คางทูม
ผู้ป่วยจะมีอาการเป็นไข้ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว เบื่ออาหาร บางคนอาจมีอาการปวดในช่องหูหรือหลังหูขณะเคี้ยวหรือกลืน 1-3 วันต่อมา พบว่าบริเวณข้างหูหรือขากรรไกร มีอาการบวมและปวด อาการปวดจะเป็นมากขึ้นเมื่อกินของเปรี้ยว น้ำส้มคั้น น้ำมะนาว ผู้ป่วยมักจะรู้สึกปวดร้าวไปที่หู ขณะอ้าปากเคี้ยวหรือกลืนอาหาร บางคนอาจมีอาการบวมที่ใต้คางร่วมด้วย (ถ้ามีการอักเสบของต่อมน้ำลายใต้คาง)
ประมาณ 2 ใน 3 ของผู้ที่เป็นคางทูม จะเกิดอาการคางบวมทั้ง 2 ข้าง โดยเริ่มขึ้นข้างหนึ่งก่อนแล้วอีก 4-5 วัน ต่อมาค่อยขึ้นตามมาอีกข้าง
อาการคางบวมจะเป็นมากในช่วง 3 วันแรกแล้วจะค่อยๆ ยุบหายไปใน 4-8 วัน ในช่วงที่บวมมาก ผู้ป่วยจะมีอาการพูดและกลืนลำบาก
บางคนอาจมีอาการคางบวม โดยไม่มีอาการอื่นๆ นำมาก่อน หรือมีเพียงอาการไข้ โดยไม่มีอาการคางบวมให้เห็นก็ได้
นอกจากนี้พบว่าประมาณร้อยละ 30 ของผู้ที่ติดเชื้อคางทูม อาจไม่มีอาการแสดงของโรคคางทูมก็ได้
การดำเนินโรค
ส่วนใหญ่จะไม่มีภาวะแทรกซ้อนและหายได้เองตามธรรมชาติ อาการไข้จะเป็นอยู่เพียง 1-6 วัน ส่วนอาการคางทูมจะยุบได้เองใน 4-8 วัน (ไม่เกิน 10 วัน) และอาการโดยรวมจะหายสนิทภายใน 2 สัปดาห์
ส่วนภาวะแทรกซ้อนที่เกิดกับอวัยวะต่างๆ ส่วนใหญ่ก็มักจะหายได้เป็นปกติ ส่วนน้อยมากที่อาจมีภาวะเป็นหมัน (จากรังไข่อักเสบและอัณฑะอักเสบ) หูหนวก (จากประสาทหูอักเสบ)
ภาวะแทรกซ้อน
เนื่องจากเชื้อสามารถเข้าสู่กระแสโลหิตแพร่กระจายไปทั่วร่างกาย อาจทำให้เกิดการอักเสบของอวัยวะอื่นๆ แทรกซ้อนได้
ที่พบบ่อยคือ อัณฑะอักเสบ จะพบในเด็กวัยรุ่นหรือวัยหนุ่ม (ไม่พบในเด็กเล็ก) ได้ประมาณร้อยละ 20 ผู้ป่วยจะมีไข้สูง อัณฑะบวมและปวดมาก ซึ่งมักจะเป็นหลังอาการคางทูมประมาณ 7-10 วัน ส่วนใหญ่มักเป็นเพียงข้างเดียว ส่วนน้อยเป็น 2 ข้าง บางครั้งอาจทำให้เกิดภาวะอัณฑะฝ่อตามมา แต่อย่างไรก็ตาม มีโอกาสเป็นหมันน้อยมาก
นอกจากนี้ อาจพบภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น
- ประสาทหูอักเสบ (พบได้ประมาณ ร้อยละ 4-5 ส่วนใหญ่มักจะอยู่เพียงชั่วคราวแล้วหายไปได้เอง ส่วนน้อยอาจเป็นหูหนวกถาวร
- ตับอ่อนอักเสบ พบได้ประมาณร้อยละ 2-3 ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ ปวดท้องมากบริเวณเหนือสะดือ อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย
- รังไข่อักเสบ ผู้ป่วยจะมีไข้ ปวดท้องน้อย
- เยื่อหุ้มสมองอักเสบหรือสมองอักเสบ ซึ่งพบได้น้อย (ประมาณ 1 ใน 5,000 คน ถึง 1 ใน 200 คน) ผู้ป่วยจะไข้ ปวดศีรษะ อาเจียน ซึมหรือชัก ซึ่งอาจเกิดก่อนหรือหลังอาการคางบวมก็ได้
- แท้งบุตร ถ้าติดเชื้อในหญิงตั้งครรภ์ ระยะ 3 เดือนแรก ซึ่งก็พบได้น้อย
- ภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ที่อาจพบได้แต่น้อย เช่น ข้ออักเสบ ต่อมไทรอยด์อักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ไตอักเสบ ตับอักเสบ เป็นต้น
การแยกโรค
อาการคางบวม อาจเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น
- การบาดเจ็บ เช่น ถูกต่อย
- ต่อมทอนซิลอักเสบ ผู้ป่วยจะมีไข้ เจ็บคอ ต่อมทอนซิลบวมแดง และอาจพบมีต่อมน้ำเหลืองใต้คางบวมร่วมด้วยข้างหนึ่ง
- เหงือกอักเสบหรือรากฟันอักเสบ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดฟัน หรือเหงือกบวม และอาจมีอาการคางบวมร่วมด้วยข้างหนึ่ง
- ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ ผู้ป่วยจะมีอาการต่อมน้ำเหลืองที่ข้างคอหรือใต้คางบวมและปวด และอาจมีไข้ร่วมด้วย เนื้องอกต่อมน้ำลายหรือท่อน้ำลายอุดตัน (จากการตีบหรือมีก้อนนิ่วน้ำลาย) ผู้ป่วยจะมีก้อนบวมที่คางข้างหนึ่ง ซึ่งมักจะเป็นเรื้อรัง
- ต่อมน้ำลายอักเสบเป็นหนอง จากการติดเชื้อแบคทีเรีย ผู้ป่วยมีอาการคล้ายคางทูม แต่ผิวหนังบริเวณคางทูมจะมีลักษณะแดงและเจ็บมาก
- มะเร็งต่อมน้ำเหลือง (อาจเกิดที่ต่อมน้ำเหลืองโดยตรง หรือลุกลามจากกล่องเสียงหรือโพรงหลังจมูก) ผู้ป่วยจะมีก้อนบวมที่ข้างคอ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางมากกว่า 1 เซนติเมตร และไม่มีอาการเจ็บปวด อาจมีอาการเสียงแหบ (ถ้าเป็นมะเร็งกล่องเสียง) หรือคัดจมูกหรือเลือดกำเดาไหล (ถ้าเป็นมะเร็งโพรงหลังจมูก)
- อ่าน 53,126 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้