บรูเซลโลซิส โรคติดเชื้อจากสัตว์เลี้ยง
หากมีไข้และดูแลตนเอง (เช่น กินยาลดไข้ นอนพักผ่อน) ประมาณ 3-4 วันแล้วไม่ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีประวัติทำงานในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ หรือกินเนื้อสัตว์ดิบหรือดื่มนม (เช่น นมแพะ) ที่ไม่ได้ผ่านกรรมวิธีฆ่าเชื้ออย่างถูกต้อง ก็ควรจะรีบไปพบแพทย์ เมื่อแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคบรูเซลโลซิส ก็ควรกินยารักษา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างจริงจัง
การป้องกัน
- ฉีดวัคซีนป้องกันโรคบรูเซลโลซิสในสัตว์เลี้ยง (โค กระบือ แพะ แกะ หมู)
- ถ้าสงสัยว่าสัตว์เลี้ยงเป็นโรคนี้ เช่น สัตว์ในคอก มีไข้ ซึม เต้านมอักเสบ ข้อขาอักเสบ เยื่อหุ้มข้ออักเสบ อัณฑะอักเสบ ขาหลังเป็นอัมพาต สัตว์แท้งลูกบ่อยๆ (โรคนี้มีชื่อเรียกว่า "โรคแท้งติดต่อในสัตว์") เป็นหมัน ให้น้ำนมน้อยลง เป็นฝีตามที่ต่างๆ ลูกที่ตกออกมาไม่แข็งแรง เป็นต้น ก็ควรปรึกษาสัตวแพทย์ ถ้าเป็นโรคนี้ก็ควรกำจัดทิ้ง กรณีที่สัตว์แท้งลูก ควรเก็บลูกสัตว์ที่แท้งและรกส่งตรวจหาสาเหตุของโรค
- หมั่นตรวจสอบการติดเชื้อในฝูงสัตว์เลี้ยงด้วยการตรวจเลือด และน้ำนม ถ้าพบว่ามีการติดเชื้อควรทำการคัดแยกและทำลาย
-
คนที่ทำงานในฟาร์ม (โดยเฉพาะฟาร์มแพะ) ควรป้องกันไม่ให้สัมผัสถูกเชื้อโดยตรง เช่น
- ขณะทำงาน ควรสวมถุงมือยางชนิดหนาและทนทาน สวมหน้ากากปิดปากและจมูก ใส่ชุดกันเปื้อน
- ระวังอย่าให้เข็มฉีดยาหรือเจาะเลือดทิ่มตำ
- ล้างมือด้วยสบู่ภายหลังการสัมผัสถูกน้ำมูก น้ำลาย ปัสสาวะ สารคัดหลั่งจากอวัยวะสืบพันธุ์ เลือด น้ำเหลือง มูลสัตว์ รกและลูกสัตว์ที่แท้ง
- ถ้าถูกเข็มฉีดวัคซีนโรคนี้ทิ่มตำเข้าโดยบังเอิญ ควรรีบล้างแผลด้วยน้ำกับสบู่หรือน้ำยาฆ่าเชื้อทันที และควรปรึกษาแพทย์เพื่อให้ยาป้องกัน (แพทย์จะให้กินดอกซีไซคลีน 100 มก. วันละ 2 ครั้ง ร่วมกับไรแฟมพิซิน 600-900 มก. วันละครั้ง นาน 21 วัน ถ้าวัคซีนบังเอิญเข้าตาควรรีบล้างออกและควรกินยาป้องกันนาน 4-6 สัปดาห์
- หลีกเลี่ยงการกินเนื้อสัตว์ที่ไม่ได้ปรุงให้สุก และนมหรือผลิตภัณฑ์จากนมที่ไม่ได้ผ่านกรรมวิธีในการฆ่าเชื้อ (พาสเจอร์ไรซ์) การต้ม หรือการทำให้สุกด้วยความร้อนวิธีอื่นๆ
- เมื่อมีผู้ป่วยเกิดขึ้น ไม่จำเป็นต้องแยกผู้ป่วย แต่ต้องระวังอย่าสัมผัสถูกหนอง และน้ำเหลืองของผู้ป่วย หนองและเลือดที่ติดตามเสื้อผ้าหรือบริเวณต่างๆ ต้องผ่านการทำลายเชื้อ
- อ่าน 13,954 ครั้ง
พิมพ์หน้านี้