ไข้หวัดใหญ่
เมื่อมีอาการไข้ น้ำมูกไหล (เป็นหวัด) ไอ ควรดูแลเบื้องต้น ดังนี้
- นอนพัก เช็ดตัว ไม่อาบน้ำเย็น ดื่มน้ำมากๆ กินอาหารที่ย่อยง่าย (เช่น น้ำหวาน นม น้ำเต้าหู้ น้ำผลไม้ ข้าวต้ม โจ้ก)
-
กินยาบรรเทาอาการ เช่น
- พาราเซตามอล บรรเทาไข้ ปวดศีรษะ ทุก 4-6 ชั่วโมง ควรหลีกเลี่ยงยาแอสไพริน (โดยเฉพาะในผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 19 ปี) เพราะอาจทำให้เสี่ยงต่อการเกิด โรคแทรกซ้อนชนิดหนึ่ง ที่มีชื่อว่ากลุ่มอาการเรย์ (Reye's syndrome) มีอาการทางสมองและตับ เป็นอันตรายได้
- ถ้ามีน้ำมูกมากให้ยาลดน้ำมูก เช่น คลอร์เฟนิรามีน
- ถ้าไอมาก ให้ยาแก้ไอ หรือจิบน้ำผึ้งผสมมะนาว
- ลดการแพร่เชื้อให้ผู้อื่น โดยการหมั่นล้างมือ (ด้วยน้ำกับสบู่) โดยเฉพาะหลังเช็ดน้ำมูกหรือใช้มือปิดปากเวลาไอ เวลาไอควรใช้ต้นแขนหรือทิชชูปิดแทนมือเปล่า หากมีคนอื่นอยู่ใกล้หรือเข้าไปในที่ที่มีผู้คนจำนวนมากควรสวมหน้ากากอนามัย อย่าไอจามรดหน้าผู้อื่น และควรหยุดพักผ่อนที่บ้านไม่ออกไปในย่านชุมนุมชน
-
ควรไปพบแพทย์ทันที ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
- หมดสติ ไม่ค่อยรู้สึกตัว หรือชักเกร็ง
- ปวดศีรษะมาก อาเจียนมาก หรือปวดท้องรุนแรง
- มีภาวะช็อก (เหงื่อออก ตัวเย็น กระสับกระส่าย)
- หายใจหอบเร็ว หายใจลำบาก หรือปากเขียว ตัวเขียว
-
ควรไปพบแพทย์โดยเร็ว (ภายใน 1-2 วัน) ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
- มีไข้ทุกวัน นานเกิน 1 สัปดาห์
- มีอาการหนาวสั่นมาก (ต้องห่มผ้าหนาๆ) หรือสงสัยเป็นมาลาเรีย หรือไข้หวัดนก
- มีอาการตาเหลือง ตัวเหลือง ซีด จุดแดงจ้ำเขียวตามตัว หรือเลือดออก
- อาเจียน กินอะไรไม่ได้
- ดูแลตนเอง 2-3 วันแล้วยังไม่ทุเลา
- มีความวิตกกังวลหรือไม่มั่นใจในการดูแลตนเอง
- ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน (ดูหัวข้อ "ภาวะแทรกซ้อน")
การป้องกัน
- ในช่วงที่มีการระบาดของไข้หวัดใหญ่ ควรหลีกเลี่ยงการเข้าไปในที่ที่มีผู้คนแออัด (เช่น สถานบันเทิง งานมหรสพ ห้างสรรพสินค้า) ถ้าเลี่ยงไม่ได้ ควรสวมหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือด้วยน้ำกับสบู่ หรือเช็ดมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ และอย่าใช้นิ้วมือขยี้ตาหรือแคะไชจมูก
- ถ้ามีผู้ใกล้ชิดป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ ควรอยู่ห่างจากผู้ป่วยอย่างน้อย 1 เมตร ถ้าจำเป็นต้องดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ควรสวมหน้ากากอนามัย และหมั่นล้างมือ ด้วยน้ำกับสบู่หรือเช็ดมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสมือผู้ป่วยและการใช้ของใช้ร่วมกับผู้ป่วย (เช่น ผ้าเช็ดตัว แก้วน้ำ โทรศัพท์ ของเล่น รีโมตโทรทัศน์)
- การฉีดวัคซีนป้องกัน ที่มีใช้ในปัจจุบันสามารถ ป้องกันได้เฉพาะไข้หวัดใหญ่ประจำฤดูกาล (สายพันธุ์เก่า) 3 ชนิด ได้แก่ ไข้หวัดใหญ่ชนิด A (H1N1 และ H3N2) และชนิด B แต่ยังไม่สามารถป้องกันไข้หวัดนก (A H5N1) และไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009
โดยทั่วไป ถ้าไม่มีการระบาด ก็มักจะไม่แนะนำฉีดวัคซีนดังกล่าวให้แก่คนทั่วไป ยกเว้นผู้ที่มีความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ที่จะต้องเดินทางไปในถิ่นที่มีการระบาดของโรค ผู้ที่มีกิจกรรมจำเป็นที่ไม่อาจหยุดงานได้ (เช่น ตำรวจ นักแสดง นักกีฬา นักเดินทาง) ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 19 ปีที่ต้องกินยาแอสไพรินเป็นประจำ และสตรีตั้งครรภ์ที่คาดว่าอายุครรภ์จะย่างเข้าเดือนที่ 4 (ไตรมาสที่ 2) ขึ้นไปในช่วงที่อาจมีการระบาดของโรคพอดี คนกลุ่มนี้แพทย์อาจพิจารณาฉีดวัคซีนป้องกัน
การฉีดวัคซีนแต่ละครั้ง สามารถป้องกันได้นาน 1 ปี ถ้าจำเป็นควรฉีดปีละครั้งในช่วงก่อนเข้าฤดูฝน
- อ่าน 115,103 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้