Skip to main content
ข้อมูลสุขภาพ มูลนิธิหมอชาวบ้าน
menu

Login Pop

  • เข้าสู่ระบบ
    • ลืมรหัสผ่าน
search
  • เว็บหลักหมอชาวบ้าน
  • สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน
  • มูลนิธิหมอชาวบ้าน
  • หน้าแรก
  • ดูแลสุขภาพด้วยตัวเอง
  • บทความสุขภาพน่ารู้
  • สื่อสุขภาพ
  • คำถามสุขภาพ
  • ข่าวสาร
  • ติดต่อหมอชาวบ้าน
  • ข้อปฏิเสธความรับผิดชอบ
หน้าแรก » ดูแลสุขภาพด้วยตนเอง » ข้อมูลโรคและการรักษา » เบาหวาน

เบาหวาน

  • อาการ
  • สาเหตุ
  • การรักษา
  • การดูแลตนเอง
  • อื่นๆ

เมื่อมีอาการปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำบ่อย งควรรีบไปพบแพทย์ ตรวจเลือดดูว่าเป็นเบาหวานหรือไม่ แม้แต่ขณะที่รู้สึกสบายดี ก็ควรหาทางตรวจเช็กระดับน้ำตาลในเลือด ในกรณีที่อาจมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน เช่น มีประวัติเบาหวานในครอบครัว หรือมีภาวะน้ำหนักเกิน หรืออ้วน หรือมีอายุมากกว่า 45 ปี

ถ้าตรวจพบว่าเป็นเบาหวาน ก็ควรหมั่นดูแลตนเองดังนี้

  1. เรียนรู้ธรรมชาติของโรคเบาหวาน และวิธีการดูแลรักษาจากผู้รู้ หนังสือ และสื่อต่างๆ จนเกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรเข้าใจความเป็น "เพชฌฆาตมืด" คือ การไม่แสดงอาการของโรคนี้ รวมทั้งความจำเป็นที่ต้องคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ได้ผลตั้งแต่ระยะแรกของ โรค หากปล่อยให้น้ำตาลในเลือดสูงก็จะยิ่งทำให้โรคกำเริบมากขึ้น จนต้องใช้ยากินขนาดสูงขึ้นไปเรื่อยๆ และในที่สุดอาจต้องใช้ยาฉีดตลอดชีวิต รวมทั้งการปล่อยให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกินเป้าหมายพึงประสงค์ (ระดับน้ำตาล 150-200 มก./ดล. ซึ่งผู้ป่วยยังรู้สึกสบายดี) ก็ย่อมก่อให้เกิดโรคแทรกซ้อนในระยะยาวได้ ผู้ป่วยควรหมั่นปฏิบัติ ควบคุมโรคให้ได้ตามเป้าหมายพึงประสงค์
  2. พบแพทย์ตามนัด เพื่อติดตามผลการรักษา ตรวจเช็กและเฝ้าระวังโรคแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น
  3. กินยาหรือฉีดยารักษาตามคำแนะนำของแพทย์ อย่าปรับเปลี่ยนชนิดและขนาดของยาตามอำเภอใจ แม้ว่ารู้สึกสบายดีก็ไม่ควรลดหรือหยุดยาเอง
  4. ควรหมั่นตรวจระดับน้ำตาลในเลือด ถ้าเป็นไปได้ควรมีเครื่องตรวจน้ำตาลในเลือดไว้ที่บ้านหรือสถานพยาบาลใกล้ บ้าน ทำการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดทุกวัน (ถ้าเพิ่งเป็นใหม่หรือยังคุมน้ำตาลไม่ได้) หรือทุกสัปดาห์ (ถ้าคุมได้ดีแล้ว) โดยผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนตรวจ (เช้า กลางวัน เย็น ก่อนนอน) ก่อนอาหารบ้าง หลังอาหารบ้าง เพื่อประเมินว่าสามารถคุมน้ำตาลได้ดีตลอด 24วโมงหรือไม่ ควรให้แพทย์ตรวจดูระดับน้ำตาลเฉลี่ยสะสม (HbA 1 C) ทุก 3-6 เดือน
  5. เมื่อเริ่มกินยาหรือฉีดยารักษาเบาหวาน ควรเฝ้าสังเกตดูอาการน้ำตาลในเลือดต่ำ (อาจเกิดเพราะใช้ยาเกินขนาด กินอาหารน้อยไปหรือผิดเวลา หรือมีการออกแรงกายมากเกิน) ได้แก่ อาการใจสั่น ใจหวิว จะเป็นลม เหงื่อออก หิวข้าวก่อนเวลา ถ้าหิวก็ให้รีบอมลูกอม กินน้ำตาลทราย หรือน้ำหวานแก้ไขทันที ควรกลับไปปรึกษาแพทย์ก่อนนัด และสอบถามแพทย์ถึงวิธีป้องกันไม่ให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นหมดสติเป็นอันตรายได้
     เป้าหมายของการควบคุมโรคเบาหวาน 
  6. เมื่อมีอาการเจ็บป่วย (เช่น เป็นไข้ อาเจียน ท้องเดิน) หรือตั้งครรภ์ ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด หรือหมั่นตรวจน้ำตาลในเลือด หากพบว่ามีระดับน้ำตาลต่ำหรือสูงเกินไป ก็ควรปรึกษาแพทย์เพื่อปรับยาให้เหมาะสม
  7. อย่าซื้อยากินเอง เพราะยาบางอย่างอาจเพิ่มน้ำตาลในเลือดได้ เช่น ยาขับปัสสาวะ ยาเม็ดคุมกำเนิด สตีรอยด์ เป็นต้น และยาบางอย่างอาจเสริมฤทธิ์ของยารักษาเบาหวาน ทำให้น้ำตาลในเลือดต่ำได้ เช่น แอสไพริน ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์ ยากลุ่มซัลฟา (เช่น โคไตรม็อกซาโซล) เป็นต้น ถ้ามีความจำเป็นต้องใช้ยาเองต้องแน่ใจว่า ยานั้นไม่มีผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด
  8. ควบคุมอาหารการกินอย่างเคร่งครัด โดยมีหลักง่ายๆ ดังนี้
    • กินอาหารวันละ 3 มื้อ กินให้ตรงเวลา ไม่งดมื้อใดมื้อหนึ่ง กินในปริมาณใกล้เคียงกันทุกวัน ทุกมื้อ รู้จักใช้หลักการแลกเปลี่ยนอาหาร (food exchange) ของอาหารแต่ละหมู่ เพื่อให้ได้ปริมาณแคลอรีที่ใกล้เคียงกัน
    • อย่ากินจุบจิบ ไม่เป็นเวลา
    • ในแต่ละมื้อ ให้กินอาหารที่มีทั้งแป้ง เนื้อสัตว์ ไขมัน และผัก
    • หลีกเลี่ยงการกินน้ำตาล น้ำผึ้ง น้ำหวาน น้ำอัดลม เครื่องดื่มบำรุงกำลัง ขนมหวาน ขนมเชื่อมน้ำตาล นมหวาน (ให้ดื่มนมจืดแทน) ผลไม้ที่มีรสหวานจัด (เช่น ทุเรียน ขนุน ลำไย ลิ้นจี่ องุ่น ละมุด อ้อย เป็นต้น) ผลไม้กระป๋อง ผลไม้แช่อิ่ม หรือเชื่อมน้ำตาล
    • ถ้าชอบหวาน ให้ใช้น้ำตาลเทียมแทน
    • ห้ามดื่มเครื่องดื่มที่ผสมแอลกอฮอล์ รวมทั้งยาดองเหล้า
    • หลีกเลี่ยงการกินเครื่องในสัตว์ ไขมันสัตว์ น้ำมันหมู เนย มันหมู มันไก่ เนื้อติดมัน หมูสามชั้น ครีม กะทิ น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม ไข่แดง หอยนางรม อาหารทอด (เช่น ไก่ทอด กล้วยแขก ปาท่องโก๋ มันทอด ข้าวเกรียบทอด เป็นต้น)
    • หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็มจัด และอาหารสำเร็จรูป (เช่น ไส้กรอก กุนเชียง เป็นต้น)
    • กินอาหารประเภทแป้ง เช่น ข้าว ขนมจีน ก๋วยเตี๋ยว บะหมี่ ถั่ว ข้าวโพด เผือก มัน ขนมปัง ในจำนวนพอเหมาะ ไม่มากหรือน้อยจนเกินไป
    • กินผักให้มากๆ (ปริมาณไม่จำกัด) โดยเฉพาะผักประเภทใบและถั่วสด เช่น ผักกวางตุ้ง ผักคะน้า ผักกาดขาว ผักบุ้ง ผักกระเฉด มะระ มะเขือยาว ถั่วงอก ถั่วแขก ถั่วฝักยาว เป็นต้น
    • กินผลไม้ที่มีรสหวานไม่มาก ได้มื้อละ 6-7 ชิ้น เช่น ส้ม มังคุด มะม่วง มะละกอ พุทรา ฝรั่ง สับปะรด แอปเปิ้ล ชมพู่ กล้วย เป็นต้น

    ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสมดุลของระดับน้ำตาลในเลือด
  9. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เช่น เดินเร็ว วิ่งเหยาะ ขี่จักรยาน ว่ายน้ำ หรือทำงานออกแรงกายให้มาก (เช่น ทำสวน ขุดดิน ยกของ กวาดบ้าน ถูบ้าน ล้างรถ) ควรทำในปริมาณมากพอๆ กันทุกวัน อย่าหักโหม (ถ้าออกกำลังมากเกินไป อาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้) ทั้งการควบคุมอาหารและการออกกำลังควรให้เกิดความพอเหมาะ ที่จะช่วยควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ถ้าอ้วนเกิน แสดงว่ายังปฏิบัติทั้ง 2 เรื่องนี้ไม่ได้เต็มที่
  10. ถ้าน้ำหนักเกิน ควรลดน้ำหนักโดยการควบคุมอาหารและออกกำลังกาย
  11. พักผ่อนให้เพียงพอ ทำจิตใจให้ร่าเริง อย่าให้เครียด หรือวิตกกังวล (ความเครียดอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงได้) ถ้ามีโอกาส ควรทำงานอาสาสมัครหรือสาธารณกุศล เข้าสมาคม ชมรม หรือกลุ่มกิจกรรมต่างๆ จะช่วยให้รู้สึกตัวเองมีคุณค่าและหายเครียด
  12. ควรเลิกสูบบุหรี่โดยเด็ดขาด หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จัด และถ้ามีความดันโลหิตสูง หรือภาวะไขมันในเลือดสูง ควรดูแลรักษาจนสามารถควบคุมโรคได้ มิเช่นนั้นอาจทำให้หลอดเลือดแดงแข็งเร็วขึ้น ซึ่งเป็นต้นเหตุของโรคแทรกซ้อนต่างๆ
  13. หมั่นดูแลรักษาเท้า ดังนี้
    • ทำความสะอาดเท้า และดูแลผิวหนังทุกวัน เวลาอาบน้ำควรล้างและฟอกสบู่ตามซอกนิ้วเท้าและส่วนต่างๆ ของเท้าอย่างทั่วถึง หลังล้างเท้าเรียบร้อยแล้วซับทุกส่วน โดยเฉพาะบริเวณซอกนิ้วเท้าให้แห้งด้วยผ้าขนหนู ระวังอย่าเช็ดแรงเกินไปเพราะผิวหนังอาจถลอกเป็นแผลได้
    • ถ้าผิวหนังที่เท้าแห้งเกินไป ควรใช้ครีมทาผิวทาบางๆ โดยเว้นบริเวณซอกนิ้วเท้า และรอบเล็บเท้า
    • ตรวจเท้าอย่างละเอียดทุกวัน โดยเฉพาะบริเวณซอกนิ้วเท้า ฝ่าเท้า บริเวณที่เป็นจุดรับน้ำหนัก และรอบเล็บเท้า เพื่อดูว่ามีรอยช้ำ บาดแผล หรือการอักเสบหรือไม่ หากมีแผลที่เท้า ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที
    • การตัดเล็บ ควรตัดด้วยความระมัดระวัง เพื่อป้องกันมิให้เกิดเล็บขบ ซึ่งอาจลุกลาม และเป็นสาเหตุของการถูกตัดขาได้
    • ควรตัดเล็บในแนวตรงๆ และอย่าให้สั้นชิดผิวหนังจนเกินไป
    • ไม่ควรใช้วัตถุแข็งแคะซอกเล็บ
    • การตัดเล็บ ควรทำหลังล้างเท้าหรืออาบน้ำใหม่ๆ เพราะเล็บจะอ่อนและตัดง่าย ถ้าสายตามองเห็นไม่ชัด ควรให้ผู้อื่นตัดเล็บให้
    • ป้องกันการบาดเจ็บและเกิดแผล โดยการสวมรองเท้าทุกครั้งที่ออกนอกบ้าน (อย่าเดินเท้าเปล่า) ควรเลือกรองเท้าที่สามารถหุ้มรอบเท้าได้ทุกส่วน รวมทั้งข้อเท้า (เช่น รองเท้าผ้าใบ) และสวมพอดี ไม่หลวม ไม่บีบรัด พื้นนุ่ม มีการระบายอากาศและความชื้นได้ ควรสวมถุงเท้าด้วยเสมอ โดยเลือกสวมถุงเท้าที่สะอาด ไม่รัดแน่น และเปลี่ยนทุกวัน ก่อนสวมรองเท้าควรตรวจดูว่า มีวัตถุมีคมตกอยู่ในรองเท้าหรือไม่ สำหรับรองเท้าคู่ใหม่ ในระยะแรกเริ่มควรใส่เพียงชั่วเวลาสั้นๆ ในแต่ละวัน เพื่อให้รองเท้าค่อยๆ ขยายปรับตัวเข้ากับเท้าได้ดี
    • หลีกเลี่ยงการตัด ดึง หรือแกะหนังแข็งๆ หรือตาปลาที่ฝ่าเท้า และไม่ควรซื้อยากัดลอกตาปลามาใช้เอง
    • ถ้ารู้สึกว่าเท้าชา ห้ามวางขวดหรือกระเป๋าน้ำร้อน หรือประคบด้วยของร้อนใดๆ จะทำให้เกิดแผลไหม้พองขึ้นได้ (วิธีเหล่านี้ไม่ช่วยให้อาการชาดีขึ้นแต่อย่างใด)
    • ถ้ามีตุ่มหนอง มีบาดแผล หรือการอักเสบที่เท้าควรไปพบแพทย์รักษา อย่าใช้เข็มบ่งเอง หรือใช้ทิงเจอร์ไอโอดีน หรือไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ชะแผล ควรล้างแผลด้วยน้ำสะอาดกับสบู่ และปิดแผลด้วยผ้าก๊อซที่ปลอดเชื้อ และติดด้วยปลาสเตอร์อย่างนิ่ม (เช่น ไมโครพอร์) อย่าปิดด้วยปลาสเตอร์ธรรมดา
  14. ควรพกบัตรประจำตัวที่ ระบุถึงโรคที่เป็นและยาที่ใช้รักษา หากระหว่างเดินทางไปไหนมาไหนประสบอุบัติเหตุ หรือเป็นลมหมดสติ แพทย์จะได้ให้การช่วยเหลือที่ถูกต้องและทันการ

การป้องกัน

สำหรับคนทั่วไป ควรปฏิบัติดังนี้

  1. ควบคุมอาหาร โดยลดขนาดของหวานๆ และไขมัน กินข้าวเป็นอาหารหลักสลับกับอาหารประเภทแป้งเป็นบางมื้อ กินพืชผัก ผลไม้ และเมล็ดธัญพืชให้มาก กินปลา เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ถั่วเหลือง เต้าหู้เป็นประจำ
  2. ออกกำลังกายเป็นประจำ
  3. ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ

ดัชนีมวลกาย 18.5-22.9 กก./ตารางเมตร
เส้นรอบเอวชาย < 90 ซม. หญิง < 80 ซม.

เหล่านี้อาจมีส่วนช่วยป้องกันมิให้เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ (ส่วนเบาหวานชนิดที่ 1 อาจหาทางป้องกันได้ยาก)
นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จัด (อาจทำให้ตับอ่อนอักเสบหรือตับแข็ง ซึ่งทำให้เป็นเบาหวานตามมาได้) และอย่าใช้ยาสตีรอยด์พร่ำเพรื่อ

สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน (เช่น รูปร่างอ้วน มีประวัติเบาหวานในครอบครัว) นอกจากการปฏิบัติตัวดังกล่าวอย่างเคร่งครัดแล้ว ควรหมั่นตรวจเช็กสุขภาพเป็นประจำ เพื่อค้นหาเบาหวานระยะแรกเริ่ม ถ้าพบว่าเป็นเบาหวานจะได้ให้การรักษาอย่างจริงจังตั้งแต่แรก ซึ่งป้องกันไม่ให้เกิดโรคกำเริบมากขึ้น และช่วยป้องกันโรคแทรกซ้อนระยะยาวได้

  • อ่าน 23,586 ครั้ง
  • พิมพ์หน้านี้พิมพ์หน้านี้

ข้อมูลสื่อ

367-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 367
พฤศจิกายน 2009
สารานุกรมทันโรค
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ
Skip to Top

คุณไม่สบายตรงไหน

  • ศีรษะหู ตา คอ จมูก ปาก
  • ลำตัวท้อง แขน มือ อวัยวะภายใน
  • ลำตัวส่วนล่างอวัยวะเพศ ขา เท้า
  • อาการทั่วไป ไข้หวัด ผิวหนัง ฯลฯ

ข้อมูลสุขภาพ

  • โรค
  • ยา
  • สมุนไพร
  • ปฐมพยาบาล
Doctor Me

  • สนับสนุนสื่อสุขภาพออนไลน์หมอชาวบ้าน
  • สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน
  • คำแนะนำสำหรับประชาชน เรื่อง โรคจากเชื้อแบคทีเรีย อีโคไลชนิดรุนแรง
  • ผ่าตัดฟรีสำหรับเด็ก ที่เป็นโรคหัวใจ
  • สมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย (สพท.)
Appstore
GooglePlay

แผนผังเว็บไซต์

  • หน้าแรก
  • ดูแลสุขภาพด้วยตัวเอง
  • บทความสุขภาพน่ารู้
  • สื่อสุขภาพ
  • คำถามสุขภาพ
  • ข่าวสาร
  • ติดต่อหมอชาวบ้าน
  • ข้อปฏิเสธความรับผิดชอบ

รวมลิงค์เครือข่าย

  • มูลนิธิหมอชาวบ้าน
  • สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน
  • สถาบันโยคะวิชาการ

สื่อสุขภาพ

  • คลิปสุขภาพ
  • หมอชาวบ้านรายเดือน
  • คลินิกรายเดือน
  • จดหมายข่าวย้อนหลัง
  • feed หมอชาวบ้าน
  • facebook หมอชาวบ้าน
  • youtube หมอชาวบ้าน
  • feed หมอชาวบ้าน
  • facebook หมอชาวบ้าน
  • twitter หมอชาวบ้าน
  • youtube หมอชาวบ้าน
สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสถาบัน ChangeFusion พัฒนาระบบโดย Opendream สัญญาอนุญาต cc by-nc-sa