การรักษาด้วยยาต้านไวรัส โดยการใช้ยาต้านไวรัสอย่างน้อย 3 ชนิดร่วมกันที่เรียกว่า highly active antiretroviral therapy (HAART) นำไปสู่การรักษาการติดเชื้อเอชไอวีในระดับที่ควบคุมจนไม่สามารถตรวจพบไวรัสในกระแสเลือด (undetectable level) ทำให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีมีภูมิต้านทานดีขึ้นหรือจำนวน CD4 สูงขึ้น อุบัติการณ์ของโรคติดเชื้อฉวยโอกาสลดลง อัตราตายลดลง และมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น. อย่างไรก็ตามเนื่องจากการมีชีวิตยืนยาวขึ้นของผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ จึงมีการพบอุบัติการณ์ของภาวะอื่นๆ เพิ่มขึ้นเช่น โรคมะเร็ง กลุ่มอาการที่แสดงความผิดปกติของเมตาบอลิซึม (metabolic syndrome) รวมไปถึงโรคหลอดเลือดหัวใจและความผิดปกติของกระดูก เป็นต้น ในบทความนี้จะทบทวนความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับโรคมะเร็งในผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ที่เป็นผู้ใหญ่
โรคมะเร็งในผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือ โรคมะเร็งที่เกี่ยวข้องกับภาวะเอดส์ (AIDS-related malignancies) ซึ่งได้แก่ Kaposi's sarcoma มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด Non-Hodgkins (Non-Hodgkin's lymphoma; NHL) มะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่ระบบประสาทส่วนกลางชนิดปฐมภูมิ (primary central nervous system lymphoma) และมะเร็งปากมดลูก และกลุ่มที่ 2 คือ โรคมะเร็งที่ไม่เกี่ยวข้องกับภาวะเอดส์ (Non-AIDS-related malignancies) ซึ่งหมายถึง โรคมะเร็งอื่นๆ (ตารางที่ 1) ผู้ติดเชื้อเอชไอวีมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งทั้ง 2 กลุ่ม ชนิด อาการและอาการแสดง (spectrum) ของโรคมะเร็งในผู้ติดเชื้อเอชไอวีมีการเปลี่ยน แปลงตลอดเวลาเนื่องจากมีการใช้ยาต้านไวรัส ดังนั้น การดำเนินโรคและการรักษาโรคมะเร็งโดยเฉพาะโรคมะเร็งที่เกี่ยวข้องกับภาวะเอดส์ จึงต้องมีการคำนึงถึงบทบาทของยาต้านไวรัสด้วย
มีการพบ Kaposi's sarcoma (KS) ตั้งแต่ในช่วงแรกที่มีการรายงานการระบาดของโรคเอดส์เมื่อปี พ.ศ. 2524 และถือว่าเป็นโรคที่บ่งชี้ของการเป็นเอดส์ (AIDS-defining illness) อย่างหนึ่งในเกณฑ์การวินิจฉัยเอดส์ของศูนย์ป้องกันและควบคุมโรค (Centers for Disease Control and Prevention; CDC) ต่อมาในปี พ.ศ. 2534 มีการรายงานการใช้ยาเพื่อป้องกัน Pneumocystis jiroveci pneumonia (PCP) ทำให้พบโรคติดเชื้อฉวยโอกาสนี้ลดลง และพบว่าโรคฉวยโอกาสที่พบบ่อยที่สุดในผู้ป่วยเอดส์ ช่วงนั้นคือ โรคมะเร็ง ซึ่งพบสูงถึงร้อยละ 40 จึงได้มีการเพิ่มมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด Non-Hodgkin's และมะเร็งปากมดลูกชนิดลุกลาม (invasive cervical carcinoma) เป็นภาวะที่บ่งชี้ว่าเป็นเอดส์ด้วยตามนิยามของ CDC.
หลังจากที่มีการใช้ยาต้านไวรัสชนิด HAART เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2534 อุบัติการณ์ของการเกิดโรคฉวยโอกาสและ Kaposi's sarcoma ลดลงอย่างมาก แต่มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด Non-Hodgkin's และโรคมะเร็งอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับภาวะเอดส์ไม่ลดลง ในทางตรงข้าม โรคมะเร็งบางชนิดที่ไม่เกี่ยวข้องกับภาวะเอดส์เพิ่มขึ้นเช่น มะเร็งปอด มะเร็งผิวหนังและมะเร็งเม็ดเลือดขาว (leukemia) เป็นต้น และยังพบว่าโรคมะเร็งเป็นสาเหตุการตายที่พบบ่อยที่สุดในผู้ป่วยเอดส์ (ร้อยละ 28) ในยุคของการที่มียาต้านไวรัสชนิด HAART แสดงดังตารางที่ 1
ในประเทศกำลังพัฒนาหรือประเทศยากจนไม่มีการรักษาด้วยยาต้านไวรัสชนิด HAART อย่างแพร่หลาย ดังนั้นข้อมูลของโรคมะเร็งในผู้ติดเชื้อเอชไอวีจึงอาจจะมีความแตกต่างจากประเทศที่พัฒนาแล้ว จากการศึกษาที่โรงพยาบาลรามาธิบดีความชุกของโรคมะเร็งในผู้ติดเชื้อเอชไอวีเท่ากับร้อยละ 3 (42 รายจากผู้ติดเชื้อเอชไอวีทั้งหมด 1,416 ราย) ในช่วงตั้งแต่ พ.ศ. 2542-2546 ซึ่งต่ำกว่าความชุกของประเทศตะวันตก ผู้ติดเชื้อร้อยละ 50 เป็นเพศชาย อายุเฉลี่ยเมื่อได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งประมาณ 50 ปี ค่ากลาง (median) ของจำนวน CD4 เท่ากับ 235 (8-739) เซลล์/ลบ.มม. ผู้ป่วยร้อยละ 40 ได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสขณะที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง โรคมะเร็งที่พบมากที่สุดคือ มะเร็งต่อม น้ำเหลืองชนิด Non-Hodgkin ในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับภาวะเอดส์ และมะเร็งเต้านมในกลุ่มที่ไม่เกี่ยวข้องกับภาวะเอดส์ ผู้ป่วยร้อยละ 26 เสียชีวิต ชนิดของมะเร็งที่พบในผู้ติดเชื้อเอชไอวีไทยแสดงดังตารางที่ 2
โรคมะเร็งที่เกี่ยวข้องกับภาวะเอดส์ (AIDS-related malignancies)
มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด Non-Hodgkin's และ Kaposi's sarcoma เป็นมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดในผู้ติด เชื้อเอชไอวี
Kaposi's sarcoma
Kaposi's sarcoma เป็นมะเร็งของเนื้อเยื่ออ่อน (soft tissue) ที่มีความรุนแรงต่ำ (low-grade) มีต้นกำเนิดมาจากหลอดเลือด (vascular) และมีความสัมพันธ์กับการติดเชื้อ human herpes virus 8 โดยผู้ที่มีภูมิต้านทานที่แสดงว่าเคยมีการติดเชื้อ human herpes virus 8 มาก่อน จะมีโอกาสการเกิด Kaposi's sarcoma ร้อยละ 50 ในระยะเวลา 10 ปี มะเร็งชนิดนี้มักพบในเพศชาย โดยในช่วงแรกของระบาดของการติดเชื้อเอชไอวี พบ Kaposi's sarcoma สูงถึง ร้อยละ 20-30 ในกลุ่มชายรักร่วมเพศ
อาการแสดงและการดำเนินโรคในผู้ติดเชื้อ เอชไอวีแต่ละรายมีความแตกต่างกัน กล่าวคือ อาจจะไม่มีอาการ (asymptomatic) หรืออาการรุนแรงจนทำให้ภาวะทุพพลภาพและเสียชีวิตได้ โดยปกติแล้วมักจะพบพยาธิสภาพที่ผิวหนัง แต่อาจจะพบที่บริเวณอื่นได้คือ ช่องปาก ปอดและระบบทางเดินอาหาร การพยากรณ์โรคขึ้นกับการกระจายของมะเร็ง ระบบภูมิคุ้มกัน (จำนวน CD4) และความรุนแรงของอาการตามระบบ กล่าวคือ ถ้าผู้ป่วยมีพยาธิสภาพที่ผิวหนังอย่างเดียว มีจำนวน CD4 มากกว่า 200 เซลล์/ลบ.มม. และไม่มีอาการแสดงของโรคติดเชื้อฉวยโอกาสอื่น ถือได้ว่ามีการพยากรณ์โรคดี
ในปัจจุบันยังไม่มีการรักษาที่ทำให้ Kaposi's sarcoma หายขาด จุดมุ่งหมายของการรักษาคือ การรักษาประคับประคอง (palliative) การลดขนาดและยับยั้งการเจริญเติบโตของมะเร็ง ยาต้านไวรัสชนิด HAART เป็นการรักษาแรกที่แนะนำในผู้ป่วยทุกราย เพราะสามารถทำให้ Kaposi's sarcoma ดีขึ้น ถ้าหลังจากการรักษาด้วยยาต้านไวรัสแล้ว 3-6 เดือน Kaposi's sarcoma เป็นมากขึ้นจึงพิจารณาการรักษาที่จำเพาะอื่น
การรักษาเฉพาะที่ได้แก่ การให้เคมีบำบัดที่ตำแหน่งที่มีพยาธิสภาพ การฉายแสง เลเซอร์ การใช้ความเย็น (cryotherapy) และการทาด้วย 9-cis- retinoic acid การรักษาด้วย liposomal anthracyclines ถือเป็นยาแรก (first-line agent) ที่แนะนำ ส่วน paclitaxel แนะนำให้เป็นยาสูตรที่ 2 (second-line)
มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด Non-Hodgkins
โดยทั่วไปแล้วผู้ติดเชื้อเอชไอวีมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด Non-Hodgkins 60-200 เท่าเมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้ติดเชื้อ มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนี้แบ่งได้เป็น 2 ชนิดคือ มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด Non-Hodgkins ที่เป็นตามระบบ (Systemic Non-Hodgkins lymphoma) และมะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่ระบบประสาทส่วนกลางชนิดปฐมภูมิ
อุบัติการณ์มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด Non-Hodgkins ที่เป็นตามระบบเพิ่มขึ้นผกผันกับระดับภูมิคุ้มกันของผู้ป่วย ร้อยละ 70-90 ของผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่เป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด Non-Hodgkins เป็น intermediate หรือ high-grade และเกือบทั้ง หมดเป็น diffuse large B cell (immunoblastic variant) หรือ Burkitt's-like lymphoma ผู้ติดเชื้อ เอชไอวีมักจะมาด้วยอาการของ B (systemic B symptoms) ซึ่งได้แก่ไข้ น้ำหนักลด เหงื่อออกตอนกลางคืน ประมาณ 2 ใน 3 จะมีพยาธิสภาพที่นอกต่อมน้ำเหลืองเช่น ระบบทางเดินอาหาร ไขกระดูก ตับและปอด ผู้ป่วยร้อยละ 3-20 จะมี lymphomatous meningitis ร่วมด้วยและอาจจะไม่มีอาการ ดังนั้นจึงแนะนำให้เจาะหลังผู้ป่วยกลุ่มนี้ทุกราย อาการและอาการแสดงของผู้ป่วยกลุ่มนี้ไม่มีความแตกต่างกันระหว่างยุคก่อนและหลังการใช้ยาต้านไวรัสชนิด HAART
การตัดชิ้นเนื้อ (tissue biopsy) เพื่อตรวจทางพยาธิวิทยามีความจำเป็นในการวินิจฉัย แต่ในบางกรณีอาจจะวินิจฉัยได้จาก fine needle aspiration และการส่งตรวจทางเซลล์วิทยา (cytology) หลังจากที่ผู้ป่วยได้รับการยืนยันการวินิจฉัยแล้ว จะต้องมีการประเมินการกระจายของโรคและระยะ (staging) โดยการเจาะหลังเพื่อส่งน้ำไขสันหลังตรวจทางเซลล์วิทยา การเจาะไขกระดูก และการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ของช่องอก ช่องท้อง/อุ้งเชิงกราน และสมอง
การรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด Non-Hodgkins ที่เป็นตามระบบในผู้ติดเชื้อเอชไอวียังไม่มีข้อตกลงที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม การรักษาโรคมะเร็งนี้ควรให้ร่วมกับยาต้านไวรัสและยาป้องกันโรคติดเชื้อฉวยโอกาสอื่นๆ
ผู้ป่วยจะมีการพยากรณ์โรคโดยรวมต่ำทั้งๆ ที่ตอบสนองต่อยาเคมีบำบัดในช่วงแรกดี ผู้ป่วยร้อยละ 50 มีการรอดชีวิต (median survival) น้อยกว่า 1 ปี และมักจะเสียชีวิตจากตัวโรคมะเร็งเองที่ลุกลามมากขึ้น (progression) หรือการกลับเป็นใหม่ (recurrence) หรือจากโรคติดเชื้อฉวยโอกาส
มะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่ระบบประสาทส่วนกลางชนิดปฐมภูมินั้นพบในผู้ติดเชื้อเอชไอวีได้บ่อยกว่าประชากรทั่วไป (ประมาณร้อยละ 15 เทียบกับร้อยละ 1) การพบอุบัติการณ์ที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากผู้ติดเชื้อ เอชไอวีมีชีวิตยืนยาวขึ้น. ผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่เป็นมะเร็ง ชนิดนี้จะมีภูมิคุ้มกันต่ำกว่ามะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดที่เป็นตามระบบ ลักษณะเซลล์มักเป็นชนิด large cell หรือ large cell immunoblastic types ที่มีต้นกำเนิดจาก B-cell
การรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่ระบบประสาทส่วนกลางชนิดปฐมภูมิคือ การฉายแสงร่วมกับการให้สเตียรอยด์ ผู้ป่วยมีการพยากรณ์โรคไม่ดี ร้อยละ 50 มีการรอดชีวิต 2-3 เดือนถ้าไม่ได้รักษาและ 6-8 เดือน ถ้าได้รับการรักษา เหตุผลเนื่องจากผู้ป่วยส่วนมากในกลุ่มนี้มีภูมิคุ้มกันหรือจำนวน CD4 ที่ต่ำมาก
มะเร็งปากมดลูก
มีการรายงานมะเร็งปากมดลูกในผู้ติดเชื้อเอชไอวีเพศหญิงมากกว่าที่คาดไว้ ในช่วงแรกผู้ป่วยทั้งหมดเสียชีวิตที่ค่าเฉลี่ย 10 เดือน ด้วยเหตุผลนี้จึงเพิ่ม cervical dysplasia ชนิดรุนแรงปานกลาง (moderate) และรุนแรงมาก (severe) เป็นภาวะที่บ่งชี้ว่าผู้ติดเชื้อเอชไอวีมีอาการ (category B) และมะเร็งปากมดลูกชนิดลุกลามเป็นภาวะที่บ่งชี้ว่าเป็นเอดส์ (category C)
ปัจจุบันเชื่อว่ามีความสัมพันธ์กันระหว่างการติดเชื้อ human papilloma virus และมะเร็งหลายชนิดของระบบสืบพันธุ์ซึ่งรวมไปถึง ปากมดลูก ทวารหนัก ช่องคลอด อวัยวะเพศชาย และผิวหนังรอบๆ ทวารหนัก ดังนั้นผู้ติดเชื้อเอชไอวีเพศหญิงทุกรายควรได้รับการตรวจมะเร็งปากมดลูก (Pap smear) ตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อเอชไอวีและตรวจซ้ำอย่างน้อยปีละครั้ง
การรักษามะเร็งปากมดลูกในผู้ติดเชื้อเอชไอวีของหลายสถาบันเหมือนกับในผู้ที่ไม่ติดเชื้อ อย่างไรก็ตาม ผู้ติดเชื้อเอชไอวีมักจะมีอาการแสดงที่รุนแรง ตอบสนองต่อการรักษาด้อยกว่าและมีอัตราการรอดชีวิตน้อยกว่า
โรคมะเร็งที่ไม่เกี่ยวข้องกับภาวะเอดส์ (Non-AIDS-related malignancies)
โรค Hodgkin's
ผู้ป่วยเอดส์มีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งชนิดนี้มากกว่าประชากรทั่วไป 3-16 เท่า และมักพบใน ผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ใช้ยาเสพติดชนิดฉีดมากกว่าที่เป็นชายรักร่วมเพศ พยาธิวิทยาที่พบในโรค Hodgkin's มีความแตกต่างกันระหว่างผู้ติดเชื้อและไม่ติดเชื้อ เอชไอวีในประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวคือ ผู้ติดเชื้อเอชไอวีส่วนใหญ่เป็น mixed cellularity subtype เมื่อเทียบกับ nodular sclerosis ที่พบในผู้ที่ไม่ติดเชื้อ การมีเซลล์ fibrohistiocytic stromal ในเนื้อเยื่อเ ป็นลักษณะเฉพาะที่พบในผู้ติดเชื้อเอชไอวี.
อาการแสดงทางคลินิกและการตอบสนองต่อการรักษาในผู้ติดเชื้อเอชไอวีมีความแตกต่างจากผู้ที่ไม่ติดเชื้อ กล่าวคือ ผู้ติดเชื้อเอชไอวีมักจะมาด้วยอาการของ B และร้อยละ 75-90 จะมีการกระจายของโรคนอกจากที่ต่อมน้ำเหลือง และพบพยาธิสภาพที่ไขกระดูกร้อยละ 40-50
ในช่วงยุคก่อนที่จะมียาต้านไวรัสชนิด HAART การใช้ยาเคมีบำบัดหลายชนิดร่วมกันที่ใช้รักษาในผู้ที่ไม่ติดเชื้อเอชไอวีสามารถทำให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่เป็น มะเร็งชนิดนี้หายได้มากน้อยแตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาของการมีชีวิตสั้น (ร้อยละ 50 ของผู้ป่วยเสียชีวิตที่ 12-18 เดือน) สาเหตุการเสียชีวิตคือ การติดเชื้อแบคทีเรียหรือการติดเชื้อฉวยโอกาสอื่นในระหว่างที่มีเม็ดเลือดขาวต่ำจากยาเคมีบำบัด
มะเร็งของอวัยวะสืบพันธ์และก้น (anogenital malignancy)
มีอุบัติการณ์เพิ่มขึ้นของทั้ง squamous intraepithelial lesions และมะเร็งทวารหนักในผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่เป็นชายรักร่วมเพศ
มะเร็งปอด
ผู้ติดเชื้อเอชไอวีมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปอดมากกว่าประชากรทั่วไปประมาณ 4-14 เท่า พบชนิด adenocarcinoma บ่อยที่สุด และอุบัติการณ์ของมะเร็งหลอดลม (bronchogenic carcinoma) อาจจะเพิ่มขึ้นด้วย มะเร็งปอดนี้พบได้ในผู้ติดเชื้อเอชไอวีทุกกลุ่มแม้ว่าจะพบมากที่สุดในกลุ่มผู้ที่ใช้ยาเสพติดชนิดฉีด พยาธิกำเนิดที่แท้จริงยังไม่ทราบอาจจะอธิบายได้จากการที่ติดเชื้อเอชไอวี ทำให้มีภูมิต้าน ทานต่ำลงและเกิดการกระตุ้นเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดมะเร็ง อย่างไรก็ตาม มะเร็งปอดนี้สามารถพบได้ในผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีจำนวน CD4 สูงด้วย
ความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งปอดในผู้ติดเชื้อเอชไอวีคือ การสูบบุหรี่ อาการและอาการแสดงเหมือน กับผู้ป่วยกลุ่มอื่น แต่ผู้ติดเชื้อเอชไอวีนั้นมักจะมีอาการของโรคมะเร็งรุนแรงแล้ว เมื่อได้รับการวินิจฉัย การรักษาด้วยยาเคมีบำบัดนั้นพิจารณาเป็นกรณีเนื่องจากมีการรอดชีวิตต่ำ
มะเร็งเต้านม
มี 2 ประเด็นสำคัญของมะเร็งเต้านมคือ ปัญหาทางเศรษฐฐานะและสังคมทำให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีเพศหญิงไม่ได้รับการคัดกรองโรคด้วย mammography ที่เพียงพอ ภาวะภูมิคุ้มกันที่ต่ำไม่ได้เป็นตัวกระตุ้นการเจริญของมะเร็งเต้านม
มะเร็งผิวหนัง
พบอุบัติการณ์ของมะเร็งผิวหนังชนิด basal cell carcinoma เพิ่มมากขึ้นในผู้ติดเชื้อเอชไอวี ส่วนมะเร็งผิวหนังอื่นที่อาจจะพบได้คือ squamous cell carcinoma และ melanoma ความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งผิวหนัง 2 ชนิดหลังนี้ ในผู้ติดเชื้อเอชไอวีเหมือนกับในผู้ที่ไม่ติดเชื้อ
มะเร็งที่ศีรษะและคอ
ผู้ติดเชื้อเอชไอวีเพศชายส่วนใหญ่ที่เป็น squamous cell carcinoma บริเวณศีรษะและคอมักจะเป็นชายรักร่วมเพศ อุบัติการณ์อาจจะเพิ่มขึ้นในผู้ติดเชื้อเอชไอวีเมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ติดเชื้อและมักจะแสดงอาการที่อายุน้อยกว่า การรักษานั้นมักจะพบภาวะแทรกซ้อนได้บ่อยและผลการรักษาไม่ดีเมื่อเทียบกับ ผู้ที่ไม่ติดเชื้อ
มะเร็งอัณฑะ (testicular neoplasms)
อุบัติการณ์ของมะเร็งอัณฑะชนิด germ cell และ seminomas เพิ่มขึ้นในผู้ติดเชื้อเอชไอวีเมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ติดเชื้อ การรักษาโดยทั่วไปเหมือนผู้ที่ไม่ติดเชื้อ ส่วนใหญ่มีการตอบสนองต่อการรักษาดีและสามารถหายขาด (cure) แม้ว่าอัตราการรอดชีวิตในระยะยาวขึ้นกับการติดเชื้อเอชไอวีเอง จากการรายงานผู้ป่วย 26 ราย มีชีวิตรอดที่ 3 ปีเท่ากับร้อยละ 65 และมีอัตราการรอดชีวิตที่ปลอดจากโรค (disease free survival) ร้อยละ 65 เช่นกัน
มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก (colorectal cancer)
มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักอาจจะเพิ่มขึ้นในผู้ติดเชื้อเอชไอวี และอาจพบได้ในผู้ป่วยที่มีอายุน้อยกว่าและรุนแรงกว่าเมื่อเทียบกับประชากรทั่วไป พบว่ามีขนาดของพยาธิสภาพใหญ่และรุนแรงกว่า
Multiple myeloma
พบความผิดปกติของ plasma cell โดยเฉพาะ paraproteinemia เพิ่มขึ้นในผู้ติดเชื้อเอชไอวี อายุเฉลี่ยของผู้ป่วยคือ 33 ปี ซึ่งน้อยกว่าประชากรทั่วไป ภาวะ paraproteinemia อาจพบเพียงชั่วคราวหรือถาวรแต่การพบภาวะนี้อย่างถาวรไม่ได้มีความสัมพันธ์กับการเกิดความผิดปกติของ plasma cell หรือมะเร็งของ B-cell นอกจากนี้ยังมีรายงานภาวะอื่นเช่น reactive plasmacytosis, gammopathies
สรุป
โรคมะเร็งสามารถพบได้ในผู้ติดเชื้อเอชไอวีทั้งโรคมะเร็งที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับภาวะเอดส์ ชนิดของมะเร็งที่พบได้บ่อยในผู้ติดเชื้อเอชไอวีในต่างประเทศคือ มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด Non-Hodgkins และ Kaposi's sarcoma ส่วนที่พบบ่อยในผู้ป่วยไทยคือ มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด Non-Hodgkins และมะเร็งปากมดลูก อย่างไรก็ตามความชุกของโรคมะเร็ง ในผู้ติดเชื้อเอชไอวีไทยต่ำ อาจเป็นเพราะผู้ป่วยไม่ได้รับการวินิจฉัยและแพทย์ผู้ดูแลรักษาไม่นึกถึงหรือไม่ให้ความสนใจ การรักษาทั้งการติดเชื้อเอชไอวีด้วยยาต้านไวรัสชนิด HAART และ/หรือการรักษาโรคมะเร็ง รวมไปถึงพิจารณาการคัดกรองโรคมะเร็งบางชนิดในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยง อาจจะป้องกันการเกิดมะเร็ง ทำให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่เป็นโรคมะเร็งมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้นและมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น
เอกสารอ้างอิง
1. Palella FJJ, Delaney KM, Moorman AC, et al. Declining morbidity and mortality among patients with advanced human immunodefi- ciency virus infection. HIV Outpatient Study Investigators. N Engl J Med 1998;338:853-60.
2. Centers for Disease Control and Prevention. 1993 Revised classification system for HIV infection and expanded surveillance case definition for AIDS among adolescents and adults. JAMA 1993;269:729-30.
3. Friedman-Kien AE, Laubenstein LJ, Rubinstein P, et al. Disseminated Kaposis sarcoma in homosexual men. Ann Intern Med 1982;96:693-700.
4. Peters BS, Beck EJ, Coleman DG, et al. Changing disease patterns in patients with AIDS in a referral centre in the United Kingdom: the changing face of AIDS. BMJ 1991;302:203-7.
5. Ledergerber B, Telenti A, Egger M. Risk of HIV related Kaposis sarcoma and non-Hodgkins lymphoma with potent antiretroviral therapy : prospective cohort study. Swiss HIV Cohort Study. BMJ 1999;319:23-4.
6. Ledergerber B, Egger M, Erard V, et al. AIDS-related opportunistic illnesses occurring after initiation of potent antiretroviral therapy: the Swiss HIV Cohort Study. JAMA 1999;282:2220-6.
7. Clifford GM, Polesel J, Rickenbach M, et al. Cancer risk in the Swiss HIV Cohort Study : associations with immunodeficiency, smoking, and highly active antiretroviral therapy. J Natl Cancer Inst 2005;97:425-32.
8. Besson C, Goubar A, Gabarre J, et al. Changes in AIDS-related lymphoma since the era of highly active antiretroviral therapy. Blood 2001;98:2339-44.
9. Chiao EY, Krown SE. Update on non-acquired immunodeficiency syndrome-defining malignancies. Curr Opin Oncol 2003;15:389-97.
10. Bonnet F, Lewden C, May T, et al. Malignancy-related causes of death in human immuno- deficiency virus-infected patients in the era of highly active antiretroviral therapy. Cancer 2004;101:317-24.
11. Kiertiburanakul S, Likhitpongwit S, Ratanasiri S, Sungkanuparph S. Malignancies in HIV- infected Thai patients. HIV Med 2007;8:322-3.
12. Clarke CA, Glaser SL. Population-based surveillance of HIV-associated cancers: utility of cancer registry data. J Acquir Immune Defic Syndr 2004;36:1083-91.
13. Martin JN, Ganem DE, Osmond DH, et al. Sexual transmission and the natural history of human herpesvirus 8 infection. N Engl J Med 1998;338:948-54.
14. Krown SE, Metroka C, Wernz JC. Kaposis sarcoma in the acquired immune deficiency syndrome: a proposal for uniform evaluation, response, and staging criteria. AIDS Clinical Trials Group Oncology Committee. J Clin Oncol 1989;7:1201-7.
15. Hermans P. Kaposis sarcoma in HIV-Infected patients : treatment options. HIV Med 2000;1:137-42.
16. Bower M, Palmieri C, Dhillon T. AIDS-related malignancies : changing epidemiology and the impact of highly active antiretroviral therapy. Curr Opin Infect Dis 2006;19:14-9.
17. Maiman M, Fruchter RG, Serur E, et al. Human immunodeficiency virus infection and cervical neoplasia. Gynecol Oncol 1990;38:377-82.
18. Grulich AE, Wan X, Law MG, Coates M, Kaldor JM. Risk of cancer in people with AIDS. AIDS 1999;13:839-43.
19. Pantanowitz L, Schlecht HP, Dezube BJ. The growing problem of non-AIDS-defining malignancies in HIV. Curr Opin Oncol 2006;18:469-78.
ศศิโสภณ เกียรติบูรณากุล พ.บ. ผู้ช่วยศาสตราจารย์
หน่วยโรคติดเชื้อระบาดวิทยาและเวชศาสตร์ชุมชน
ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล
- อ่าน 23,044 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้