มะเร็งเม็ดเลือดขาว
นอกจากให้การรักษาตามอาการและแก้ไขภาวะแทรกซ้อน (เช่น ให้เลือด รักษาโรคติดเชื้อด้วยยาปฏิชีวนะหรือยาต้านจุลชีพ) แล้ว แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางโรคเลือด (โลหิตวิทยา) และโรคมะเร็ง จะให้การรักษาด้วยเคมีบำบัด (ยารักษามะเร็ง) ซึ่งมีอยู่หลายกลุ่ม หลายชนิด ซึ่งแพทย์จะเลือกใช้ตามความเหมาะสมกับชนิดและความรุนแรงของโรค โดยมากจะใช้ร่วมกันอย่างน้อย 2 กลุ่มขึ้นไป
นอกจากนี้ยังมีการใช้ยาอื่นร่วมกับเคมีบำบัด เช่น สารต้านภูมิต้านทาน monoclonal antibody ยากระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดขาวและเม็ดเลือดแดง ยาสตีรอยด์ (เพร็ดนิโซโลน) สารอินเตอร์เฟอรอน (interferon) เป็นต้น
บางรายที่มีก้อนบวมมาก (เช่น ต่อมน้ำเหลืองโต ตับโต ม้ามโต ก้อนนิ่วอัณฑะ) ซึ่งเกิดจากเซลล์มะเร็งเข้าไปสะสม อาจจำเป็นต้องทำการฉายรังสี (รังสีบำบัด) ร่วมด้วย
บางรายแพทย์อาจทำการปลูกถ่ายไขกระดูกหรือเซลล์ต้นกำเนิด (stem cell) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายที่มีอาการกำเริบ หลังจากโรคสงบไประยะหนึ่งหลังให้เคมีบำบัด
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นจากอาการแสดง ได้แก่ อาการไข้เรื้อรัง (นานเกิน 1 สัปดาห์) ซีด จ้ำเขียวตามตัว เลือดออกตามที่ต่างๆ ต่อมน้ำเหลืองโตหลายแห่ง ตับโต ม้ามโต ซึ่งจะทำการตรวจยืนยันการวินิจฉัยโดยการตรวจเลือด พบมีเม็ดเลือดขาวปริมาณมากกว่าปกติ (ปกติจะมี 5,000 - 10,000 ตัว/ลบ.มม. โรคนี้จะพบเม็ดเลือดขาวหลายหมื่นถึงหลายแสนตัวต่อเลือด 1 ลบ.มม. และพบเป็นเซลล์ตัวอ่อนจำนวนมากกว่าปกติ) และอาจพบจำนวนเม็ดเลือดแดง และเกล็ดเลือดต่ำกว่าปกติ
การตรวจไขกระดูกจะพบเซลล์ตัวอ่อนจำนวนมาก
- อ่าน 23,012 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้