โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
แพทย์จะแนะนำข้อปฏิบัติตัวที่เหมาะสมต่างๆ และให้การบำบัดรักษา ดังนี้
- ให้ยาขยายหลอดเลือดหัวใจชนิดกิน และ/หรือชนิดอมใต้ลิ้น เพื่อป้องกันและบรรเทาอาการเจ็บหน้าอก ให้ยาต้านเกล็ดเลือด (เช่น แอสไพริน) ป้องกันการเกิดลิ่มเลือดอุดกั้นหลอดเลือดหัวใจ ให้ยาควบคุมโรคประจำตัว (เช่น เบาหวาน ความดันเลือดสูง ไขมันในเลือดสูง)
- ในรายที่มีอาการเจ็บหน้าอกบ่อย หรือใช้ยาไม่ได้ผล แพทย์จะทำการถ่ายภาพหลอดเลือดหัวใจ ถ้าพบว่ามีการอุดกั้นรุนแรงหรือหลายแห่ง ก็จะทำการแก้ไขโดยการขยายหลอดเลือดด้วยบัลลูน (นิยมเรียกว่า "การทำบัลลูน") และใส่หลอดลวดตาข่าย (stent) คาไว้ในหลอดเลือดบริเวณที่ตีบตัน
- ในรายที่เป็นรุนแรง หรือใช้ยาและทำบัลลูนไม่ได้ผล แพทย์จะทำการผ่าตัดเปิดทางระบาย (ทางเบี่ยง) ของหลอดเลือดหัวใจ (นิยมเรียกว่า "การผ่าตัดทำบายพาส") โดยการนำหลอดเลือดดำที่ส่วนอื่น (เช่น หลอดเลือดดำขา) ไปเชื่อมต่อระหว่างหลอดเลือดหัวใจ (ข้ามส่วนที่ตีบตัน) กับหลอดเลือดแดงใหญ่
- ในรายที่มีโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน แพทย์จะรับผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาล (หน่วยบำบัดโรคหัวใจ หรือ cardiac care unit) พิจารณาให้ยาละลายลิ่มเลือด (thrombolytic agent) ฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ (ซึ่งจะได้ผลดีเมื่อให้ภายใน 6 ชั่วโมงหลังเกิดอาการ) หรือไม่ก็อาจทำบัลลูนหรือทำผ่าตัดบายพาสแบบฉุกเฉิน และให้การดูแลรักษาจนกว่าจะปลอดภัย อาจต้องพักอยู่ในโรงพยาบาล 5-7 วัน เมื่ออาการทุเลาแล้วก็จะเริ่มทำกายภาพบำบัดฟื้นฟูสภาพหัวใจให้แข็งแรง ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการทำงานหนัก และงดการร่วมเพศเป็นเวลา 4-5 สัปดาห์ สามารถกลับไปทำงานได้หลังมีอาการ 8-12 สัปดาห์ แต่ห้ามทำงานที่ต้องใช้แรงมาก
แพทย์จะนัดผู้ป่วยมาติดตามการรักษาเป็น ประจำทุก 1-3 เดือน ตรวจเช็กร่างกายและปรับการใช้ยาให้เหมาะกับสภาพปัญหาของผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นจากประวัติและอาการแสดง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาการปวดเค้น หรือจุกแน่นตรงลิ้นปี่แล้วปวดร้าวขึ้นไปที่คอ ไหล่ ขากรรไกร โดยมีปัจจัยเสี่ยงร่วมด้วย (เช่น อายุมาก สูบบุหรี่ อ้วน มีประวัติเป็นเบาหวาน ความดันเลือดสูง เป็นต้น)
เมื่อสงสัยเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ (มีอาการที่น่าสงสัย หรือถึงแม้อาการไม่ชัดเจน เช่น ไม่มีอาการปวดร้าวขึ้นไปที่คอ ไหล่ ขากรรไกร ร่วมด้วย หรือไม่มีอาการแสดง แต่มีปัจจัยเสี่ยงมาก เช่น เป็นเบาหวานมาหลายปี อายุมาก และสูบบุหรี่จัด) แพทย์จะทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น ตรวจเลือด (ดูว่ามีเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง หรือมีสารเคมีที่บ่งชี้ว่าเป็นโรคหัวใจขาดเลือด) ตรวจคลื่นหัวใจ (ถ้าครั้งแรกบอกว่าปกติ ก็อาจต้องตรวจซ้ำอีกครั้ง) หรือตรวจด้วยวิธีอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น ตรวจคลื่นหัวใจขณะออกกำลังกาย (exercise stress test) โดยการวิ่งบนสายพานหรือปั่นจักรยาน เอกซเรย์คอมพิวเตอร์หัวใจ (cardiac CT scan) ถ่ายภาพหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (echocardiography) ถ่ายภาพรังสีหลอดเลือดหัวใจ (coronary angiography) เป็นต้น
- อ่าน 87,180 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้