สวัสดีปีใหม่แด่ท่านผู้อ่านทุกท่าน ขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ดลบันดาลให้ท่านผู้อ่านทุกท่านมีสุขภาพดี สามารถทำงานได้ประสบความสำเร็จดังตั้งใจหวัง และไม่เจ็บป่วยด้วยโรคจากการประกอบอาชีพ ตลอดปี 2551.
อาชีวเวชศาสตร์ปริทัศน์ฉบับส่งท้ายปี ได้ตั้งความหวังไว้ว่า แพทย์ทุกสาขาวิชา รวมทั้งบุคลากรสาธารณสุขทั้งปวง จะได้มีโอกาสช่วยกันกับแพทย์อาชีวเวชศาสตร์มากขึ้นเรื่อยๆ ในการวินิจฉัย รักษาและป้องกันโรคจากการประกอบอาชีพให้กับประชาชนชาวไทย เนื่องเพราะโลกในยุคโลกาภิวัตน์เช่นนี้ สภาพการจ้างงาน สภาพแวดล้อมการทำงาน ระบบสวัสดิการต่างๆ ทำให้แบบแผนการเจ็บป่วยของประชาชนและพฤติกรรมการรับบริการเปลี่ยนไป. แพทย์อาชีวเวชศาสตร์ไม่สามารถปฏิบัติงานด้านนี้ได้โดยลำพัง. บทความรับปีใหม่นี้ ผู้เขียนจะได้นำเสนอเรื่องราว การเจ็บป่วยจากการประกอบอาชีพประเด็นหนึ่ง ซึ่งมีการทำงานร่วมกันระหว่างแพทย์อาชีวเวชศาสตร์กับทีมงานเวชศาสตร์ใต้น้ำ กรมแพทย์ทหารเรือ.
เวชศาสตร์ใต้น้ำ
ช่วงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2550 ผู้เขียนได้รับการติดต่อจากนาวาเอก นายแพทย์ธนษวัฒน์ ชัยกุล รองหัวหน้ากองเวชศาสตร์ใต้น้ำและการบิน กรมแพทย์ทหารเรือ ให้ไปร่วมสืบค้นกรณีชาวบ้านดำน้ำในทะเลลึกแล้วเกิดภาวะ "น้ำหนีบ" (decompression sickness) จนพิการและเสียชีวิตไปหลายราย ที่จังหวัดระนองและอุบลราชธานี. ทั้งนี้ คุณหมอให้เหตุผลที่ "โดนใจ" ว่า "การเจ็บป่วยแบบนี้ ถือเป็นโรคจากการประกอบอาชีพ แพทย์เวชศาสตร์ใต้น้ำอย่างผมต้องทำงานร่วมกับ แพทย์อาชีวเวชศาสตร์ จะได้สามารถป้องกันความเจ็บป่วยที่ไม่สมควรของชาวบ้านได้".
ที่ "โดนใจ" ก็เพราะ คุณหมอเข้าใจความแตกต่างระหว่างแพทย์สองสาขานี้อย่างดียิ่ง กล่าวคือ แพทย์เวชศาสตร์ใต้น้ำ (underwater medicine) มีความสามารถเฉพาะทางในการวินิจฉัย รักษา และฟื้นฟู ผู้ป่วยโรคจากการดำน้ำ. แต่การหาสาเหตุว่าเกิดจากการทำงาน (work-relatedness) และการดำเนินการเพื่อป้องกัน ต้องอาศัยความเฉพาะทางของแพทย์อาชีวเวชศาสตร์ (occupational medicine) ในการประเมินและจัดการความเสี่ยง (risk assessment and risk management) โดยอาศัย การสำรวจสถานที่และลักษณะการทำงาน การประเมินโอกาสเจ็บป่วย และการหาทางเลือกที่เหมาะสมในการดูแลผู้ป่วยที่เจ็บป่วยแล้ว ควบคู่ไปกับกิจกรรม ในการป้องกันการเจ็บป่วยให้กับ "กลุ่มเสี่ยง" ได้แก่ เพื่อนร่วมงานของผู้ป่วย หรือคนที่คิดจะทำงานแบบเดียวกับผู้ป่วย.
ในปัจจุบันนี้ แพทยสภายังไม่มีการจัดฝึกอบรมและสอบผู้เชี่ยวชาญสาขาเวชศาสตร์ใต้น้ำ. แพทย์ที่สนใจการปฏิบัติงานสาขานี้ จึงต้องไปเรียนระดับประกาศนียบัตรที่ต่างประเทศ ซึ่งมีสถาบันไม่กี่แห่งที่เปิดรับในประเทศสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ และเนื่องจากมีความเฉพาะทางค่อนข้างสูงดังกล่าวแล้ว ขณะนี้ จึงมีแพทย์ไทยผ่านการฝึกอบรมสาขาเวชศาสตร์ใต้น้ำเพียง 15 คน และเกือบทั้งหมดปฏิบัติงานในหน่วยงานสังกัดกรมแพทย์ทหารเรือ. ขณะเดียวกัน กองเวชศาสตร์ใต้น้ำและการบิน กรมแพทย์ทหารเรือ ได้จัดอบรมหลักสูตรพยาบาลเวชศาสตร์ใต้น้ำ ระยะเวลา 12 สัปดาห์ทุกปี ให้กับพยาบาลในสังกัดกองทัพเรือและสังกัดอื่น เป็นจำนวน 8 รุ่น ทำให้มีพยาบาลสาขาเฉพาะทางนี้ ประมาณ 200 คนในประเทศไทย.
โรคจากการดำน้ำ
การดำน้ำ (diving) แยกตามวัตถุประสงค์ของการดำได้เป็น 2 ประเภทหลัก (1) คือ การดำน้ำเพื่อสันทนาการ (recreational diving) และการดำน้ำเพื่อประกอบอาชีพ. คนทั่วไปจะรู้จักการดำน้ำเพื่อ สันทนาการ ได้แก่ การดำน้ำดูปะการังและสัตว์ทะเลต่างๆ ซึ่งได้รับความสนใจจากคนไทยมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่การดำน้ำเพื่อทำงานนั้น คนทั่วไปอาจไม่ทราบชัดเจนว่ามีปรากฏที่ใดบ้าง. อนึ่ง การดำน้ำเพื่อทำงาน แยกได้ 3 กลุ่มย่อย คือ การดำน้ำเพื่อภารกิจทางการทหาร (military diving) การดำน้ำแบบอาชีพ (commercial diving) และการดำน้ำแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน. สำหรับการดำน้ำอาชีพที่พบมาก คือ การวางท่อก๊าซหรือสายเคเบิ้ลใต้น้ำ การตัดต้นไม้ในทะเลสาบเหนือเขื่อน การสำรวจทางโบราณคดี (ซากเรือจม) และการจับสัตว์น้ำ.
ทั้งนี้ ในแง่ของสรีรวิทยาและผลกระทบต่อร่างกาย อาจแบ่งการดำน้ำได้เป็น 3 กลุ่ม คือ การดำน้ำตัวเปล่า (breath hold diving) โดยไม่ใช้อุปกรณ์ การดำขึ้นลง (bounce diving) ซึ่งสามารถดำได้นานขึ้นด้วยการใช้อุปกรณ์ช่วยแต่ยังจำกัดเวลา เช่น scuba diving ที่คนทั่วไปรู้จัก และการดำน้ำระยะยาว (saturation diving) ซึ่งเป็นการปฏิบัติงานในห้องแคปซูลใต้น้ำ.
โรคจากการดำน้ำ (decompression illness) แบ่งได้ 2 กลุ่มใหญ่ คือ โรคเหตุลดความกดอากาศ (decompression sickness) ได้แก่ ผลของการเปลี่ยนแปลงความดันต่ออวัยวะต่างๆ (barotrauma) ทำให้เกิดอาการปวดหู มึนศีรษะ เวียนศีรษะ หายใจขัด การมองเห็นเปลี่ยนไป หรือผลของก๊าซไนโตรเจนต่อร่างกายและผลของการมีฟองอากาศในเนื้อเยื่อ ซึ่งทำให้เกิดอาการปวดข้อโดยเฉพาะข้อศอก กล้ามเนื้อแขน ขา มีอาการอ่อนแรงหรือเคลื่อนไหวไม่ได้ตามปกติ ชาไม่รู้สึก ชาแสบๆคล้ายเข็มจิ้ม หรือบางรายเป็นรุนแรงถึงขั้นหมดสติ และภาวะก๊าซอุดตันหลอดเลือดแดง (arterial gas embolism) จากการฉีกขาดของ alveoli ในปอด นำไปสู่การมีฟองอากาศในระบบไหล เวียนโลหิต. นอกจากนั้น นักดำน้ำอาจได้รับอันตรายจากความเย็นของน้ำ สัตว์มีพิษ หรือสิ่งกีดขวางในน้ำ เช่น เถาวัลย์ อีกด้วย.
รุ่งนิรันดร์ สะอาดโอษฐ์ และคณะ (2) ได้ศึกษาอุบัติการณ์การเกิดโรคจากการดำน้ำในประเทศไทยระหว่าง พ.ศ. 2544-2548 พบว่าจากผู้ป่วยที่รวบรวมได้ 453 คน ส่วนมากเป็นชาวต่างชาติที่มา ดำน้ำเพื่อสันทนาการในประเทศไทย และเกือบทั้งหมดเป็นโรคเหตุลดความกดอากาศ (ตารางที่ 1). ขณะเดียวกัน สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ได้จัดให้โรคเหตุลดความกดอากาศและภาวะก๊าซอุดตันหลอดเลือดแดง เป็น 2 ใน 35 โรคจากการประกอบอาชีพที่ควรเฝ้าระวังในประเทศไทย (แบบรายงาน 506 และ 506/2). อย่างไรก็ตามมีการรายงานผู้ป่วยโรคนี้เป็นจำนวนน้อยมาก.
กลุ่มเสี่ยง
เฉกเช่นกับความเสี่ยงต่อสุขภาพที่พบในกิจการประเภทอื่น กล่าวคือ กลุ่มผู้ดำน้ำทางการทหารและนักดำน้ำอาชีพ มักจะได้รับการดูแลเพื่อป้องกันการเกิดโรคจากการดำน้ำ จากหน่วยงานต้นสังกัด นายจ้าง หรือเจ้าของกิจการ หากจะเกิดอันตรายต่อสุขภาพก็เนื่องด้วยความประมาท พฤติกรรมเสี่ยงบางชนิด หรือ ภาวะสุดวิสัยต่างๆ. ขณะที่ชาวบ้านทั่วไปที่ดำน้ำด้วยภูมิปัญญาตนเอง มีโอกาสมากกว่าที่จะเจ็บป่วยและเสียชีวิต.
กลุ่มชาวบ้านที่คุณหมอธนษวัฒน์ได้รับการประสานข้อมูลว่ามีการเจ็บป่วยจากการดำน้ำ จนน่าจะได้รับการดูแลพิเศษเพื่อป้องกันการเจ็บป่วย คือ ชาวมอแกน จังหวัดระนองและชาวไทย อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี.
มูลนิธิกระจกเงา ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนดำเนินงานด้านสิทธิของชนกลุ่มน้อยในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ได้แจ้งว่า ตั้งแต่ประมาณกลางปี พ.ศ. 2550 เป็นต้นมา ชาวมอแกนบนเกาะเหลาและเกาะช้าง อำเภอเมือง จังหวัดระนอง มีการดำน้ำลึกเก็บปลิงทะเลมาขายให้นายหน้า เพื่อขายต่อเป็นวัตถุดิบของภัตตาคารจีน. ทุกครั้งที่กลับมาที่เกาะ จะพบว่ามีอย่างน้อย 1 คน ที่มีอาการของโรค "น้ำหนีบ" บางครั้งก็เสียชีวิตขณะดำน้ำ. รายหนึ่งมีอาการอัมพาตช่วงล่าง เดินไม่ได้ ปัจจุบันนอนรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลนพรัตนราชธานีที่กรุงเทพฯ.
คุณหมอธนษวัฒน์และทีมงานจากกรมแพทย์ทหารเรือ ได้ลงพื้นที่เพื่อสำรวจข้อมูลเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2550 จากการพูดคุยกับชาวบ้าน พบว่าชาวมอแกนกลุ่มนี้ ส่วนมากฝึกดำน้ำกันเองตั้งแต่อายุประมาณ 10 ขวบ เพื่อจับสัตว์น้ำ แต่ดำไม่ลึกมาก (ประมาณ 10-15 เมตร). แต่สำหรับการเก็บปลิงทะเลนั้น นายหน้าจะนำเรือประมงขนาดเล็กมารับชาวบ้านผู้ชายออกไปดำน้ำบริเวณหมู่เกาะนิโคบาร์ ในมหาสมุทรอินเดีย โดยออกเรือไปประมาณ 15 วันต่อเดือน ในแต่ละวันจะมีการดำน้ำ 2-3 รอบ. การดำแต่ละรอบใช้เครื่องอัดอากาศติดตั้งบนเรือประมง ต่อท่อสายยางกับ "หน้ากากลิง" ซึ่งเป็นหน้ากากกระจกขอบยาง มีวาล์วให้อากาศออกตรงกลางกระจก และเอาสายยางผูกเอวตนเองไว้ มือข้างหนึ่งถือถุงตาข่าย ขณะที่อีกข้างถือก้อนหินขนาดประมาณ 10 นิ้วเพื่อถ่วงน้ำหนัก. ดำลงไปในน้ำทะเลลึก 30 เมตร เป็นเวลาประมาณ 30 นาที โดยลงไปพร้อมกันครั้งละ 2-3 คน.
โดยทั่วไปแล้ว ชาวมอแกนได้รับการสั่งสอนจาก นักดำน้ำรุ่นพี่ ในการค่อยๆขึ้นสู่ผิวน้ำ เพื่อป้องกันโรคน้ำหนีบ หรือที่ชาวมอแกนเรียกว่า "น้ำช้อต" กล่าวคือ ไม่ควรจะดำนานเกินไป. เวลาดำกลับขึ้นสู่ผิวน้ำ ไม่ควรกลั้นหายใจและควรดำขึ้นช้าๆ โดยสังเกตฟองอากาศที่หายใจ แล้วพยายามดำตามหลังฟองอากาศขนาดเล็กที่สุด. และเมื่อขึ้นสู่ผิวน้ำแล้ว ควรต้องพักระยะหนึ่งก่อนการลงดำครั้งต่อไป. อย่างไรก็ตาม จากการซักถามเพื่อนของผู้ป่วยและผู้เสียชีวิต พบว่า ส่วนมากจะเกิดน้ำช้อต เมื่อต้องรีบขึ้นเรือหนีการติดตามของตำรวจ หรือบางครั้งดำนานเกินไป เนื่องจากยังเก็บปลิงได้ไม่มากพอ หรือบางคนมีช่วงพักน้อยเกินไป (น้อยกว่า 1 ชั่วโมง). นอกจากนั้น สาเหตุทางอ้อมที่ทำให้ชาวบ้านเสี่ยงมากกว่าปกติ คือการไม่ได้ดื่มน้ำให้เพียงพอก่อนระหว่างและเมื่อดำน้ำเสร็จ. เนื่องจากการออกทะเลมีน้ำจืดจำกัด และเมื่อ เกิดเจ็บป่วย ก็ไม่มีออกซิเจนให้ เพื่อบรรเทาความรุนแรง รวมทั้งต้องรอเวลากลับเข้าสู่ฝั่งในช่วงน้ำลง.
อีกฟากหนึ่งของประเทศไทย กงสุลแรงงานไทย ประจำประเทศมาเลเซีย ประสานแจ้งข่าวแก่คุณหมอ ว่า ชาวบ้านจากอำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี ได้รับการจ้างงานจากนายหน้าไปทำการตัดต้นไม้1 ในทะเลสาบเหนือเขื่อน ที่ประเทศมาเลเซีย แล้วเกิดอาการโรคน้ำหนีบจนพิการและเสียชีวิตหลายรายในช่วงเวลาระหว่าง พ.ศ. 2540 ถึงปัจจุบัน. ทั้งนี้ ผู้ป่วยประมาณ 10 คนได้รับการส่งตัวกลับมารักษาด้วยการเข้า hyperbaric chamber ที่โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า.
เมื่อต้นเดือนธันวาคม พ.ศ. 2550 ผู้เขียนได้ ไปติดตามเยี่ยมผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวพร้อมกับทีมงานคุณหมอ พบว่าเป็นการรับจ้างงานที่นิยมกันมากในเขตอำเภอสิรินธร พิบูลมังสาหารและโขงเจียม โดยนายหน้าคนไทยทำการชักชวนชายหนุ่มในหมู่บ้านที่มี "แวว" ให้ไปรับจ้างงาน. ทั้งนี้ ไม่มีการตรวจร่างกาย หรือฝึกอบรมพิเศษก่อนไปทำงาน เนื่องจากนายหน้าระบุว่าเป็น "underwater loggers" หรือแรงงานตัดไม้ใต้น้ำ ไม่ใช่นักดำน้ำอาชีพ (commercial divers).
ลักษณะการทำงาน เป็นการล่องแพบริเวณเหนือเขื่อน ทำงานเป็นทีม 4 คน. หลังจากที่นักดำน้ำอาชีพ ดำน้ำลงไปผูกเชือกต้นไม้ที่ต้องการให้ตัดแล้ว ชาวไทย ที่รับจ้างก็จะใช้หน้ากากต่อสายยางกับเครื่องอัดอากาศ ลักษณะเดียวกับชาวมอแกน ดำลงไปตัดต้นไม้ที่ความ ลึก 60-80 เมตร โดยใช้เลื่อยตัด. ถ้าเป็นต้นไม้ต้นเล็กใช้เวลาตัด 3-4 นาที แต่ถ้าต้นใหญ่จะใช้เวลา 10-15 นาที. ทั้งนี้ ผู้ว่าจ้างชาวมาเลเซียได้กำหนดว่าให้ดำ ลงไปไม่เกิน 15 นาทีต่อรอบ ถ้าตัดไม่สำเร็จก็ต้องขึ้นมาก่อน. เมื่อขึ้นมาผิวน้ำ ก็ให้เพื่อนร่วมทีมหมุนเวียนลงไปตัดแทนหรือตัดต้นอื่นต่อไป. การกำหนดเวลาเช่นนี้ ทำให้ไม่ต้องดำน้ำนานเกินไปและมีเวลาพักประมาณ 45-60 นาที ก่อนการดำครั้งถัดไป. ในแต่ละวันจะดำน้ำประมาณ 4-5 รอบ.
แม้จะได้รับการดูแลมากกว่าชาวมอแกน แต่ชาวไทยกลุ่มนี้ก็ยังมีโอกาสป่วยด้วยอาการ "น้อคน้ำ" (ศัพท์ชาวบ้านสำหรับอาการหมดสติจาก decompression sickness). จากการพูดคุย พบว่าสาเหตุเกิดจากการดำซ้ำเร็วเกินไป (พักน้อยกว่า 60 นาที) หรือดำลึกมากเกินไป (เกินกว่า 60 เมตร) เมื่อเกิดการเจ็บป่วยด้วยอาการดังกล่าว นายจ้างจะส่งไปโรงพยาบาลฐานทัพเรือ (Lumut Hospital) เพื่อทำการรักษาด้วย hyperbaric chamber. แต่บางครั้งก็ไม่ได้ไป ที่สำคัญ บางครั้งนายหน้าจัดการให้ผู้ป่วยขึ้นเครื่องบินกลับอุบลราชธานี ทำให้อาการป่วยรุนแรงมากขึ้นไปอีก. ที่น่าเศร้าใจ คือ ผู้ป่วยรายหนึ่งซึ่งได้รับการรักษาที่โรงพยาบาลพระปิ่นเกล้าจนหายดี กลับไปดำน้ำอีก และเสียชีวิตเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา.
มุมอาชีวอนามัย
ในมุมมองของอาชีวอนามัย การดำน้ำถือเป็น "ภาวะเสี่ยง" เนื่องจากร่างกายต้องอยู่ใต้ความกดดันอากาศที่มากกว่าปกติอันทำให้เกิดการเจ็บป่วยได้. ดังนั้น จะต้องมีการ "ลด" ความเสี่ยงใน 3 ช่วงเวลา คือ
► ก่อนการดำน้ำ ผู้ที่จะดำน้ำควรได้รับการประเมินสมรรถนะทางกายว่าเหมาะสมกับการดำน้ำหรือไม่ (fit test) เช่น ผู้ที่มีโรคประจำตัวในกลุ่มโรคหัวใจ หลอดเลือดและทางเดินหายใจ บางกลุ่มไม่ควรดำน้ำ ขณะที่ผู้ที่มีดัชนีมวลกายสูง อาจดำน้ำได้บ้าง แต่ก็ต้องระวังมากกว่าคนที่มีดัชนีมวลกายเป็นปกติ. นอกจากการประเมินสมรรถนะทางกายดังกล่าวแล้ว ผู้ที่จะดำน้ำต้องผ่านการฝึกอบรมเป็นพิเศษ เพื่อทราบ ถึงการใช้เครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ และการป้องกันหรือแก้ไขภัยอันตรายที่อาจเกิดขึ้นในขณะดำน้ำ. นอกจากนั้น ก่อนการดำน้ำแต่ละครั้ง ก็ต้องตรวจสอบสุขภาพตนเองและเตรียมการดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอ.
► ขณะดำน้ำ ต้องมีการจัดระบบเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาขณะดำน้ำ เช่น การดำน้ำเป็นคู่ (buddy) เพื่อดูแลเพื่อนที่ดำน้ำด้วยกัน การกำหนดเวลาดำน้ำไม่ให้นานเกินไป การกำหนดระยะความลึก ให้เหมาะสมกับเครื่องมืออุปกรณ์ การตรวจสอบความพร้อมของอุปกรณ์ดำน้ำ การปักธงเพื่อแจ้งตำแหน่งให้ผู้สัญจรบนผิวน้ำได้ทราบว่ามีนักดำน้ำอยู่ใต้น้ำ การดำน้ำขึ้นอย่างช้าๆเพื่อปรับความดัน.
► หลังดำน้ำ ต้องมีการดูแลสุขภาพ เพื่อให้กลับคืนสู่สภาวะปกติ เช่น การพักร่างกายอย่างน้อย 24 ชั่วโมงก่อนการดำน้ำครั้งต่อไปและการดื่มน้ำเปล่า ปริมาณมากพอที่จะชดเชยการขาดน้ำ.
มองไปข้างหน้า
นอกจากการดูแลทางด้านเวชศาสตร์ใต้น้ำและอาชีวอนามัยแล้ว คุณหมอธนษวัฒน์และทีมงานมีความประสงค์ที่จะประสานงานให้เจ้าหน้าที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดนราธิวาส ซึ่งเป็นหน่วยงานด่านและ มีโอกาสมากที่สุดในการทราบข้อมูลผู้ไปรับจ้างดำน้ำ รวมทั้งผู้เจ็บป่วยที่ถูกส่งกลับ ได้ทำการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ รวมทั้งแจ้งข้อมูลให้กับกรมแพทย์ทหารเรือและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนราธิวาส เพื่อร่วมมือกันในการรักษาและป้องกันการเจ็บป่วย พิการและเสียชีวิตจากการดำน้ำของชาวอุบลฯ. สำหรับชาวมอแกนนั้น เนื่องจากยังอยู่ในระหว่างการร้องขอบัตรประชาชน ขณะนี้ จึงสามารถพึ่งพาได้แต่เพียงองค์กรพัฒนาเอกชน เช่น มูลนิธิกระจกเงาในการแจ้งข้อมูล.
ในสถานการณ์ที่การประสานงานด้านข้อมูล กำลังรอการพัฒนาอยู่นี้ การป้องกันปัญหาการเจ็บป่วย ของชาวมอแกนและชาวไทยโดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขคล้ายคลึงกัน คือ
► การให้ความรู้อย่างเต็มที่เพื่อให้ชาวบ้านสามารถไปดำน้ำลึกในลักษณะที่กล่าวมาแล้วได้อย่างปลอดภัยมากที่สุด ทั้งนี้ หน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ ซึ่งใกล้ชิดชาวบ้าน น่าจะสามารถจัดเวทีให้ผู้ป่วยและทีมเวชศาสตร์ใต้น้ำได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และแบ่งปันความรู้ให้กับเพื่อนบ้านที่คิดจะไปดำน้ำ.
►การรายงานความเจ็บป่วยกลุ่มนี้ผ่าน ระบบ ICD 10 ใช้รหัส T70.3 Caisson Disease (Decompression Sickness) หรือ T 79.0 Air embolism (3) และด้วยแบบรายงาน 506/2 เพื่อให้มี "ข้อมูล" ขนาดปัญหา และการคำนวณความคุ้มค่าของการป้องกันความพิการจากการเป็นโรคน้ำหนีบในอนาคต.
► การสร้างระบบส่งต่อผู้ป่วย เพื่อการปฐมพยาบาล โดยทีมกู้ชีพ และการวินิจฉัยและรักษาโดยทีมเวชศาสตร์ใต้น้ำ.
สุดท้ายแล้ว ผู้เขียนช่วยทีมงานสรุปว่า ลำพังบุคลากรสาธารณสุขเอง ไม่สามารถแก้ปัญหาการจ้างงานที่ไม่ยุติธรรมและไม่มีสวัสดิ-การ รวมทั้งปัญหาที่ทำกิน ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมที่ทำให้ชาวบ้านยังยอมเสี่ยงภัยไปดำน้ำ แทนการประกอบอาชีพอื่นได้.
1การสร้างเขื่อนทำให้ต้นไม้จำนวนมากถูกน้ำท่วมอยู่ในบริเวณทะเลสาบเหนือเขื่อน เนื่องจากน้ำลึกกว่า 100 เมตร ทำให้แสงแดดส่องไม่ถึงบริเวณใต้น้ำ จุลินทรีย์ไม่อาจย่อยสลายต้นไม้ได้ ในหลายประเทศจึงมีการให้สัมปทานตัดไม้เหล่านี้เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ ซึ่งการตัดไม้นี้ สามารถใช้ได้ทั้งแรงงานคนหรือเครื่องจักร
เอกสารอ้างอิง
1. กมลศักดิ์ ต่างใจ. การบาดเจ็บจากการดำน้ำ. วารสารเวชศาสตร์ใต้น้ำ ปีที่ 1 ฉบับที่ 2 กันยายน-ธันวาคม 2550 หน้า 11-14.
2. รุ่งนิรันดร์ สะอาดโอษฐ์, อริยะ เกิดโภคทรัพย์, จำเนียร แสงจันทร์, กิตติ โควินท์, พงศ์เทพ จิระโร. การศึกษาอุบัติการณ์การเกิดโรคจากการดำน้ำในประเทศไทย ระหว่าง พ.ศ. 2544-2548. วารสารเวชศาสตร์ใต้น้ำ ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 พฤษภาคม-สิงหาคม 2550 หน้า 4-8.
3. อัมรินทร์ สิทธิโชติหิรัญ, เชาวลิต มันทะกะ, ธนษวัฒน์ ชัยกุล. รหัสโรคและรหัสหัตถการ สำหรับงานเวชศาสตร์ใต้น้ำและเวชศาสตร์ความกดบรรยากาศสูง. วารสารเวชศาสตร์ใต้น้ำ ปีที่ 1 ฉบับที่ 2 กันยายน-ธันวาคม 2550 หน้า 21-23.
ธนษวัฒน์ ชัยกุล พ.บ.
ร.น., นาวาเอก, รองหัวหน้ากอง, กองเวชศาสตร์ใต้น้ำและการบิน กรมแพทย์ทหารเรือ
ฉันทนา ผดุงทศ พ.บ.
DrPH in Occupational Health, สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม,
กรมควบคุมโรค, กระทรวงสาธารณสุข
E-mail address : [email protected]
- อ่าน 11,630 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้