Skip to main content
ข้อมูลสุขภาพ มูลนิธิหมอชาวบ้าน
menu

Login Pop

  • เข้าสู่ระบบ
    • ลืมรหัสผ่าน
search
  • เว็บหลักหมอชาวบ้าน
  • สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน
  • มูลนิธิหมอชาวบ้าน
  • หน้าแรก
  • ดูแลสุขภาพด้วยตัวเอง
  • บทความสุขภาพน่ารู้
  • สื่อสุขภาพ
  • คำถามสุขภาพ
  • ข่าวสาร
  • ติดต่อหมอชาวบ้าน
  • ข้อปฏิเสธความรับผิดชอบ
หน้าแรก » ดูแลสุขภาพด้วยตนเอง » ข้อมูลโรคและการรักษา » หืด

หืด

  • อาการ
  • สาเหตุ
  • การรักษา
  • การดูแลตนเอง
  • อื่นๆ

มักมีอาการแน่นอึดอัดในหน้าอก หรือหอบเหนื่อย ร่วมกับมีเสียงดังวี้ดคล้ายเสียงนกหวีด (ระยะแรกจะได้ยินช่วงหายใจออก ถ้าเป็นมากขึ้นจะได้ยินทั้งช่วงหายใจเข้าและออก) อาจมีอาการไอ ซึ่งมักมีเสมหะใสร่วมด้วย

บางรายอาจมีเพียงอาการแน่นอึดอัดในหน้าอก หรือไอเป็นหลัก โดยไม่มีอาการอื่นๆ ชัดเจนก็ได้ อาการไอดูคล้ายไข้หวัด หวัดภูมิแพ้ หรือหลอดลมอักเสบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะแรกเริ่มของโรคนี้ ผู้ป่วยอาจมีอาการไอมากตอนกลางคืนหรือเช้ามืด ในช่วงอากาศเย็นหรืออากาศเปลี่ยน หรือวิ่งเล่นมากๆ เด็กเล็กอาจไอมาก จนอาเจียนออกมาเป็นเสมหะเหนียวๆ และรู้สึกสบายหลังอาเจียน

ผู้ป่วยอาจมีอาการภูมิแพ้ เช่น คัดจมูก คันคอ เป็นหวัด จาม หรือผื่นคันร่วมด้วย หรือเคยมีประวัติเป็นโรคภูมิแพ้มาก่อน

ในรายที่เป็นเพียงเล็กน้อยถึงปานกลาง มักจะมีอาการเป็นครั้งคราว และมักกำเริบทันทีเมื่อมีสาเหตุกระตุ้น ผู้ป่วยที่มีอาการหายใจลำบากจะลุกขึ้นนั่งฟุบกับโต๊ะหรือพนักเก้าอี้และหอบ ตัวโยน

ในรายที่เป็นรุนแรงมักมีอาการต่อเนื่องตลอดทั้งวันจนกว่าจะได้ยารักษา จึงจะรู้สึกหายใจโล่งสบายขึ้น

ในช่วงที่ไม่มีอาการกำเริบ ผู้ป่วยจะรู้สึกสบายเช่นคนปกติทั่วไป

ผู้ป่วยบางรายที่เป็นโรคหืดรุนแรง เช่น เคยหอบรุนแรงจนต้องไปรักษาที่ห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลบ่อย เคยต้องใส่ท่อหายใจช่วยชีวิต ต้องใช้ยาสตีรอยด์ชนิดกินหรือฉีด หรือต้องใช้ยากระตุ้นบีตา 2 ชนิดออกฤทธิ์สั้น สูดมากกว่า 1-2 หลอด/เดือน ถ้าขาดการรักษาหรือ ได้รับยาไม่เพียงพอในการควบคุมอาการ อาจมีอาการหอบอย่างต่อเนื่องเป็นชั่วโมงๆ ถึงวันๆ แม้จะใช้ยารักษาตามปกติที่เคยใช้ ก็ไม่ได้ผล เรียกว่าภาวะหืดดื้อ หรือหืดต่อเนื่อง (status asthmaticus) ผู้ป่วยจะมีอาการหายใจลำบาก ทำให้ร่างกายขาดออกซิเจนและมีการคั่งของคาร์บอนไดออกไซด์ เกิดภาวะเลือดเป็นกรด มีอาการสับสน หมดสติ ในที่สุดหยุดหายใจ และหัวใจหยุดเต้น เสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็ว

อาการที่เข้าข่ายเป็นโรคหอบหืด

ควรสงสัยว่าเป็นโรคหืด ถ้าผู้ป่วยมีอาการข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้

  • มีเสียงหายใจดังวี้ดคล้ายเสียงนกหวีดบ่อยครั้ง คือมากกว่าเดือนละ 1 ครั้ง
  • มีอาการไอ รู้สึกเหนื่อยง่าย หรือมีเสียงหายใจดังวี้ดขณะวิ่งเล่น หรือออกกำลังกาย
  • ไอตอนกลางคืน โดยที่ไม่ได้เป็นโรคติดเชื้อของทางเดินหายใจ
  • มีอาการต่อเนื่องหลังอายุ 3 ขวบ
  • อาการกำเริบหรือเป็นมากขึ้น เมื่อมีสิ่งเร้าหรือสาเหตุกระตุ้น เช่น ละอองเกสร ขนสัตว์ สเปรย์ บุหรี่ ไรฝุ่นบ้าน ยา การติดเชื้อทางเดินหายใจ ออกกำลังกาย ความเครียด
  • เวลาเป็นไข้หวัดมีอาการต่อเนื่องนานเกิน 10 วัน หรือมีอาการไอรุนแรง หรือไอนานกว่าคนอื่นที่เป็นไข้หวัด
  • อาการดีขึ้นเมื่อใช้ยารักษาโรคหืด
  • มีพ่อแม่พี่น้องเป็นโรคหืดหรือโรคภูมิแพ้อื่นๆ เช่น หวัดภูมิแพ้ ผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้

การดำเนินโรค

ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ส่วนใหญ่จะสามารถควบคุมอาการได้ดี และสามารถดำเนินชีวิตได้เป็นปกติ

ถ้ามีอาการเริ่มเป็นตั้งแต่วัยเด็ก เมื่อโตขึ้นหรือย่างเข้าวัยหนุ่มสาว อาการอาจทุเลาจนสามารถหยุดการใช้ยาสูดบรรเทาอาการได้ แต่บางรายเมื่ออายุมากขึ้นก็อาจมีอาการกำเริบได้อีก

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยกลุ่มนี้อาจมีการอักเสบของหลอดลมอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่ไม่มีอาการหอบเหนื่อยแล้ว

หากขาดการให้ยาควบคุมโรค (ลดการอักเสบ) ก็อาจเกิดภาวะทางเดินหายใจผิดปกติ และอุดกั้นในระยะยาวได้ ดังนั้น ถึงแม้จะมีอาการทุเลาแล้ว ก็ควรติดตามรักษากับแพทย์อย่างต่อเนื่อง

ส่วนในรายที่มีอาการมาก จำเป็นต้องได้รับยาอย่างเพียงพอและต่อเนื่อง หากขาดยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับยาสตีรอยด์มาก่อน ก็อาจมีอาการกำเริบรุนแรงเฉียบพลัน จนเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงได้

ภาวะแทรกซ้อน

หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม ผู้ป่วยอาจมีอาการหมดแรง (อ่อนเปลี้ยเพลียแรง) ภาวะขาดน้ำ ปอดแฟบ การติดเชื้อ (หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ) ปอดทะลุ ภาวะหัวใจล้มเหลว

ในหญิงตั้งครรภ์ ถ้าเป็นโรคหืดที่ไม่สามารถควบคุมอาการได้ อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ ทารกคลอดก่อนกำหนด ทารกน้ำหนักตัวน้อย ทารกตายระยะใกล้คลอดหรือหลังคลอด

ที่ร้ายแรงและเป็นสาเหตุของการเสียชีวิต คือ ภาวการณ์หายใจล้มเหลวเฉียบพลัน ซึ่งพบในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงและขาดยารักษา

การแยกโรค

อาการไอ หรือหอบเหนื่อยเรื้อรัง อาจเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น

  • หวัดภูมิแพ้ ผู้ป่วยจะมีอาการคันคอ คันจมูก จาม ไอ เวลาสัมผัสถูกสิ่งแพ้ (สารก่อภูมิแพ้) โดยไม่มีอาการหอบเหนื่อย
  • หลอดลมอักเสบ ผู้ป่วยจะมีอาการไอมีเสมหะ มักเป็นหลังจากเป็นไข้หวัด ซึ่งจะเป็นนานๆ ครั้ง อาจมีอาการหอบเหนื่อยร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้
  • ถุงลมปอดโป่งพอง ผู้ป่วยมักมีอาการตอนอายุมาก (40-50 ปีขึ้นไป) และมีประวัติสูบบุหรี่จัดมานาน โดยมีอาการไอและหอบเหนื่อยอยู่เรื่อยๆ อย่างเรื้อรัง จะหอบเหนื่อยมากขึ้นเมื่อมีการเคลื่อนไหวทางกาย เช่น เดิน วิ่ง ยกของหนัก เป็นต้น
  • หัวใจวายเรื้อรัง ผู้ป่วยมักมีอาการหอบเหนื่อย (ซึ่งจะเป็นมากเวลานอนราบ) ร่วมกับเท้าบวมทั้ง 2 ข้าง
  • อ่าน 7,562 ครั้ง
  • พิมพ์หน้านี้พิมพ์หน้านี้

ข้อมูลสื่อ

356-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 356
ธันวาคม 2008
สารานุกรมทันโรค
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ
Skip to Top

คุณไม่สบายตรงไหน

  • ศีรษะหู ตา คอ จมูก ปาก
  • ลำตัวท้อง แขน มือ อวัยวะภายใน
  • ลำตัวส่วนล่างอวัยวะเพศ ขา เท้า
  • อาการทั่วไป ไข้หวัด ผิวหนัง ฯลฯ

ข้อมูลสุขภาพ

  • โรค
  • ยา
  • สมุนไพร
  • ปฐมพยาบาล
Doctor Me

  • สนับสนุนสื่อสุขภาพออนไลน์หมอชาวบ้าน
  • สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน
  • คำแนะนำสำหรับประชาชน เรื่อง โรคจากเชื้อแบคทีเรีย อีโคไลชนิดรุนแรง
  • ผ่าตัดฟรีสำหรับเด็ก ที่เป็นโรคหัวใจ
  • สมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย (สพท.)
Appstore
GooglePlay

แผนผังเว็บไซต์

  • หน้าแรก
  • ดูแลสุขภาพด้วยตัวเอง
  • บทความสุขภาพน่ารู้
  • สื่อสุขภาพ
  • คำถามสุขภาพ
  • ข่าวสาร
  • ติดต่อหมอชาวบ้าน
  • ข้อปฏิเสธความรับผิดชอบ

รวมลิงค์เครือข่าย

  • มูลนิธิหมอชาวบ้าน
  • สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน
  • สถาบันโยคะวิชาการ

สื่อสุขภาพ

  • คลิปสุขภาพ
  • หมอชาวบ้านรายเดือน
  • คลินิกรายเดือน
  • จดหมายข่าวย้อนหลัง
  • feed หมอชาวบ้าน
  • facebook หมอชาวบ้าน
  • youtube หมอชาวบ้าน
  • feed หมอชาวบ้าน
  • facebook หมอชาวบ้าน
  • twitter หมอชาวบ้าน
  • youtube หมอชาวบ้าน
สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสถาบัน ChangeFusion พัฒนาระบบโดย Opendream สัญญาอนุญาต cc by-nc-sa