ไซนัสอักเสบ
- ให้การรักษาตามอาการ เช่น ถ้าปวดหรือมีไข้ให้ยาแก้ปวดลดไข้ ถ้าคัดจมูกมากให้ยาแก้คัดจมูก ได้แก่ สูโดเอฟีดรีน เป็นต้นส่วนยาแก้แพ้ ควรหลีกเลี่ยง เพราะอาจทำให้เมือกในไซนัสเหนียว ระบายออกยาก ยกเว้นในรายที่มีอาการของโรคภูมิแพ้มาก เช่น จามบ่อย น้ำมูกมาก ก็อาจให้บรรเทาเพียง 2-3 วัน
- รายที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย (น้ำมูกหรือเสมหะเป็นหนอง ปวดใบหน้า หายใจมีกลิ่นเหม็น หรือความรู้สึกในการรับรู้กลิ่นลดลง) แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะ เช่น อะม็อกซีซิลลิน อีริโทรไมซิน หรือโคไตรม็อกซาโซล ถ้าได้ผล อาการจะทุเลาหลังกินยา 48-72 ชั่วโมง
สำหรับรายที่เป็นเฉียบพลัน ควรกินยาต่อไปจนครบ 10-14 วัน ส่วนรายที่เป็นเรื้อรังจะต้องกินยาอย่างน้อย 3-4 สัปดาห์ บางคนอาจนานถึง 12 สัปดาห์ หากมีปัญหาดื้อยา แพทย์จะเปลี่ยนไปใช้ยาปฏิชีวนะชนิดอื่นแทน
ถ้ามีอาการรุนแรง หรือไม่ตอบสนองต่อยา แพทย์อาจทำการเจาะล้างไซนัส
ในรายที่เป็นเรื้อรังจำเป็นต้องตรวจหาปัจจัยที่เป็นสาเหตุและให้การรักษาร่วมกันไปด้วย เช่น โรคหวัดภูมิแพ้ โรคกรดไหลย้อน ริดสีดวงจมูก ผนังกั้นจมูกคด เบาหวาน เอดส์ เป็นต้น
แพทย์จะพิจารณาทำการรักษาด้วยการผ่าตัดในรายที่ใช้ยาไม่ได้ผล หรือตรวจพบว่าเกิดจากเชื้อรา หรือมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง การผ่าตัดมีอยู่หลายวิธี รวมทั้งการผ่าตัดด้วยวิธีส่องกล้อง
การวินิจฉัย
แพทย์มักจะวินิจฉัยจากอาการแสดงเป็นสำคัญ ในกรณีที่เป็นไซนัสอักเสบเฉียบพลัน อาจใช้นิ้วกดหรือเคาะตรงบริเวณใบหน้าตรงตำแหน่งที่ปวด (ที่พบได้บ่อย ก็คือบริเวณใต้ตา หรือโหนกแก้ม) จะพบว่ามีอาการเจ็บ
ในกรณีที่อาการไม่ชัดเจน หรือมีภาวะอื่นร่วมด้วย หรือสงสัยเกิดจากสาเหตุอื่น อาจต้องทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น ตรวจอัลตราซาวนด์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ใช้กล้องส่องตรวจไซนัสและกระเพาะอาหาร ทำการเจาะไซนัสนำหนองไปตรวจหาเชื้อ เป็นต้น
- อ่าน 49,809 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้