วิทยาการสมัยใหม่มีเพิ่มขึ้นทุกวันในการดูแลรักษาผู้ป่วย บางครั้งแพทย์โดยเฉพาะแพทย์จบใหม่อาจมีปัญหาในการตอบคำถาม หรือสื่อสารกับผู้ป่วย ซึ่งบางครั้งอาจดูเหมือนเป็นคำถามง่ายๆ สั้นๆ แต่จะตอบให้เข้าใจตรงกันได้ยาก ถ้ามีแนวทางในการตอบคำถามและสื่อสารกับผู้ป่วยให้เข้าใจโรคของตนเอง ก็จะทำให้การดูแลรักษาผู้ป่วยเป็นไปอย่างสมบูรณ์และดียิ่งขึ้น
สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับ Floater
Q Floater สำคัญอย่างไร
A Floater คือการมองเห็นจุดดำลอยไปมาในลานสายตา อาจเกิดในตาข้างเดียวหรือเกิดในตาสองข้างก็ได้. บางครั้งอาจพบร่วมกับการมองเห็นแสงไฟแว๊บ (flashing) ในลานสายตาก็ได้. การเกิด floater และ flashing เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงภาวะเสื่อมของน้ำวุ้นลูกตา ซึ่งเป็นภาวะที่เกิดขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงของวัยตามอายุ เพียงแต่จะเกิดเร็วเกิดช้าแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล.
ภาพที่ 1. แสดง floater.
Q วุ้นตาเสื่อมตามอายุ คืออะไรและมีความสำคัญอย่างไร
A เมื่อมนุษย์อายุมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงก็จะเกิดกับอวัยวะทุกส่วนของร่างกาย โดยเฉพาะที่ดวงตาก็มีการเปลี่ยนแปลงในหลายๆส่วนของดวงตา เช่น จอประสาทตา, เลนส์แก้วตา, การเกิดต้อหินและสุดท้ายวุ้นลูกตาเสื่อม เป็นต้น. โดยปกติน้ำวุ้นลูกตาในวัยเยาว์จะมีลักษณะใส เหนียว เนื่องจากประกอบด้วย น้ำ 99%, hyaluronic acid 0.2%, collagen fiber 0.2% จะทำให้มีสภาพเหมือนวุ้น. เมื่ออายุมากขึ้นน้ำวุ้น ลูกตาก็จะเริ่มเปลี่ยนสภาพกลายเป็นน้ำ เราเรียกกระบวนการนี้ว่า liquefaction ซึ่งทำให้เกิดแรงดึงรั้งต่อจุดต่างๆ ของจอประสาทตา เช่น ที่ขั้วประสาทตา (optic disc), ตามแนวของหลอดเลือดจอประสาทตา (retinal vessel) และจอประสาทตาทางด้านหน้าที่เราเรียกว่า ora serrata เป็นตำแหน่งที่จอประสาทตาบางตัวที่สุด โดยผลของการบางตัวนี้อาจทำให้เกิดการฉีกขาดของจอประสาทตา (retinal tear) ได้ แต่ถ้ากระบวนการนี้ผ่านไปได้โดยไม่มีการฉีกขาดของจอตา ก็จะมีเพียงแผลเป็นที่มาจากจุดที่เคยยึดแน่นกับจอตาล่องลอยอยู่ในส่วนกลางของดวงตา ทำให้เห็นเป็นจุดดำหรือหยักไย่หรือลูกน้ำลอยไปมานั่นเอง (floater).
ภาพที่ 2. แสดงจุดยึดแน่นของจอประสาทตา.
Q แล้วอาการเห็นแสงไฟแว๊บ (flashing) เกี่ยวข้องกับ floater หรือไม่
A อาการ floater และ flashing มีความสัมพันธ์กันค่อนข้างมาก ในช่วงเวลาที่เกิด liquefaction และเกิดการดึงรั้งจอประสาทตาอาจทำให้เห็นแสงไฟแว็บได้ เนื่องจากมีแรงกระตุ้นจอประสาทตาเป็นระยะ เกิดสัญญาณภาพขึ้นมา ซึ่งถ้ามีอาการ flashing ขึ้นมา อาจเกิดจอประสาทตาฉีกขาดตามมาได้. จากอุบัติ-การณ์พบว่าถ้ามีอาการ floater หรือ flashing เราสามารถพบ retinal tear ได้ถึงร้อยละ 15-20 จากข้อมูลนี้ทำให้จักษุแพทย์ต้องตรวจจอประสาทตาอย่าง ละเอียดเสมอเมื่อผู้ป่วย complaint อาการดังกล่าว.
ภาพที่ 3. แสดงการเกิด liquefaction.
Q ผลแทรกซ้อนจากน้ำวุ้นลูกตาเสื่อม คืออะไร
A อันดับแรกก็คือ เกิดจอประสาทตาฉีกขาด หลังจากนั้นในระยะต่อมาน้ำที่เกิดจากการสลายตัวก็จะไหลผ่านรอยฉีกขาดของจอประสาทตา เซาะจอประสาทตาให้หลุดออกจากชั้น choroid ส่งผลให้ระดับการมองเห็นลดลง จนกระทั่งตาบอดสนิทในที่สุด.
ภาพที่ 4. แสดงการเกิด retinal tear.
Q เรามีวิธีการป้องกันและรักษาภาวะจอประสาทตาหลุดลอก (retinal detachment) ได้อย่างไร
A อาการเริ่มต้นที่สำคัญคือ การเกิด floater และ flashing ซึ่งในร้อยละ 15 ของคนกลุ่มนี้จะตรวจพบรอยฉีกขาดของจอประสาทตาได้. จักษุแพทย์จึงจำเป็นต้องตรวจจอประสาทตาให้ละเอียดโดยการขยายม่านตาเป็นสิ่งที่จำเป็น ถ้าตรวจพบว่ามีรอยฉีกขาด จักษุแพทย์ก็จะนำไปรักษาต่อโดยการยิงเลเซอร์ (retinal photocoagulation) เพื่อให้รอยฉีกขาดยึดติดแน่นอย่างถาวร. แต่ถ้าเกิดจอประสาทตาหลุดลอกออกมาแล้ว จำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัดซึ่งมีหลากหลายวิธี.
ภาพที่ 5. แสดงรอยเลเซอร์บนจอประสาทตา.
Q ผลการรักษาโรคจอประสาทตาหลุดลอกเป็นอย่างไร
A ผลของการรักษาโรคจอประสาทตาหลุดลอก ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยเช่น
1. ระยะเวลาที่จอประสาทตาหลุดลอก ถ้าหลุดลอกเป็นระยะเวลานานแรมเดือน ส่วนใหญ่ผลการมองเห็นภายหลังรักษามักไม่ค่อยดี.
2. จุดรับภาพ (macular) หลุดหรือไม่.
3. พยาธิสภาพเดิมของจอประสาทตา เช่น จอประสาทตาอักเสบ, สายตาสั้นมากๆ, อุบัติเหตุต่อดวงตาอย่างรุนแรง ก็จะทำให้การพยากรณ์โรคไม่ดี.
4. ความร่วมมือภายหลังการผ่าตัด เนื่องจากหลังผ่าตัดผู้ป่วยจะต้องอยู่ในท่าที่จำกัด เช่น นอนคว่ำเป็นเวลานาน 2 สัปดาห์ถึง 1 เดือน ซึ่งถ้าผู้ป่วยทำไม่ได้ก็จะทำให้ผลการผ่าตัดล้มเหลว.
Q ปัจจัยเสี่ยงของโรคจอประสาทตาหลุดลอก (retinal detachment) มีอะไรบ้าง
A ปัจจัยเสี่ยงของโรคจอประสาทตาหลุดลอกมีดังนี้
1. อายุที่มากขึ้น.
2. สายตาสั้น.
3. โรคจอประสาทตาอักเสบ เช่น cytomegalovirus retinopathy เป็นต้น.
4. อุบัติเหตุต่อดวงตาอย่างรุนแรง.
บรรณาธิการ
วีรพัฒน์ สุวรรณธรรมา พ.บ.
ภาควิชาศัลยศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี, มหาวิทยาลัยมหิดล
ผู้นิพนธ์
กิตติชัย อัครพิพัฒน์กุล พ.บ.
จักษุแพทย์เชี่ยวชาญด้านจอประสาทตาและน้ำวุ้นลูกตา
โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ
- อ่าน 7,001 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้