Skip to main content
ข้อมูลสุขภาพ มูลนิธิหมอชาวบ้าน
menu

Login Pop

  • เข้าสู่ระบบ
    • ลืมรหัสผ่าน
search
  • เว็บหลักหมอชาวบ้าน
  • สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน
  • มูลนิธิหมอชาวบ้าน
  • หน้าแรก
  • ดูแลสุขภาพด้วยตัวเอง
  • บทความสุขภาพน่ารู้
  • สื่อสุขภาพ
  • คำถามสุขภาพ
  • ข่าวสาร
  • ติดต่อหมอชาวบ้าน
  • ข้อปฏิเสธความรับผิดชอบ
หน้าแรก » ดูแลสุขภาพด้วยตนเอง » ข้อมูลโรคและการรักษา » ลมบ้าหมู

ลมบ้าหมู

  • อาการ
  • สาเหตุ
  • การรักษา
  • การดูแลตนเอง
  • อื่นๆ
  1. เมื่อพบผู้ป่วยมีอาการหมดสติและชักกระตุก ควรให้การปฐมพยาบาลก่อนส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาล ดังนี้
    1. ป้องกันอันตราย หรือการบาดเจ็บ โดยให้ผู้ป่วยนอนอยู่ในพื้นที่โล่งและปลอดภัย ไม่มีสิ่งกีดขวางหรือระเกะระกะอยู่ข้างกาย (ถ้ามีข้าวของที่อยู่รอบบริเวณ ผู้ป่วยควรเคลื่อนย้ายออกไป) ระวังการตกจากที่สูง และให้อยู่ห่างจากน้ำและไฟ
    2. ปลดเสื้อผ้า เข็มขัด เครื่องแต่งกายให้หลวม
    3. จับผู้ป่วยนอนในท่าตะแคง เพื่อให้ทางเดินหายใจโล่ง (โดยการผลักลำตัวผู้ป่วย ไม่ใช่การดึงแขนผู้ป่วย อาจทำให้ไหล่หลุดได้) ให้ผู้ป่วยหนุนหมอนหรือผ้าห่ม
    4. ถ้ามีเศษอาหาร เสมหะ หรือฟันปลอม ให้นำออกจากปาก ถ้าผู้ป่วยใส่แว่นตาควรถอดออก
    5. อย่าใช้วัตถุ (เช่น ไม้ ด้ามช้อน ปากกา ดินสอ) สอดใส่ปากผู้ป่วยเพื่อป้องกันไม่ให้กัดลิ้น เพราะนอกจากไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควรแล้ว ยังอาจทำให้ปากและฟันได้รับบาดเจ็บได้
    6. อย่าผูกหรือมัดตัวผู้ป่วย อาจทำให้ผู้ป่วยบาดเจ็บได้
    7. อย่าปล่อยให้ผู้ป่วยอยู่ตามลำพัง จนกว่าจะหายเป็นปกติ
    8. อย่าให้ผู้ป่วยกินอะไรระหว่างชัก หรือหลังชักใหม่ๆ อาจทำให้ผู้ป่วยสำลักได้
  2. เมื่อตรวจพบว่าเป็นโรคลมบ้าหมู ผู้ป่วยควร รู้จักดูแลตนเอง ดังนี้
    1. การใช้ยา ควรปฏิบัติดังนี้
      • กินยากันชักทุกวัน ตามขนาดที่แพทย์แนะนำ ควรทำบันทึกการกินยาและการนัดของแพทย์เพื่อกันลืม
      • อย่าหยุดยาหรือปรับเปลี่ยนขนาดยา หรือซื้อยากินเอง
      • ถ้าลืมกินยาไปเพียงมื้อเดียวหรือวันเดียว ให้เริ่มกินในมื้อต่อไปตามปกติ
      • หลีกเลี่ยงการใช้ยาชนิดอื่นร่วมกับยากันชัก โดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร เพราะยาบางชนิดอาจต้านฤทธิ์ยากันชัก ทำให้อาการชักกำเริบได้ บางชนิดอาจเสริมฤทธิ์ยากันชัก ทำให้เกิดพิษขึ้นได้
      • ควรสังเกตผลข้างเคียงที่เกิดจากยากันชัก เช่น อาการมึนงง คลื่นไส้ อาเจียน เดินเซ ผื่นคัน ผิวหนังพุพอง เหงือกบวม ดีซ่าน มีไข้ เป็นต้น ถ้าพบ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ เพื่อพิจารณาปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม บางกรณีแพทย์อาจต้องทำการตรวจเลือดประเมินผลข้างเคียงต่อตับ ไต เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว เป็นระยะ
      • ยากันชักบางชนิดอาจต้านฤทธิ์ยาเม็ดคุมกำเนิด ทำให้คุมกำเนิดไม่ได้ผลบาง ชนิดอาจมีผลทำให้ทารกในครรภ์พิการ หรือแท้งได้ ผู้ป่วยที่กินยาคุมกำเนิดหรือมีแผนที่จะตั้งครรภ์ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อให้การดูแลที่เหมาะสมต่อไป เช่น ในรายที่กินยาโซเดียมวาลโพรเอต หรือคาร์บามาซีพีน แพทย์จะให้ผู้ป่วยกินยาเม็ดกรดโฟลิก (folic acid) ขนาด 1 มิลลิกรัมต่อวัน ตั้งแต่ระยะก่อน ตั้งครรภ์และขณะตั้งครรภ์ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดความพิการทางระบบประสาท (neural tube defect)
      • หากตั้งครรภ์ หรือเจ็บป่วยอย่างอื่น ควรแจ้งให้แพทย์ที่รักษาทราบ และนำยาที่กินอยู่ไปให้แพทย์ดูด้วย
      • ในกรณีที่เปลี่ยนสถานที่รักษา ควรนำประวัติและยาที่กินอยู่ไปให้แพทย์ดูด้วย
    2. เมื่อได้รับการรักษาอย่างถูกต้องจนควบคุมโรคได้แล้ว ผู้ป่วยสามารถทำงาน เรียนหนังสือ เล่นกีฬา หรือออกสังคมได้ตามปกติ รวมทั้งสามารถแต่งงานได้
    3. ข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้ป่วย เพื่อความปลอดภัยและหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นให้เกิดการชัก ผู้ป่วยควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่าอดนอน อย่าทำงานเหนื่อยเกินไป อย่าใช้ความคิดมาก หลีกเลี่ยงการกระทบกระเทือนทางจิตใจ อย่าอดอาหาร ระวังอย่าให้ท้องผูก ห้ามดื่มแอลกอฮอล์หรือกินยากระตุ้นประสาท อย่าเข้าไปในที่ที่มีเสียงอึกทึก หรือมีแสงจ้า แสงวอบแวบ เพราะสิ่งเหล่านี้อาจกระตุ้นให้เกิดอาการชักได้ นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการกระทำและสิ่งแวดล้อมที่เสี่ยงอันตราย เช่น ว่ายน้ำ ปีนขึ้นที่สูง อยู่ใกล้ไฟ ใกล้น้ำ ทำงานกับเครื่องจักร ขับรถ ขับเรือ เดินข้ามถนนตามลำพัง เป็นต้น ถ้าจำเป็นต้องว่ายน้ำ ควรมีคนอื่นอยู่ด้วยตลอดเวลา

      ในบางประเทศจะอนุญาตให้ผู้ป่วยมีใบขับขี่ได้ เมื่อปลอดจากอาการชักแล้วอย่างน้อย 1 ปี
    4. ผู้ป่วยควรเปิดเผยให้เพื่อนที่ทำงานหรือที่โรงเรียนทราบถึงโรคที่เป็น เพื่อว่าเมื่อเกิดอาการชักจะได้ไม่ตกใจ และหาทางช่วยเหลือให้ปลอดภัย พ่อแม่ ญาติพี่น้องและเพื่อนฝูงควรมีความรู้ความเข้าใจในธรรมชาติของโรคและวิธีช่วย เหลือผู้ป่วย ไม่ควรแสดงความรังเกียจ ควรให้กำลังใจผู้ป่วย และให้เข้าร่วมกิจกรรมในชีวิตประจำวันเช่นคนอื่นๆ

การป้องกัน

โรคนี้ส่วนใหญ่เกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ เมื่อมีอาการชักเกิดขึ้นแล้ว ควรหาทางป้องกันไม่ให้อาการกำเริบขึ้น ด้วยการกินยากันชักตามขนาดที่แพทย์แนะนำ และผู้ป่วยต้องหลีกเลี่ยงสาเหตุที่กระตุ้นให้อาการกำเริบ

  • อ่าน 8,656 ครั้ง
  • พิมพ์หน้านี้พิมพ์หน้านี้

ข้อมูลสื่อ

363-015
นิตยสารหมอชาวบ้าน 363
กรกฎาคม 2009
สารานุกรมทันโรค
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ
Skip to Top

คุณไม่สบายตรงไหน

  • ศีรษะหู ตา คอ จมูก ปาก
  • ลำตัวท้อง แขน มือ อวัยวะภายใน
  • ลำตัวส่วนล่างอวัยวะเพศ ขา เท้า
  • อาการทั่วไป ไข้หวัด ผิวหนัง ฯลฯ

ข้อมูลสุขภาพ

  • โรค
  • ยา
  • สมุนไพร
  • ปฐมพยาบาล
Doctor Me

  • สนับสนุนสื่อสุขภาพออนไลน์หมอชาวบ้าน
  • สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน
  • คำแนะนำสำหรับประชาชน เรื่อง โรคจากเชื้อแบคทีเรีย อีโคไลชนิดรุนแรง
  • ผ่าตัดฟรีสำหรับเด็ก ที่เป็นโรคหัวใจ
  • สมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย (สพท.)
Appstore
GooglePlay

แผนผังเว็บไซต์

  • หน้าแรก
  • ดูแลสุขภาพด้วยตัวเอง
  • บทความสุขภาพน่ารู้
  • สื่อสุขภาพ
  • คำถามสุขภาพ
  • ข่าวสาร
  • ติดต่อหมอชาวบ้าน
  • ข้อปฏิเสธความรับผิดชอบ

รวมลิงค์เครือข่าย

  • มูลนิธิหมอชาวบ้าน
  • สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน
  • สถาบันโยคะวิชาการ

สื่อสุขภาพ

  • คลิปสุขภาพ
  • หมอชาวบ้านรายเดือน
  • คลินิกรายเดือน
  • จดหมายข่าวย้อนหลัง
  • feed หมอชาวบ้าน
  • facebook หมอชาวบ้าน
  • youtube หมอชาวบ้าน
  • feed หมอชาวบ้าน
  • facebook หมอชาวบ้าน
  • twitter หมอชาวบ้าน
  • youtube หมอชาวบ้าน
สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสถาบัน ChangeFusion พัฒนาระบบโดย Opendream สัญญาอนุญาต cc by-nc-sa