มะเร็งต่อมลูกหมาก
เมื่อสังเกตพบว่ามีอาการถ่ายปัสสาวะผิดปกติ เช่น ถ่ายลำบาก เบ่งนาน ปัสสาวะไม่พุ่ง ปัสสาวะลำเล็กหรือลำเบี้ยว กลางคืนต้องลุกขึ้นถ่ายปัสสาวะบ่อย หรือมีเลือดปนในปัสสาวะหรือน้ำอสุจิ ควรจะรีบไปปรึกษาแพทย์
ถ้าพบว่าเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก ควรติดตามรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ (มักจะเป็นศัลยแพทย์ทางเดินปัสสาวะ หรือหมอยูโร หรือ urologist และแพทย์โรคมะเร็ง) อย่างต่อเนื่อง
เนื่องจากมะเร็งต่อมลูกหมากมักจะมีการลุกลามช้า และการบำบัดรักษาสามารถควบคุมโรคได้ค่อนข้างดี ทำให้มีชีวิตได้ยืนยาว ผู้ป่วยจึงควรดำเนินกิจวัตรประจำวันได้เป็นปกติ และควรดูแลสุขภาพของตนเองดังนี้
- ออกกำลังกาย อย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 วัน
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเน้นผัก ผลไม้ให้มากๆ กินโปรตีนจากปลา ถั่วเหลือง และเต้าหู้ ลดเนื้อแดง ไขมัน และน้ำตาล
- ผ่อนคลายความเครียดด้วยการทำงานอดิเรกที่ชอบ (เช่น ปลูกต้นไม้ อ่านหนังสือ วาดภาพ เล่นดนตรี ร้องเพลง เต้นรำ) เจริญสมาธิและสติ พูดคุยปรับทุกข์กับญาติมิตรสนิท เข้าสมาคมสังสรรค์กับผู้คนต่างๆ รวมทั้งทำงานจิตอาสา หรือสาธารณกุศล
- หากมีโอกาสควรเข้าร่วมกิจกรรมกับกลุ่มมิตรภาพบำบัดโรคมะเร็ง
การป้องกัน
ถึงแม้มะเร็งชนิดนี้ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด และหาทางป้องกันได้ยาก แต่การปฏิบัติตัวต่อไปนี้อาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรค และชะลอการลุกลามของโรค
- ลดอาหารมัน
- กินผัก ผลไม้ เมล็ดธัญพืช ถั่วเหลือง และเต้าหู้ให้มากๆ
- กินมะเขือเทศ (ที่ปรุงสุก) แตงโม มะละกอสุก และฝรั่งไส้ชมพูให้มากๆ ซึ่งมีสารไลโคพีน (lycopene) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระชนิดหนึ่ง
- ออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 วัน
- ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
- การตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง
ปัจจุบันยังไม่แนะนำให้ทำการตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากในคนทั่วไปที่ไม่มีอาการ เช่น การตรวจสารพีเอสเอในเลือด การใช้นิ้วตรวจทางทวารหนัก เพราะยังไม่มีหลักฐานสนับสนุนว่ามีประโยชน์ เนื่องจากผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากที่ไม่มีอาการแสดงมักเป็นมะเร็งชนิดเจริญ ช้า ไม่แพร่กระจายออกนอกต่อมลูกหมากและสามารถมีชีวิตที่เป็นปกติเป็นเวลายาวนาน
นอกจาก นี้ การตรวจคัดกรองโรคด้วยการตรวจสารพีเอสเอในเลือดยังขาดความแม่นยำ มีโอกาสพบผลบวกลวง (false positive หมายถึงตรวจพบระดับของพีเอสขึ้นสูงซึ่งเกิดจากสาเหตุที่ไม่ร้ายแรง ไม่ใช่เกิดจากมะเร็ง) ค่อนข้างมาก ซึ่งอาจนำไปสู่การตรวจวินิจฉัยและการรักษาที่ไม่จำเป็นและเสี่ยงต่อภาวะ แทรกซ้อนต่างๆ
ส่วนผู้ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น มีประวัติโรคนี้ในครอบครัว ควรปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาถึงผลดีผลเสียของการตรวจคัดกรองมะเร็งชนิดนี้
- อ่าน 11,163 ครั้ง
พิมพ์หน้านี้