โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
- ถ้ามีอาการเจ็บหน้าอกรุนแรง หรือปวดต่อเนื่องติดต่อกันนานเป็นชั่วโมงๆ หรือเป็นวันๆ หรือมีอาการหอบเหนื่อย อ่อนเพลีย หน้ามืด หรือเป็นลม อย่างใดอย่างหนึ่งร่วมด้วย ควรรีบไปโรงพยาบาลทันที เพราะอาจเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน หรือสาเหตุร้ายแรงอื่นๆ ได้
- ถ้ามีอาการปวดเค้นหรือจุกแน่นตรงลิ้นปี่นาน 2-3 นาที (หรือไม่เกิน 10-15 นาที) ร่วมกับมีอาการปวดร้าวขึ้นไปที่คอ ไหล่ ขากรรไกร และ/หรือมีปัจจัยเสี่ยง (อายุมาก อ้วน สูบบุหรี่ เป็นเบาหวาน ความดันสูง เครียด) หรือมีอาการเจ็บหน้าอกเล็กน้อย กินยา 3-5 วันแล้วไม่ทุเลา หรือสงสัยว่าเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ (โรคหัวใจขาดเลือด) ชั่วขณะ ก็ควรไปปรึกษาแพทย์
- ถ้าตรวจพบว่าเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ควรรับการบำบัดรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างจริงจังและต่อเนื่อง กินยาและดูแลรักษาตามคำแนะนำ อย่าหยุดยาหรือปรับยาเอง
ถ้ามีโรคเบาหวาน ความดันเลือดสูง หรือไขมันในเลือดสูง ก็ควรกินยาและปรับพฤติกรรม ควบคุมโรคให้ได้ผล
นอกจากนี้ควรปฏิบัติตัว ดังนี้
- เลิกสูบบุหรี่เด็ดขาด
- ถ้าอ้วน ควรหาทางลดน้ำหนัก
- กินผัก ผลไม้ และธัญพืช (เช่น ข้าวกล้อง ข้าวโพด ลูกเดือย ถั่วต่างๆ) ให้มากๆ กินโปรตีนจากปลา ถั่วเหลือง เต้าหู้ นมจืดและนมพร่องไขมัน ลดเนื้อแดง (เนื้อวัว เนื้อหมู) ลดน้ำตาล น้ำหวาน น้ำอัดลม และของหวาน ลดอาหารที่มีไขมัน ใช้น้ำมันถั่วเหลืองแทนน้ำมันหมู
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ แต่ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังที่หักโหม และควรค่อยๆ เพิ่มขึ้นทีละน้อย ทางที่ดีควรขอคำแนะนำจากแพทย์เสียก่อนที่จะออกกำลังกายมากๆ การออกกำลังกายที่แนะนำให้ทำกัน ได้แก่ เดินเร็ว วิ่งเหยาะ ขี่จักรยาน ว่ายน้ำ เป็นต้น
-
หลีกเลี่ยงสิ่งที่จะกระตุ้นให้เกิดอาการโรคหัวใจกำเริบ เช่น
- อย่าทำงานหักโหมเกินไป
- อย่ากินข้าวอิ่มเกินไป
- ระวังอย่าให้ท้องผูก โดยการดื่มน้ำมากๆ กินผลไม้ให้มากๆ และควรกินยาระบายเวลาท้องผูก
- ควรงดดื่มชา กาแฟ หรือเครื่องดื่มที่ใส่กาเฟอีน
- หลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้อารมณ์เครียด ตื่นเต้นตกใจ หรือการกระทบกระเทือนทางจิตใจ และทำจิตใจให้เบิกบานอยู่เสมอ
-
ป้องกันการติดเชื้อ ซึ่งอาจทำให้โรคหัวใจกำเริบได้ โดยปฏิบัติดังนี้
- อย่าคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ที่เป็นไข้ไม่สบาย
- กินของร้อน ใช้ช้อนกลาง หมั่นล้างมือ
- รักษาสุขภาพฟันและช่องปาก โดยการแปรงฟัน ใช้ไหมขัดฟัน และตรวจเช็กฟันกับทันตแพทย์เป็นประจำ (การติดเชื้อในช่องปากอาจปล่อยเชื้อเข้าไปที่หัวใจ ทำให้โรคหัวใจกำเริบได้)
- ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่เป็นประจำ (ปีละครั้ง)
การป้องกัน
- ไม่สูบบุหรี่
- หมั่นออกกำลังกายแบบแอโรบิกเป็นประจำสัปดาห์ละ 5 วัน หรือวันเว้นวัน (ดูเพิ่มเติมในหัวข้อ "การดูแลตนเอง")
- กินอาหารที่ส่งเสริมสุขภาพ (ดูเพิ่มเติมในหัวข้อ "การดูแลตนเอง")
- ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ (ดัชนีมวลกาย 18.5-23 กิโลกรัมต่อตารางเมตร)
- ผ่อนคลายความเครียดด้วยวิธีต่างๆ เช่น ออกกำลังกาย ฝึกโยคะ รำมวยจีน ทำสมาธิ เจริญสติ ทำงานอดิเรก ทำงานจิตอาสา
- ถ้าเป็นเบาหวาน ความดันเลือดสูง หรือไขมันในเลือดสูง ควรกินยาควบคุมและปรับพฤติกรรมให้สามารถควบคุมโรคเหล่านี้ได้อย่างจริงจัง และต่อเนื่อง
- ถ้าเป็นเบาหวานหรือเคยเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดมาก่อน ควรกินยาต้านเกล็ดเลือด (เช่น แอสไพริน) ตามคำแนะนำของแพทย์
- ป้องกันการติดเชื้อและรักษาสุขภาพฟันและช่องปาก (ดูรายละเอียดในหัวข้อ "การดูแลตนเอง")
- อ่าน 87,197 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้