โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
เกิดจากผนังหลอดเลือดแดงแข็งและหนาตัว (atherosclerosis)* เนื่องจากมีไขมันเกาะอยู่ภายในผนังหลอดเลือด เรียกว่า "ตะกรันท่อหลอดเลือด (artherosclerotic plaque)" ซึ่ง ค่อยๆ พอกหนาตัวขึ้นทีละน้อย ทำให้ช่องทางเดินของเลือดตีบแคบลง เลือดไปเลี้ยงหัวใจ (อันประกอบด้วยกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่ออื่นๆ) ได้น้อยลงในขณะที่กล้ามเนื้อหัวใจต้องการออกซิเจนมากขึ้นในการเผาผลาญให้เกิดพลังงาน เพื่อทำกิจกรรมต่างๆ (เช่น การออกแรงมากๆ ในการทำงานหรือเคลื่อนไหวร่างกาย การมีอารมณ์รุนแรง ความเครียด) หรือในขณะที่มีออกซิเจนไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจน้อยลง (เช่น หลอดเลือดหดตัวขณะสูบบุหรี่ หรือมีความเครียด หลังกินข้าวอิ่มจัด ซึ่งเลือดไปเลี้ยงกระเพาะอาหารจำนวนมาก เสียเลือดหรือโลหิตจาง) ก็จะเกิดอาการเจ็บหน้าอกเนื่องจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดไปเลี้ยงชั่วขณะ เมื่อขจัดเหตุปัจจัยดังกล่าวออกไป (เช่น หยุดการใช้แรง หยุดสูบบุหรี่) อาการเจ็บหน้าอกจะทุเลาไปได้เอง เรียกภาวะดังกล่าวนี้ว่า "โรคหัวใจขาดเลือดชั่วขณะ (angina pectoris)"
* ภาวะผนังหลอดเลือดแดงแข็งและหนาตัว (atherosclerosis) เกิดจากผนังหลอดเลือดเสื่อมตามอายุขัย (พบในผู้ชายอายุมากกว่า 55 ปี หรือผู้หญิงอายุมากกว่า 65 ปี) หรือเกิดจากโรคประจำตัวที่เป็นมานาน (เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง อ้วน) หรือพฤติกรรม (สูบบุหรี่ ขาดการออกกำลังกาย)
ภาวะนี้เกิดกับหลอดเลือดแดงทั่วทุกส่วนของร่างกาย ซึ่งจะค่อยๆ เป็นมากขึ้นทีละน้อยจนกระทั่งขาดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะสำคัญๆ ได้แก่ หัวใจ (กลายเป็นโรคหัวใจขาดเลือด) สมอง (อัมพาต อัมพฤกษ์ สมองเสื่อม) ไต (ไตวาย) ตา (ประสาทตาเสื่อม ทำให้ตามัว ตาบอด) ขา (ชา เป็นตะคริว ปวดน่องเวลาเดินมากๆ) องคชาต (องคชาตไม่แข็งตัว หรือ "นกเขาไม่ขัน")
ถ้าปล่อยไว้นานๆ ตะกรันท่อหลอดเลือดที่เกาะอยู่ภายในผนังหลอดเลือดหัวใจเกิดการฉีกขาดหรือแตก เกล็ดเลือดก็จะจับตัวเป็นลิ่มเลือด อุดกั้นช่องทางเดินเลือด ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดอยู่เป็นเวลานาน จนเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจตาย เกิดอาการเจ็บหน้าอกอย่างรุนแรง ซึ่งเป็นภาวะฉุกเฉิน เป็นอันตรายถึงชีวิตอย่างเฉียบพลันได้ เรียกว่า "โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (acute myocardial information)"
ปัจจุบันพบว่าปัจจัยที่ทำให้คนเราเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบที่สำคัญ ได้แก่
- อายุ มากกว่าหรือเท่ากับ 55 ปีในผู้ชาย หรือมากกว่าหรือเท่ากับ 65 ปีในผู้หญิง
- การมีประวัติโรคหัวใจและหลอดเลือดในครอบครัวที่เกิดขึ้นก่อนวัยอันควร (< 55 ปีในผู้ชาย หรือ < 65 ปีในผู้หญิง)
- ความดันเลือดสูง
- เบาหวาน
- ไขมันในเลือดสูงหรือผิดปกติ
- อ้วน (ดัชนีมวลกาย มากกว่าหรือเท่ากับ 30 กิโลกรัมต่อตารางเมตร)
- ภาวะมีสารไข่ขาวในปัสสาวะ (มากกว่าหรือเท่ากับ 30 มิลลิกรัมต่อวัน)
- การสูบบุหรี่
- การขาดการออกกำลังกาย
- ความเครียด
นอกจากนี้ โรคหัวใจขาดเลือดยังอาจเกิดจากสาเหตุอื่นที่พบไม่บ่อย เช่น ภาวะโฮโมซิสตีนในเลือดสูง การติดเชื้อหรือการอักเสบของหลอดเลือดหัวใจ การหดเกร็งของหลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดหัวใจผิดปกติแต่กำเนิด การบาดเจ็บ ยาเสพติด (โคเคน ยาบ้าหรือแอมเฟตามีน ซึ่งทำให้หลอดเลือดหัวใจหดเกร็งรุนแรง) เป็นต้น
- อ่าน 87,179 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้