เป็นลม
- ขณะมีอาการเป็นลม ควรให้การปฐมพยาบาลผู้ป่วยดังนี้
- จับผู้ป่วยนอนศีรษะต่ำ ปลดเสื้อผ้าและเข็มขัดให้หลวม เพื่อให้เลือดไปเลี้ยงสมองได้เร็วและพอเพียง
- ห้ามคนมุงดู เพื่อให้อากาศถ่ายเทสะดวก
- ใช้ผ้าเย็นๆ เช็ดตามหน้า คอและแขนขา
- ขณะที่ยังไม่ฟื้นห้ามให้น้ำและอาหารทางปาก
- เมื่อเริ่มรู้สึกตัว อย่าให้ผู้ป่วยลุกขึ้นนั่งทันที ควรให้พักต่ออีกสัก 15-20 นาที
- เมื่อผู้ป่วยฟื้นคืนสติดีแล้ว และเริ่มกลืนได้ อาจให้ผู้ป่วยดื่มน้ำ (ถ้ารู้สึกกระหายน้ำ) หรือให้ดื่มน้ำหวาน (ถ้ารู้สึกหิว)
- ควรนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้
- ผู้ป่วยไม่ฟื้นภายใน 15 นาที
- ผู้ป่วยมีอายุมากกว่า 30 ปี
- มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันเลือดสูง ไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจ เป็นต้น
- มีอาการเจ็บหน้าอก ใจสั่น หายใจหอบเหนื่อย ปวดท้อง ปวดหลัง ปวดศีรษะ วิงเวียน ตาเห็นภาพซ้อน พูดอ้อแอ้ กลืนลำบาก เดินเซ หรือแขนขนชา หรืออ่อนแรง
- มีอาการตกเลือด เช่น อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายอุจจาระดำ มีบาดแผลเลือดออก เป็นต้น
- มีภาวะขาดน้ำ อาเจียนรุนแรง ท้องเดินรุนแรงหรือไข้สูง
- เมื่อแพทย์ตรวจพบว่ามีสาเหตุจากโรคหัวใจ หรือโรคหลอดเลือดสมอง ผู้ป่วยควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ กินยาตามแพทย์สั่งและติดตามการรักษากับแพทย์อย่างต่อเนื่อง
- ผู้ที่เป็นลมบ่อยควรหลีกเลี่ยงการขับรถ การทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร และการปีนขึ้นที่สูง เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุขณะเป็นลม
การป้องกัน
การป้องกันไม่ให้มีอาการเป็นลมซ้ำ ผู้ป่วยควรปฏิบัติดังนี้
- หลีกเลี่ยงเหตุกระตุ้น เช่น อดนอน อดข้าว อยู่ในที่ที่แออัดหรือร้อนอบอ้าว การใส่เสื้อคอคับ เป็นต้น
- ดื่มน้ำให้มากๆ อย่าให้ร่างกายขาดน้ำ
- ลุกจากท่านอนอย่างช้าๆ ควรลุกนั่งพักสักครู่ก่อนจะลุกขึ้นยืน
- ถ้าเกิดจากโรคหัวใจหรือโรคหลอดเลือดสมองควรปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์ กินยาและติดตามรักษากับแพทย์อย่างต่อเนื่อง
การป้องกันอาจได้ผลดีในรายที่มีสาเหตุไม่รุนแรง แต่ถ้าเป็นโรคในระยะรุนแรง ก็อาจมีอาการเป็นลมซ้ำซากได้
- อ่าน 31,925 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้