ไซนัสอักเสบ
ไซนัสอักเสบเฉียบพลัน
ในผู้ใหญ่มักมีอาการปวดใบหน้า บริเวณไซนัสที่อักเสบ (เช่น ปวดที่บริเวณหัวตา หน้าผาก โหนกแก้ม รอบๆ กระบอกตา หรือหลังกระบอกตา บางรายอาจรู้สึก คล้ายปวดฟัน ตรงฟันซี่บน) อาจปวดเพียงข้างเดียวหรือ 2 ข้างก็ได้ อาการปวดมักเป็นมากเวลาเช้าหรือบ่าย เวลาก้มศีรษะหรือเปลี่ยนท่า
ผู้ป่วยมักมีอาการคัดแน่นจมูก พูดเสียงขึ้นจมูก มีน้ำมูกเป็นหนองออกข้นเหลืองหรือเขียว หรือมีเสมหะข้นเหลืองหรือเขียวไหลจากด้านหลังจมูกลงในคอ ต้องคอยสูดหรือขากออก อาจมีอาการปวดศีรษะ มีไข้ อ่อนเพลีย เจ็บคอ ปวดหู ไอ หายใจมีกลิ่นเหม็น ความรู้สึก ในการรับรู้กลิ่นหรือรสชาติลดลง
ในเด็ก อาการมักไม่ชัดเจนเท่าผู้ใหญ่ อาจมีอาการเป็นหวัดนานกว่าปกติ กล่าวคือมีน้ำมูก (ใสหรือข้นเป็นหนองก็ได้) และไอนานกว่า 10 วัน มักจะไอทั้งกลางวันและกลางคืน อาจมีไข้ต่ำๆ และหายใจมีกลิ่นเหม็นร่วมด้วย
เด็ก บางรายอาจแสดงอาการเป็นหวัดรุนแรงกว่าปกติ เช่น มีไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส น้ำมูกข้นเป็นหนอง ปวดที่บริเวณใบหน้า หลังตื่นนอนสังเกตเห็นอาการบวมรอบๆ ตา
ไซนัสอักเสบเรื้อรัง
มักมีอาการต่อเนื่องทุกวันนานเกิน 90 วัน โดยในผู้ใหญ่มักมีอาการคัดจมูก มีเสมหะข้นเหลืองหรือเขียวไหลจากด้านหลังจมูกลงในคอหายใจมีกลิ่นเหม็น ความรู้สึกในการรับรู้กลิ่นลดลง ส่วนใหญ่มักไม่มีไข้และอาการปวดไซนัสแบบที่พบในไซนัสอักเสบเฉียบพลัน
ในเด็กมักมีอาการไอ น้ำมูกไหล จาม หายใจมีกลิ่นเหม็น มีโรคติดเชื้อของทางเดินหายใจส่วนต้น หรือหูชั้นกลางอักเสบ
การดำเนินโรค
ถ้าเป็นไซนัสอักเสบเฉียบพลันจากไวรัส ส่วนใหญ่มักจะหายได้เองถ้าเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย หากได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะอย่างถูกต้อง ก็มักจะหายได้ดี แต่ถ้าปล่อยปละละเลย กินยาไม่ครบถ้วน ก็อาจจะกลายเป็นไซนัสอักเสบเรื้อรัง หรือมีภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ในรายที่เป็นเรื้อรัง การรักษาจะได้ผลดีถ้าสามารถแก้ไขสาเหตุที่พบ และการใช้ยาปฏิชีวนะได้ขนาดเพียงพอในรายที่จำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัด มักจะได้ผลดีในการบรรเทาความรุนแรงของโรค และป้องกันภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง
ภาวะแทรกซ้อน
อาจทำให้หูชั้นกลางอักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ เนื้อเยื่อรอบตาอักเสบ ฝีรอบกระบอกตา กระดูกอักเสบเป็นหนอง
ภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงแต่พบได้น้อย เช่น ประสาทตาอักเสบ (ทำให้ตาบอดได้) เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ฝีในสมอง ภาวะมีลิ่มเลือดในหลอดเลือดสมอง เป็นต้น
ถ้าเกิดจากเชื้อรา ในผู้ที่เป็นเบาหวานหรือเอดส์ อาจทำให้เชื้อราลุกลามเข้าสมองเป็นอันตรายได้ ส่วนเชื้อราที่พบในผู้ที่มีความต้านทานโรคแข็งแรงดี ก็มักจะทำให้เป็นไซนัสเรื้อรัง ดังนั้น หากตรวจพบเชื้อรา จึงมักจะต้องผ่าตัดแก้ไข
ในรายที่เป็นไซนัสอักเสบเรื้อรัง อาจทำให้เป็นโรคหืดกำเริบรุนแรง ในกรณีที่เป็นไซนัสหน้าผาก (frontral sinus) อักเสบเรื้อรังอาจเป็นถุงน้ำเมือก (mucocele) ในไซนัส ซึ่งเกิดจากการสะสมของสิ่งคัดหลั่ง (เมือก) เป็นเวลานาน ถุงน้ำเมือกอาจกดทำลายกระดูกที่เป็นผนังไซนัสให้บางลงหรือกดเบียดอวัยวะข้างเคียง เช่น ตา ทำให้มองเห็นภาพซ้อน
การแยกโรค
อาการคัดจมูก น้ำมูกไหล มีเสมหะในลำคอ ไอ อาจเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น
- ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ มักมีอาการไข้ อ่อนเพลีย เจ็บคอ คัดจมูก น้ำมูกใส (อาจมีน้ำมูกข้นเหลืองหรือเขียวในเวลาต่อมา) มักไม่มีอาการปวดใบหน้า
- หลอดลมอักเสบ มักมีอาการไอ มีเสมหะขาว บางครั้งอาจข้นเหลืองหรือเขียว มักไม่มีอาการคัดจมูกหรือปวดใบหน้า
- โรคหวัดภูมิแพ้ มักมีอาการคันคอ คันจมูก จามบ่อย น้ำมูกใส ไม่มีไข้
- ริดสีดวงจมูก (ติ่งเนื้อเมือกจมูก) มักมีอาการคัดแน่นในรูจมูกข้างใดข้างหนึ่งอย่างต่อเนื่องเป็นแรมเดือนแรมปี ใช้ไฟฉายส่องอาจเห็นติ่งเนื้ออุดกั้นอยู่ในรูจมูก
- มะเร็งในไซนัสหรือโพรงหลังจมูก มักมีอาการ คัดจมูกเรื้อรัง เลือดกำเดาไหล อาจมีอาการปวดไซนัส ปวดหู หูอื้อ เรื้อรังเป็นแรมเดือน
- อ่าน 49,808 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้