มะเร็งเม็ดเลือดขาว
มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน (ALL และ AML) มักมีอาการเกิดขึ้นฉับพลันด้วยอาการไข้ ซีด หรือมีจ้ำเขียวพรายย้ำขึ้นตามตัวหรือมีเลือดออกตามที่ต่างๆ เช่น เลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน ประจำเดือนออกมากผิดปกติ ถ่ายเป็นเลือด
บางรายอาจมีอาการไข้ ปวดเมื่อย คล้ายไข้หวัดใหญ่ อ่อนเพลีย น้ำหนักลด อาจเป็นไข้เรื้อรังเป็นแรมเดือน หรืออาการหนาวสั่น มีแผลเปื่อยในปาก ทอนซิลอักเสบ หรือปอดอักเสบเนื่องจากภูมิคุ้มกันต่ำ
อาจมาพบแพทย์ด้วยอาการมีจ้ำเขียวตามตัว หรือมีเลือดกำเดาไหลซึ่งหยุดยาก เนื่องจากเกล็ดเลือดต่ำ
ในระยะต่อมามักมีอาการซีด อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย อาจมีอาการทางสมอง (เช่น ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ อาเจียน ชัก ตามัว) อาการแน่นท้อง ปวดท้อง เนื่องจากตับโต ม้ามโต
บางรายอาจมีอาการเฉพาะที่ เช่น ปวดกระดูกและข้อ ตาโปน เหงือกบวม เป็นต้น
มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรัง (CLL และ CML) ในระยะแรก ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ ซึ่งอาจเป็นอยู่นานเป็นแรมปีและมักจะตรวจเช็กเลือดพบว่าเป็นโรคนี้โดยบังเอิญ
ในรายที่มีอาการ (ซึ่งมักเป็นโรคในระยะหลังๆ แล้ว) จะมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด มีไข้ เหงื่อออกตอนกลางคืน รู้สึกแน่นท้องเนื่องจากม้ามโต
ต่อมาจะมีอาการซีด มีจ้ำเขียวตามตัวหรือเลือดออกง่าย ปวดกระดูกและข้อแบบเดียวกับผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน
ในระยะท้าย มักมีโรคติดเชื้อง่าย อาจเกิดจากไวรัส (ที่พบบ่อยคืองูสวัด) แบคทีเรีย (เช่น สูโดโมแนส เคลบซิลลา) หรือเชื้อรา (เช่น แคนดิดา แอสเปอร์จิลลัส) ก็ได้
การดำเนินโรค
หากไม่ได้รับการรักษา ก็มักเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง ทำให้เสียชีวิตได้
ส่วนผู้ป่วยที่ได้รับการรักษา ผลการรักษาขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็ง ระยะของโรค และสภาพของผู้ป่วย ดังนี้
- สำหรับผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลัน ชนิดเอแอลแอล (ALL) หากไม่ได้รับการรักษามักเสียชีวิตภายใน 4 เดือน การให้เคมีบำบัดสามารถทำลายเซลล์มะเร็งจนโรคสงบได้เป็นส่วนใหญ่ การรักษาอย่างต่อเนื่องช่วยให้ร้อยละ 80 ของเด็กที่ป่วยและร้อยละ 30-40 ของผู้ใหญ่ที่ป่วยหายจากโรคได้ ในรายที่มีการกำเริบของโรค แพทย์จำเป็นต้องให้เคมีบำบัด รังสีบำบัด และอาจต้องทำการปลูกถ่ายไขกระดูกหรือเซลล์ต้นกำเนิด
- สำหรับผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลัน ชนิดเอเอ็มแอล (AML) หากไม่ได้รับการรักษามักเสียชีวิตภายในไม่กี่สัปดาห์ถึงไม่กี่เดือน การรักษาสามารถทำให้โรคสงบถึงร้อยละ 70-80 ของผู้ป่วยที่มีอายุต่ำกว่า 60 ปี ส่วนผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี หรือเป็นโรคนี้หลังจากได้รับเคมีบำบัดหรือรังสีบำบัดในการรักษามะเร็งอื่นๆ มาก่อน ผลการรักษามักจะไม่สู้ดี
- สำหรับผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรัง ชนิดซีแอลแอล (CLL) ถ้าตรวจพบและได้รับการรักษาในระยะแรกเริ่มของโรคก็มักจะมีชีวิตอยู่ได้นานเกิน 10-20 ปี โดยผู้ป่วยสามารถทำงานและเรียนหนังสือได้ตามปกติ แต่ถ้าพบในระยะท้ายก็อาจมีชีวิตอยู่ได้นาน 3-4 ปี
- สำหรับผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรัง ชนิดซีเอ็มแอล (CML) ร้อยละ 50 มีชีวิตอยู่ได้นานเกิน 4-5 ปี ประมาณร้อยละ 20 เสียชีวิตภายใน 2 ปี ส่วนผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายไขกระดูกหรือเซลล์ต้นกำเนิด สามารถหายจากโรคได้ถึงร้อยละ 60
ภาวะแทรกซ้อน
ภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อย ได้แก่ การตกเลือด และการติดเชื้อรุนแรง ที่เป็นอันตรายร้ายแรงถึงเสียชีวิตได้ก็คือ เลือดออกในสมอง และภาวะโลหิตเป็นพิษ
ในรายที่เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลัน ชนิดเอเอ็มแอล อาจเกิดภาวะเลือดจับเป็นลิ่มทั่วร่างกาย (disseminated intravascular coagulation หรือ DIC) เป็นอันตรายร้ายแรงได้
ในรายที่เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลัน ชนิดเอแอลแอล อาจมีต่อมไทมัสโตกดท่อลม (ทำให้หายใจลำบาก) หรือท่อเลือดดำส่วนบน (superior vena cava) ทำให้คอและแขนบวม
ในรายที่เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังชนิด ซีแอลแอล อาจกลายเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดร้ายแรง หรือมีโรคมะเร็งปอด หรือผิวหนังเกิดตามมาได้
การแยกโรค
- อาการเป็นไข้ ซีด และจ้ำเขียวตามตัว อาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆ เช่น โลหิตจางจากภาวะไขกระดูกฝ่อ (aplastic anemia) ภาวะโลหิตเป็นพิษ (septicemia) ไข้เลือดออก เป็นต้น
- อาการมีจุดแดง จ้ำเขียว หรือเลือดออกตามที่ต่างๆ (เช่น เลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน ถ่ายเป็นเลือด) อาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆ เช่น ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ โรคฮีโมฟิเลีย (โรคเลือดออกง่ายชนิดหนึ่งที่สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรม) การกินยาต้านเกล็ดเลือด (เช่น แอสไพริน ซึ่งนิยมใช้ในผู้ป่วยเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ อัมพาตครึ่งซีก)
- อาการต่อมน้ำเหลืองโต (มีก้อนบวมที่บริเวณคอ รักแร้ ขาหนีบ) ซึ่งอาจตรวจพบในผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลัน อาจเกิดจากมะเร็งชนิดอื่นๆ (เช่น มะเร็งช่องคอ มะเร็งต่อมน้ำเหลือง)
- อ่าน 22,897 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้