นิ่วน้ำดี
ผู้ที่เป็นนิ่วน้ำดีจำนวนไม่น้อยจะไม่มีอาการแสดง (รู้สึกปกติเหมือนคนทั่วไป ทั้งนี้อาจเป็นก้อนนิ่วขนาดเล็ก หรือฝังตัวอยู่ลึกในก้นถุงน้ำดี) และมักจะตรวจพบโดยบังเอิญเมื่อแพทย์ทำการตรวจเช็กสุขภาพทั่วไป หรือตรวจหาโรคอื่น ในรายที่ก้อนนิ่วออกมาอุดกั้นตรงบริเวณท่อน้ำดี ก็จะมีอาการปวดท้องเฉียบพลันและรุนแรง (อาจมีลักษณะปวดบิดเกร็ง) ตรงบริเวณใต้ชายโครงขวาและลิ้นปี่ อาจปวดร้าวไปที่ไหล่ขวา และใต้สะบักขวา และอาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย อาการปวดท้องมักเกิดหลังกินอาหารมัน หรือตอนกลางดึก แต่ละครั้งจะปวดนาน 15-30 นาที บางคนอาจนาน 2-6 ชั่วโมง และจะทุเลาไปเอง เมื่อเว้นไปนาน เป็นแรมสัปดาห์แรมเดือนหรือแรมปี ก็อาจกำเริบได้อีก (ถ้าปวดท้องทุกวัน มักจะไม่ใช่เป็นนิ่วน้ำดี) บางคนอาจมีอาการจุกแน่น ท้องอืด ท้องเฟ้อ มีลมในท้อง หลังกินอาหารมัน เป็นๆ หายๆ เรื้อรัง
การดำเนินโรค
ในรายที่เป็นนิ่วน้ำดีชนิดไม่มีอาการ จะรู้สึกสบายดี และไม่มีภาวะแทรกซ้อน ผู้ป่วยกลุ่มนี้โดยเฉลี่ยทุกๆ 100 คน จะมีอาการปวดท้องเกิดขึ้นประมาณปีละ 1-2 คน ส่วนในรายที่เป็นนิ่วน้ำดีชนิดมีอาการ หากปล่อยทิ้งไว้ไม่รักษา ก็อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ดังกล่าวข้างต้นตามมาในภายหลัง ส่วนผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัด หลังผ่าตัดมักจะหายเป็นปกติ ยกเว้นบางรายอาจมีอาการถ่ายเหลวบ่อย ซึ่งจะค่อยๆ ทุเลาไปได้เองเป็นส่วนใหญ่
ภาวะแทรกซ้อน
ถ้าเป็นนิ่วน้ำดีชนิดไม่มีอาการ มักจะไม่มีภาวะแทรกซ้อนอะไรตามมา แต่ถ้ามีอาการปวดท้องเนื่องเพราะนิ่วน้ำดี หากปล่อยไว้อาจทำให้เกิดโรคถุงน้ำดีอักเสบ หรือท่อน้ำดีอักเสบ (มีไข้ หนาวสั่น ปวดท้องรุนแรง ดีซ่าน) บางรายอาจเกิดโรคตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน (มีไข้ ปวดท้องรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน) นอกจากนี้ ยังอาจกลายเป็นมะเร็งถุงน้ำดี แม้ว่าผู้ที่เป็นมะเร็งถุงน้ำดี มักตรวจพบว่าเป็นนิ่วน้ำดีร่วมด้วยถึงร้อยละ 75-90 แต่ผู้ที่เป็นนิ่วน้ำดีส่วนใหญ่จะไม่กลายเป็นมะเร็งถุงน้ำดีตามมา
การแยกโรค
อาการปวดตรงบริเวณเหนือสะดือ (ใต้ชายโครงและลิ้นปี่) อาจมีสาเหตุจากโรคอื่นๆ เช่น
- โรคแผลในกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กส่วนต้น (แผลเพ็ปติก) จะมีอาการแสบท้องเวลาหิวและจุกแน่นเวลาอิ่ม นานครั้งละ 30-60 นาที มักเป็นอยู่ทุกวันหรือทุกมื้อ เมื่อกินยาต้านกรดจะทุเลาได้
- โรคน้ำย่อยไหลกลับ (โรคเกิร์ด) จะมีอาการแสบตรงลิ้นปี่นานเกือบตลอดวัน และอาจเรอเปรี้ยวขึ้นไปที่ลำคอมักเป็นหลังกินอาหารมัน กาเฟอีน แอลกอฮอล์ ช็อกโกแลต น้ำคั้นผลไม้เปรี้ยว หรือเวลากินอิ่มจัดๆ หรือนอนราบหลังกินข้าวใหม่ๆ
- โรคตับ (เช่น ตับอักเสบ ตับแข็ง) จะมีอาการจุกแน่นใต้ชายโครงขวา อ่อนเพลีย ตาเหลือง ตัวเหลือง (ดีซ่าน) มักเป็นติดต่อกันนานหลายวัน
- ถุงน้ำดีอักเสบ จะมีไข้สูง หนาวสั่น ดีซ่าน ปวดและกดเจ็บตรงใต้ชายโครงขวา
- โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ จะมีอาการจุกลิ้นปี่ และปวดร้าวขึ้นไปที่คอ ขากรรไกร ไหล่หรือต้นแขน นาน 2-5 นาที มักเป็นหลังออกแรง เครียดหลังกินอิ่ม หรือสูบบุหรี่ มักพบในคนอายุมากกว่า 40-50 ปี หรือในคนที่เป็นโรคเบาหวาน ความดันเลือดสูง ไขมันในเลือดสูง คนอ้วน หรือคนที่สูบบุหรี่จัด
- อ่าน 19,217 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้