เบาหวาน
แพทย์จะให้การรักษาให้เหมาะสมกับชนิดและความรุนแรงของโรค ดังนี้
- ถ้าเป็นเบาหวานชนิดที่ 1 (พบในเด็ก และผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี) จะรักษาด้วยยาฉีดอินซูลินทุกวัน ควบคู่กับการควบคุมอาหาร
- ถ้าเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 (พบในผู้ใหญ่และเด็กอ้วน) จะให้การรักษาโดยการควบคุมอาหารและน้ำหนักตัวสักระยะหนึ่งก่อน ถ้าไม่ได้ผลหรือมีระดับน้ำตาลสูงมากตั้งแต่แรก ก็จะให้ยาเบาหวานชนิดกิน ซึ่งมีให้เลือกใช้อยู่หลายชนิด แพทย์จะเลือกใช้ชนิดและขนาดยาให้เหมาะกับสภาพของผู้ป่วยแต่ละราย โดยเริ่มจากยาชนิดเดียว ขนาดต่ำก่อน ถ้าไม่ได้ผลก็จะค่อยปรับเพิ่มขนาดยา รวมทั้งอาจเพิ่มชนิดของยาในภายหลัง
แพทย์จะนัดผู้ป่วยมาติดตามผลการรักษาทุก 1-2 เดือน
บางกรณีจะทำการตรวจกรองภาวะแทรกซ้อนและปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ดังนี้
- ประเมินปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดอย่างน้อยปีละครั้ง ได้แก่ ความดันสูง ไขมันในเลือดสูงหรือผิดปกติ ภาวะมีสารไข่ขาวในปัสสาวะ ประวัติการสูบบุหรี่ ประวัติโรคหัวใจ และหลอดเลือดในครอบครัว
- ตรวจคลื่นหัวใจ หรือทดสอบวิ่งสายพาน (exercise stress test) ปีละครั้ง
- ตรวจระดับครีอะตินีนในเลือด (ดูภาวะไตวาย) ปีละครั้ง
- ตรวจตาโดยจักษุแพทย์ปีละครั้ง ควรตรวจถี่ขึ้นสำหรับผู้ป่วยเบาหวานที่ตั้งครรภ์
- ตรวจความผิดปกติของเท้า (เช่น อาการชา ลักษณะการเต้นของชีพจรที่เท้า) ปีละครั้ง ในปัจจุบันมีการใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า เส้นใยเดี่ยว (monofilament) ตรวจหาความเสื่อมของประสาทส่วนปลายก่อนที่ผู้ป่วยจะมีความรู้สึกชาปลายมือ ปลายเท้าได้
ทั้งนี้ ถ้าพบความผิดปกติจะได้หาทางป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อน หรือชะลอความรุนแรงลงได้ เช่น ให้แอสไพรินกินวันละ 75-162 มก. ป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด ให้ยาต้านเอซ (ACE-inhibitors) ป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมทั้งภาวะไตวายเรื้อรัง
การวินิจฉัย
แพทย์จะทำการตรวจระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งมีเกณฑ์การวินิจฉัยดังนี้
ในรายที่มีอาการปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำบ่อย จะวินิจฉัยเป็นเบาหวานเมื่อตรวจพบระดับน้ำตาลในเลือด (แบบตรวจตามสะดวก ไม่ต้องให้ผู้ป่วยอดอาหารมาก่อน) มีค่าเท่ากับ 200 มก./ดล.หรือมากกว่า จากการตรวจเพียงครั้งเดียว ในช่วงเวลาไหนก็ได้
ในรายที่ไม่มีอาการ (เช่น การมาขอตรวจเช็กสุขภาพ) แพทย์จะให้ผู้ป่วยอดอาหารอย่างน้อย 8ชั่วโมง (นิยมให้อดมาตั้งแต่กลางคืน แล้วมาตรวจตอนเช้าวันรุ่งขึ้น) แล้วตรวจดูระดับน้ำตาลมีค่าเท่ากับ 126 มก./ดล.หรือมากกว่า ให้สงสัยว่าอาจเป็นเบาหวาน แพทย์จะนัดตรวจระดับน้ำตาลหลังอดอาหาร 8 ชั่วโมงซ้ำในวันถัดๆ ไปอีกครั้ง ถ้าพบว่าเท่ากับ 126 มก./ดล.หรือมากกว่า ก็จะวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวานชนิดไม่มีอาการ (เพชฌฆาตมืด) ถ้ามีค่าต่ำกว่า 126 มก./ดล.ก็จะยังไม่วินิจฉัยว่าเป็นเบาหวาน จนกว่าจะตรวจพบว่ามีค่าเท่ากับ 126 มก./ดล.หรือมากกว่า เป็นจำนวน 2 ครั้ง จึงจะวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวาน
ในรายที่ไม่มีอาการ แล้วตรวจระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร 8 ชั่วโมงดังกล่าวแล้วยังไม่สามารถวินิจฉัยได้ว่าเป็นเบาหวานตามเกณฑ์ หากมีปัจจัยเสี่ยงที่ชวนให้คิดว่าน่าจะเป็นเบาหวาน เช่น รูปร่างอ้วนจัด หรือมีประวัติเบาหวานในครอบครัว แพทย์จะทำการตรวจอีกวิธีหนึ่งที่เรียกว่า "การทดสอบความทนต่อกลูโคส" โดยให้ผู้ป่วยดื่มกลูโคส 75 กรัม หลังจากนั้น 2 ชั่วโมงตรวจดูระดับน้ำตาลในเลือด ถ้าพบว่ามีค่าเท่ากับ 200 มก./ดล. หรือมากกว่า จากการตรวจ 2 ครั้งในต่างวันกัน ก็สามารถวินิจฉัยว่า เป็นเบาหวานชนิดไม่แสดงอาการ
เมื่อตรวจพบว่าเป็นเบาหวาน แพทย์จะทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น ความดันเลือด ระดับไขมันในเลือด ตรวจปัสสาวะ คลื่นหัวใจ การทำงานของไต เป็นต้น เพื่อประเมินภาวะแทรกซ้อน และปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
- อ่าน 27,590 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้