โรคลมจากความร้อน
ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูงจัด ร่วมกับอาการทางสมอง เช่น เดินเซ สับสน มีพฤติกรรมแปลกๆ ประสาทหลอน เพ้อคลั่ง ชัก หมดสติ ผู้ป่วยมักมีประวัติเผชิญคลื่นความร้อน ออกกำลัง กายหรือทำงานใช้แรงกายในที่ที่อากาศร้อน หรือติดอยู่ในรถยนต์ที่ปิดประตูหน้าต่างมิดชิดอยู่กลางแดดนานๆ
บางคน ก่อนมีอาการทางสมองนับเป็นนาทีๆ ถึงชั่วโมงๆ อาจมีอาการอื่นๆ นำมาก่อน เช่น อ่อนเพลีย เหนื่อยล้า ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ตาพร่ามัว คลื่นไส้ อาเจียน ปวดตามกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อเป็นตะคริว กระสับกระส่าย เป็นต้น
ผู้ป่วยมักมีไข้สูง อุณหภูมิวัดทางทวารหนักมากกว่า 41 องศาเซลเซียส (ยกเว้นในรายที่ได้รับการปฐมพยาบาลด้วยการลดอุณหภูมิมาก่อน ก็อาจตรวจไม่พบไข้ หรือไข้ไม่สูงมาก) ชีพจรเต้นเร็ว หายใจหอบลึก ผิวหนังออกร้อนและมักมีเหงื่อออก (อาจพบผิวหนังแห้งไม่มีเหงื่อออกในระยะท้ายของโรค ซึ่งมักพบในกลุ่มที่เกิดจากคลื่นความร้อน มากกว่ากลุ่มที่ออกกำลังกายมาก)
การดำเนินโรค
ผลการรักษาขึ้นกับความรุนแรงและระยะเวลาที่เป็นก่อนมาถึงโรงพยาบาล ถ้าได้รับการรักษาได้เร็วและถูกต้องก็มีโอกาสรอดชีวิตถึงร้อยละ 90 แต่ถ้าปล่อยให้มีอาการนานเกิน 2 ชั่วโมง ค่อยเข้ารับการรักษา ก็มีอัตราตายสูงถึงร้อยละ 78 บางรายเมื่อรักษาจนฟื้นตัวดีแล้ว บางรายอาการทางสมองอาจหายได้ไม่สนิท อาจมีบุคลิกภาพเปลี่ยนไป ท่าทางงุ่มง่าม หรือกล้ามเนื้อทำงานประสานกันไม่ดี
ภาวะแทรกซ้อน
หากปล่อยให้อุณหภูมิร่างกายสูงอยู่นาน อาจมีผลกระทบต่ออวัยวะทุกส่วน เกิดภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญ เช่น หัวใจเต้นเร็ว ความดันเลือดต่ำ เลือดออกใต้เยื่อบุหัวใจ ปอดบวมน้ำ ปอดอักเสบ การหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน ไตวายเฉียบพลัน เลือดออกง่าย อัมพาตครึ่งซีก ชัก ความจำเสื่อม ตับวาย เป็นต้น
การแยกโรค
อาการไข้สูงร่วมกับอาการทางสมอง (เช่น เดินเซ สับสน เพ้อคลั่ง ชัก หมดสติ) อาจเกิดจากโรคติดเชื้อของสมอง เช่น สมองอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ โรคพิษสุนัขบ้า มาลาเรียขึ้นสมอง เป็นต้น ซึ่งมักจะแยกออกจากโรคลมจากความร้อนได้จากการซักถามประวัติอย่างละเอียด อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเกิดจากสาเหตุใดก็ตาม ก็ถือว่าเป็นภาวะรุนแรงที่ต้องพาผู้ป่วยไปรักษาที่โรงพยาบาลโดยด่วน
- อ่าน 8,068 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้