ไข้หวัดใหญ่
มีอาการคล้ายไข้หวัด (ธรรมดา) คือมีไข้ เจ็บคอ คัดจมูก น้ำมูกไหลใสๆ ไอแห้งๆ แต่จะมีอาการหนักกว่าไข้หวัด (จึงเรียกว่าไข้หวัดใหญ่) คือไข้สูง ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อมาก เบื่ออาหาร มักจะต้องนอนพัก
บางรายอาจมีอาการจุกแน่นท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดินร่วมด้วย
อาการไข้จะเป็นอยู่นาน 1-7 วัน (ส่วนใหญ่ 3-5 วัน)
ส่วนอาการไอและอ่อนเพลีย อาจเป็นอยู่นาน 1-4 สัปดาห์ แม้ว่าอาการอื่นๆ จะทุเลาแล้วก็ตาม
ในรายที่เป็นรุนแรง อาจแสดงอาการของอาการแทรกซ้อน เช่น มีน้ำมูกหรือเสมหะข้นเหลืองหรือเขียว ปวดหู หูอื้อ หายใจหอบเหนื่อย เป็นต้น
การดำเนินโรค
ผู้ป่วยส่วนใหญ่ โดยเฉพาะคนหนุ่มสาวและผู้ที่ไม่มีโรคประจำตัว มักจะหายได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์ โดยอาการไข้มักจะเป็นอยู่นาน 1-7 วัน ส่วนอาการไอและอ่อนเพลีย อาจเป็นอยู่นาน 1-4 สัปดาห์
ในรายที่มีอาการของหลอดลมอักเสบ หลังจากให้การรักษาแล้ว บางรายอาจไออยู่นาน 7-8 สัปดาห์ เนื่องจากเยื่อบุหลอดลมถูกทำลาย ทำให้ไวต่อสิ่งระคายเคือง (เช่น ฝุ่น ควัน) และจะค่อยๆ ทุเลาไปได้เองในที่สุด
ในรายที่มีภาวะแทรกซ้อนไม่ร้ายแรง เช่น ไซนัสอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ หลอดลมอักเสบ เมื่อได้รับการรักษาที่ถูกต้องก็มักจะหายได้
ส่วนผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง และเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง (เช่น ปอดอักเสบ สมองอักเสบ โรคหัวใจกำเริบ) ถ้าหากได้รับการรักษาได้ทันท่วงที ก็อาจช่วยให้ปลอดภัยได้ แต่ถ้าสภาพร่างกายผู้ป่วยอ่อนแอ ได้รับการรักษาล่าช้าไป หรือมีภาวะโรคที่รุนแรงก็อาจเสียชีวิตได้
โดยเฉลี่ยอัตราป่วยตายของไข้หวัดใหญ่ ประมาณร้อยละ 0.05-0.01 (กล่าวคือจากผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ 10,000 ราย มีผู้เสียชีวิต 5-10 ราย)
ภาวะแทรกซ้อน
ที่พบบ่อย ได้แก่ ไซนัสอักเสบ (ปวดบริเวณโพรงไซนัส ที่โหนกแก้มหรือหัวคิ้ว น้ำมูกข้นเป็นหนอง) หลอดลมอักเสบ (ไอมีเสมหะข้นเหลืองหรือเขียว) หูชั้นกลางอักเสบ (ปวดหู หูอื้อ)
ภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรง ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต ได้แก่ ปอดอักเสบ (มีอาการหายใจหอบเร็ว หายใจลำบาก เจ็บหน้าอกมาก) โรคหัวใจกำเริบ (ในผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นโรคหัวใจอยู่ก่อน) สมองอักเสบ (ไม่ค่อยรู้สึกตัว หมดสติ ชักเกร็ง)
ผู้ที่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง ได้แก่
- เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ
- ผู้สูงอายุ (อายุมากกว่า 65 ปี)
- สตรีที่ตั้งครรภ์
- ผู้ที่สูบบุหรี่จัด
- ผู้ที่มีโรคเรื้อรังประจำตัว เช่น เบาหวาน ผู้ติดเชื้อเอชไอวี โรคหืด ถุงลมปอดโป่งพอง โรคหัวใจ โรคไตวายเรื้อรัง มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ เป็นต้น
การแยกโรค
อาการไข้ อ่อนเพลีย เจ็บคอ เป็นหวัด อาจเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น
- ไข้หวัด ผู้ป่วยจะเป็นไข้ เจ็บคอเล็กน้อย มีน้ำมูกใส ไอ แต่จะไม่มีอาการปวดเมื่อยมาก ยังกินอาหารได้ และทำงานหรือเรียนหนังสือได้พอสมควร
- หลอดลมอักเสบ ผู้ป่วยจะมีไข้ ไอมีเสมหะ แต่มักไม่หอบเหนื่อยหรือหายใจลำบาก
- ปอดอักเสบ ผู้ป่วยจะมีไข้สูง หนาวสั่น ไอมีเสมหะข้นเหลืองหรือเขียว เจ็บหน้าอกมาก หายใจหอบเร็ว หรือหายใจลำบาก
- ไข้เลือดออก ผู้ป่วยจะมีไข้สูงตลอดเวลา หน้าแดง ตาแดง เบื่ออาหาร นอนซม อาจมีอาการปวดท้อง อาเจียน มักไม่มีน้ำมูก เจ็บคอหรือไอ ต่อมาอาจพบจุดแดงจ้ำเขียวตามตัว หรือมีภาวะช็อก (ตัวเย็น เหงื่อออก กระสับกระส่าย) ตามมา มักพบมีการระบาด
- ไข้ชิคุนกุนยา ผู้ป่วยจะมีไข้สูง 3 วัน ปวดข้อ ผื่นแดงตามตัว มักจะไม่มีน้ำมูก เจ็บคอหรือไอ มักพบมีการระบาด
- มาลาเรีย ผู้ป่วยจะมีไข้สูง หนาวสั่น วันละ 1 ครั้ง หรือวันเว้นวัน มีประวัติอยู่ในเขตป่าเขา หรือเดินทางกลับจากเขตป่าเขา มักจะไม่มีน้ำมูก เจ็บคอหรือไอ หากไม่ได้รับการรักษา มักมีไข้เป็นสัปดาห์ๆ หรือเป็นแรมเดือน
- โรคติดเชื้ออื่นๆ เช่น ไทฟอยด์ สครับไทฟัส ไข้ฉี่หนู (เล็ปโตสไปโรซิส) ผู้ป่วยจะมีไข้สูง ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร ไม่มีน้ำมูก มักมีไข้นานเกิน 1 สัปดาห์
- อ่าน 115,101 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้