายุน้อยที่เป็นมะเร็งชนิดร้ายแรง แพทย์มักจะให้ฮอร์โมนบำบัด โดยการให้ยาต้านแอนโดรเจนชนิดเม็ด (เช่น bicaltumide, nilutamide, flutamide) หรือฉีดยายับยั้งฮอร์โมน luteinizing hormone-releasing hormone (LH-RH) ทำให้อัณฑะไม่สามารถสร้างฮอร์โมนเทสโทสเทอโรน (เช่น leuprorelin, goserelin)
บางรายแพทย์อาจทำการผ่าตัดอัณฑะออกทั้ง 2 ข้าง เพื่อไม่ให้มีการสร้างฮอร์โมนเพศชาย (เทสโทสเทอโรน)
การทำฮอร์โมนบำบัดลดปริมาณเทสโทสเทอโรนจะช่วยให้ก้อนมะเร็งฝ่อเล็กลง
นอกจากใช้กับมะเร็งที่แพร่กระจายแล้ว บางครั้งแพทย์ก็อาจนำไปใช้ในผู้ป่วยหลังผ่าตัด หรือในผู้ป่วยก่อนหรือหลังให้รังสีบำบัด เพื่อเพิ่มประสิทธิผลในการรักษา
ฮอร์โมนบำบัดอาจมีผลข้างเคียง เช่น นกเขาไม่ขัน น้ำหนักขึ้น ร้อนวูบวาบตามตัว สูญเสียมวลกล้ามเนื้อและกระดูก และหากใช้นานๆ อาจทำให้เกิดโรคหัวใจได้
หลังการรักษาไม่ว่าด้วยวิธีใด แพทย์จะติดตามตรวจระดับสารพีเอสเอในเลือดเป็นระยะ ถ้าอยู่ในเกณฑ์ปกติ แสดงว่าโรคสงบหรือทุเลา แต่ถ้ามีค่าสูงขึ้นก็แสดงว่าโรคอาจกำเริบขึ้นอีก
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยโรคนี้โดยการใช้นิ้วตรวจทางทวารหนัก คลำพบว่าต่อมลูกหมากเป็นก้อนแข็งหรือขรุขระ ตรวจพบสารพีเอสเอ (prostate specific antigen-PSA) ในเลือดสูง และทำการตรวจอัลตราซาวนด์ต่อมลูกหมากผ่านทางทวารหนัก (transrectal ultrasound-TRUS) และตัดชิ้นเนื้อพิสูจน์
ในรายที่สงสัยว่ามะเร็งมีการแพร่กระจาย แพทย์อาจทำการตรวจสแกนกระดูก (bone scan) ถ่ายภาพด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า
แพทย์จะกำหนดระยะของโรคมะเร็งต่อมลูกหมากไว้ ดังนี้
- ระยะที่ 1. เป็นระยะเริ่มแรกสุด ที่เริ่มมีการก่อตัวของเซลล์มะเร็ง ซึ่งแพทย์ยังไม่สามารถคลำพบด้วยนิ้วมือ
- ระยะที่ 2. ก้อนมะเร็งมีขนาดโตขึ้นจนคลำพบได้ด้วยนิ้วมือ แต่ยังจำกัดขอบเขตอยู่ภายในต่อมลูกหมาก
- ระยะที่ 3. มะเร็งลุกลามออกนอกต่อมลูกหมากไปยังอวัยวะที่อยู่ข้างเคียง
- ระยะที่ 4. มะเร็งแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง หรือผ่านกระแสเลือดไปยังกระดูก ประสาทไขสันหลัง สมอง หรืออวัยวะอื่นๆ
- อ่าน 11,154 ครั้ง
พิมพ์หน้านี้