"โคไง" ในภาษาญี่ปุ่นแปลว่า "มลพิษต่อมหาชน" คำนี้เตือนใจให้รำลึกถึง ผู้ป่วย...โรค "อีไต อีไต" โรค "มินามาตะ" เมื่อกว่า 30 ปีมาแล้วในประเทศญี่ปุ่น
เมื่อพ.ศ. 2507 ครั้งที่โตเกียวเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน คนญี่ปุ่นเดินถนนโดยต้องสวมหน้ากากป้องกันมลพิษ มินามาตะเป็นโรคพิษสารปรอทที่ทำให้คนญี่ปุ่นนับพันพิกลพิการจากระบบประสาทถูกทำลายรุนแรง นับเป็นตัวอย่างหายนะทางสิ่งแวดล้อมที่ลือเลื่องไปทั่วโลก
วันนี้ โรคดังกล่าวได้กลายเป็นความทรงจำในอดีต นครโตเกียวได้กลายเป็นมหานครที่สะอาดที่สุดแห่งหนึ่งของโลก จนสามารถมองเห็นยอดภูเขาไฟฟูจิยาม่าแต่ไกล เบื้องหลังการพลิกผันชะตากรรมบ้านเมืองจากดำเป็นขาวเช่นนี้ ได้แก่ ความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย และความตื่นตัวต่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
กฎหมายอันศักดิ์สิทธิ์จึงเป็นสัญลักษณ์ของสังคมที่พัฒนาแล้ว ความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายมีหลายมิติ มิติที่ดร.พิเชษฐ เมาลานนท์ สมาชิกทีมวิจัยปัญหาตุลาการศาสตร์ เผยให้เห็นคือ บทบาทของตุลาการในการวางนโยบายสาธารณะ
คำพิพากษาในกรณีโรคมินามาตะนับเป็นตัวอย่างแบบฉบับ ที่น่าเรียนรู้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมที่ให้ ความสำคัญกับการตัดสินใจด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์ (ดูข้อความในกรอบ) โดยที่ศักยภาพในการแสวงหาหลักฐานแตกต่างกันมากระหว่างฝ่ายต่างๆที่มีส่วนได้เสีย
หลักกฎหมายใหม่ในเรื่องภาระนำสืบในคดีมลพิษ
ที่พัฒนาเป็น "ตุลาการวางนโยบายสาธารณะ" ในญี่ปุ่น
โดยศาลจังหวัดนีกาตะ ในคำตัดสินคดี Ono v. Showa Denko, 1971: 157
เรื่องโรคมินามาตะที่นีกาตะ ณ บริเวณแม่น้ำ "อะกาโน" Agano River
ศาลจังหวัดนีกาตะเห็นว่า - -
"ในคดีมลพิษที่เกี่ยวกับสารเคมีนั้น การเรียกให้ผู้เสียหายเป็นฝ่ายนำสืบ ในวิชาวิทยาศาสตร์ ย่อมไม่เหมาะสมในแง่ของความเป็นธรรม อันเป็นหลักพื้นฐานของระบบกฎหมายละเมิด ถ้าอาการของโรคใช้วิทยาศาสตร์อธิบายได้เป็นเหตุเป็นผล ว่าเพราะเหตุใดจึงเกิดขึ้นกับผู้ป่วย เพียงด้วยการรวบรวมพยานหลักฐานแวดล้อมกรณี เช่นนี้ จึงจะพิสูจน์ได้ในแง่กฎหมาย ตามหลักเหตุและผล แต่กรณีที่ใครๆ ก็ไม่อาจพิสูจน์อะไรได้มากไปกว่าข้อเท็จจริงที่ว่า จำเลยเป็นผู้ปล่อยมลพิษ เช่นนี้แล้ว ... ถ้าฝ่ายโรงงานพิสูจน์ไม่ได้ว่า ตนไม่ใช่ผู้ปล่อยมลพิษ ก็ย่อมต้องถือว่าโรงงานนั้น คือผู้ก่อให้เกิดโรค ขึ้นกับผู้ป่วย" จาก Taniguchi, 1976 : 50
คำพิพากษาศาลจังหวัดนีกาตะยกภาระในการแสวงหาหลักฐานว่าใครก่อมลพิษไปให้กับโรงงานอุตสาหกรรมนับเป็นก้าวกระโดดในกระบวนยุติธรรมที่คำนึงถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความต่างศักย์โรงงานกับชุมชนอย่างน่าสรรเสริญและมีผลยาวไกลต่อชะตากรรมของประเทศ ในด้านบวกทำให้อุตสาหกรรมในประเทศญี่ปุ่นสะอาดมากขึ้น สิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตคนญี่ปุ่นดีขึ้น ในด้านลบ ญี่ปุ่นถูกหลายประเทศตราหน้าว่าเป็นผู้ส่งออก โรงงานก่อมลพิษไปประเทศกำลังพัฒนา
กว่าที่สาธารณชนญี่ปุ่นจะได้อานิสงส์ของตุลาการภิวัตน์อันน่าสะดุดดี ต้องผ่านการต่อสู้ดิ้นรนอยู่ถึง 20 ปีโดยองค์กรระดับรากหญ้าทำหน้าที่เป็นปากเสียงแทนเหยื่อผู้อ่อนแอ เคลื่อนไหวปลุกกระแสสังคมผ่านสื่อมวลชนที่ร่วมรณรงค์อย่างกว้างขวาง แม้กระทั่งกระบวนการพิจารณาคดีก่อมลพิษอย่างมินามาตะก็ถูกเปิดเผยสู่สาธารณะ จนปัญหาสุขภาพจากมลพิษกลายเป็นวาระแห่งชาติ และสามารถโน้มน้าวจุดยืนของฝ่ายการเมือง และตุลาการ จากเดิมที่ยืนข้างอุตสาหกรรมมาอยู่ข้างประชาชน นำไปสู่การตรากฎหมายสิ่งแวดล้อมที่ควบคุมการปล่อยมลพิษของอุตสาหกรรมอย่างเข้มงวด และคำพิพากษาดังกล่าวข้างต้น
- อ่าน 3,063 ครั้ง
พิมพ์หน้านี้