เป็นลม
อาการเป็นลมเกิดจากเซลล์สมองมีเลือดไปเลี้ยงน้อยลงชั่วขณะ มีสาเหตุได้หลายประการ ขึ้นกับชนิดของอาการเป็นลมดังนี้
1. เป็นลมธรรมดา
เป็นชนิดที่พบได้บ่อยที่สุดคือ พบได้ประมาณครึ่งหนึ่งของอาการเป็นลมทั้งหมด เป็นภาวะที่ไม่รุนแรง มักเกิดกับคนหนุ่มสาว (แต่คนวัยอื่นก็พบได้) ผู้ป่วยจะเป็นคนที่สุขภาพแข็งแรงดี ไม่มีโรคประจำตัวอะไร ขณะเกิดอาการเป็นลมผู้ป่วยมักจะอยู่ในท่ายืน อาจมีประวัติว่าอยู่ในที่ที่มีคนแออัด อากาศร้อนอบอ้าว หรืออยู่กลางแดด บางคนอาจมีประวัติว่าอดนอน หิวข้าว ร่างกายเหนื่อยล้า หรือยืนนานๆ บางคนอาจมีอารมณ์เครียด กลัว ตกใจ กลัวเจ็บ (เช่นถูกเจาะเลือด) หรือกลัวเห็นเลือด เป็นต้น อาการเป็นลมชนิดนี้เป็นผลมาจากร่างกายมีปฏิกิริยาทำให้เลือดขึ้นไปเลี้ยงสมองได้น้อยลง
2. เป็นลมเนื่องจากกิริยาบางอย่าง
เช่น ขณะกลืนอาหาร ไอรุนแรง เบ่งถ่ายปัสสาวะหรืออุจจาระ หลังกินอาหาร หันคอ โกนหนวด (ด้วยเครื่องโกนหนวดไฟฟ้า) ใส่เสื้อคอคับ เป็นต้น ส่งผลให้ร่างกายเกิดปฏิกิริยาทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองได้น้อยลง
3. เป็นลมเนื่องจากความดันต่ำในท่ายืน
ผู้ป่วยขณะอยู่ในท่านอนจะรู้สึกเป็นปกติดีแต่เมื่อลุกขึ้นยืนจะมีอาการหน้ามืดเป็นลมทันที เนื่องจากความดันเลือดจะลดต่ำลงเมื่ออยู่ในท่ายืน สมองจึงขาดเลือดไปเลี้ยง มักพบในคนสูงอายุ ผู้ที่เป็นเบาหวานหรือโรคพิษสุราเรื้อรัง ผู้ที่กินยารักษาโรคความดันเลือดสูงหรือโรคหัวใจ ผู้ที่มีภาวะตกเลือด (มีเลือดออก ถ่ายอุจจาระดำ ประจำเดือนออกมาก) หรือมีภาวะขาดน้ำ (เช่น ท้องเดิน อาเจียน มีไข้สูง)
4. เป็นลมเนื่องจากโรคหัวใจ
ผู้ที่ป่วยเป็นโรคหัวใจ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน โรคลิ้นหัวใจตีบ โรคหัวใจล้มเหลว (ทำหน้าที่สูบฉีดได้น้อยลง) โรคกล้ามเนื้อหัวใจพิการ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นต้น บางครั้งบางคราวทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองได้น้อยลง เกิดอาการเป็นลมได้ ซึ่งจัดว่าเป็นภาวะที่ร้ายแรง และมักพบในคนอายุมาก
5. เป็นลมเนื่องจากโรคหลอดเลือดสมอง
ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของหลอดเลือดสมอง เช่น หลอดเลือดสมองตีบ เลือดออกในสมอง ก็อาจทำให้มีเลือดไปเลี้ยงสมองน้อยลง เกิดอาการเป็นลมได้
ผู้ป่วยอาจมีอาการเป็นลมจากสาเหตุข้อใดข้อหนึ่ง หรือมีหลายสาเหตุร่วมกันก็ได้ และบางคนอาจไม่พบสาเหตุชัดเจนก็ได้
- อ่าน 31,468 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้