ไข้หวัดใหญ่
เกิดจากการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ ซึ่งเป็นไวรัสที่มีชื่อว่า ไวรัสอินฟลูเอนซา (influenza virus) เชื้อนี้จัดอยู่ในกลุ่ม orthomyxovirus
ไวรัสไข้หวัดใหญ่มีอยู่ 3 ชนิด ได้แก่ ไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ (A) บี (B) และซี (C) 2 ชนิดหลังมีความรุนแรงและระบาดได้น้อยกว่าชนิดเอ
ไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ มักก่อให้เกิดอาการรุนแรง อาจพบระบาดได้กว้างขวาง และสามารถกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ใหม่อยู่ได้เรื่อยๆ ไวรัสชนิดนี้สามารถพบได้ทั้งในคนและสัตว์ (ชนิดบีและซี พบได้เฉพาะในคนเท่านั้น) แบ่งเป็นสายพันธุ์ย่อย โดยมีชื่อเรียกตามชนิดของโปรตีนที่พบบนผิวของเชื้อไวรัสโปรตีนดังกล่าวมี อยู่ 2 ชนิด ได้แก่ ฮีแม็กกลูตินิน (hemagglutinin เรียกย่อยว่า H) ซึ่งมีอยู่ 16 ชนิดย่อย และนิวรามินิเดส (neuraminidase เรียกย่อว่า N) ซึ่งมีอยู่ 9 ชนิดย่อย ในการกำหนดชื่อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ จึงใช้ตัวอักษร H ควบกับ N โดยมีตัวเลขกำกับท้ายอักษรแต่ละตัวตามชนิดของโปรตีน เช่น
- ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H1N1 เป็นต้นเหตุ ของการระบาดใหญ่ทั่วโลกในปี พ.ศ.2461-2462 มีผู้ป่วย 500-1,000 ล้านราย คร่าชีวิตผู้คนระหว่าง 20-40 ล้านราย เนื่องจากมี ต้นตอที่ประเทศสเปน จึงมีชื่อว่าไข้หวัดใหญ่สเปน (Spanish flu) เชื้อสายพันธุ์นี้กลับมาระบาดใหม่อีกครั้งในปี พ.ศ.2520 เนื่องจากมีต้นตอจากรัสเซีย จึงเรียกว่าไข้หวัดใหญ่ รัสเซีย (Russian flu)
- ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ H1N1 ที่กลายพันธุ์ ซึ่งประกอบด้วยสารพันธุกรรมของไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่พบในหมู สัตว์ปีก และคน พบระบาดครั้งแรกในประเทศเม็กซิโก ตอนเริ่มแรกจึงเรียกว่า ไข้หวัดเม็กซิโก (Mexican flu) และไข้หวัดใหญ่หมู (Swine flu เนื่องจากพบชิ้นส่วนสารพันธุกรรมของไวรัสในหมูเป็นส่วนสำคัญ) ต่อมาจึงได้เรียกเป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009เพื่อหลีกเลี่ยงความสับสน ขณะนี้ ไข้หวัดใหญ่ชนิดนี้ได้ระบาดไปทั่วโลกแล้ว คาดว่าจะต่อเนื่องไปอีก 1-3 ปี
- ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H2N2 เป็นต้นเหตุ การระบาดของไข้หวัดใหญ่เอเชียในปี พ.ศ. 2500-2501 คร่าชีวิตผู้คนไปราว 2 ล้านคน
- ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H3N2 เป็นต้นเหตุ การระบาดของไข้หวัดฮ่องกงในปี พ.ศ. 2511-2512 ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนราว 1 ล้านคน
- ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H5N1 เป็นต้นเหตุ ของไข้หวัดใหญ่สัตว์ปีก (Avian flu) หรือที่ไทยนิยมเรียกว่าไข้หวัดนก เริ่มระบาดตั้งแต่ ปี พ.ศ.2546 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ใหม่ที่มีความร้ายแรงสูง แต่โชคดีที่ติดจากสัตว์ปีกสู่คน แต่ยังติดจากคนสู่คนได้น้อยมาก จึงแพร่กระจายได้น้อย
วิธีแพร่เชื้อ ไข้หวัดใหญ่จะอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย และเสมหะของผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อ สามารถแพร่ให้คนอื่นได้ตั้งแต่ 1 วันก่อนป่วย แพร่เชื้อได้มากสุดใน 3 วันแรกที่มีอาการป่วย (ส่วนใหญ่มักจะแพร่เชื้อไม่เกิน 7 วัน) ติดต่อโดยการหายใจสูดเอาฝอยละอองเสมหะที่ผู้ป่วยไอหรือจามรดภายในระยะไม่ เกิน 1 เมตร หรือโดยการสัมผัสถูกมือ สิ่งของเครื่องใช้ หรือสิ่งแวดล้อมที่แปดเปื้อน (กล่าวคือ เชื้อไวรัสอาจติดที่มือของผู้ป่วย สิ่งของเครื่องใช้ หรือสิ่งแวดล้อม ที่ผู้ป่วยไอหรือจามใส่ เมื่อคนปกติสัมผัสถูกมือหรือสิ่งแปดเปื้อนเชื้อ เชื้อก็จะติดที่มือของคนคนนั้น และเมื่อใช้นิ้วมือขยี้ตาหรือแคะไชจมูก เชื้อก็จะเข้าสู่ร่างกายของคนคนนั้น)
นอกจากนี้ เชื้อไข้หวัดใหญ่ยังสามารถแพร่กระจายทางอากาศ (airborne transmission) กล่าวคือ เมื่อผู้ป่วยไอหรือจาม เชื้อที่ติดอยู่ในฝอยละอองเสมหะสามารถกระจายออกไประยะไกลและแขวนลอยอยู่ในอากาศได้นาน เมื่อคนอื่นสูดเอาอากาศที่มีฝอยละอองนี้เข้าไป ก็สามารถติดโรคได้ ดังนั้นโรคนี้จึงสามารถระบาดได้รวดเร็วกว่าไข้หวัดธรรมดา
ระยะฟักตัวของโรค ส่วนใหญ่ 1-3 วัน ส่วนน้อย นานถึง 7 วัน
- อ่าน 114,898 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้