ปัจจุบันมีการวิจัยเพื่อพัฒนาอาหารที่มีบทบาทไม่ใช่เพียงให้ได้สารอาหารที่เหมาะสมกับวัยเท่านั้น แต่ผลิตอาหารที่มีส่วนประกอบสมบูรณ์ขึ้นเป็นอาหารที่ทำหน้าที่ในการป้องกันโรค กระตุ้นภูมิคุ้มกันที่ทางเดินอาหารและนอกทางเดินอาหาร ส่งผลให้สุขภาพโดยรวมดีขึ้น. ในการนี้นักวิชาการได้หันมาให้ความสนใจกับธรรมชาติแวดล้อมในทางเดินอาหารพบว่า จุลินทรีย์ และอาหารจุลินทรีย์ มีบทบาทดังกล่าว.
โพรไบโอติกคืออะไร ?
คำจำกัดความกำหนดโดย International Life Science Institute 1998 คือ จุลินทรีย์ที่มีชีวิตเมื่อได้รับจำนวนมากพอ จะก่อประโยชน์ที่พิสูจน์ได้ต่อผู้ที่กินและมีเชื้อนี้อยู่ในทางเดินอาหาร.
โพรไบโอติกไม่ใช่เรื่องใหม่ ย้อนไปถึง 76 ปีก่อนคริสตกาล ในประวัติศาสตร์โรมัน Plinio เป็นผู้หนึ่งที่สนับสนุนให้ใช้นมหมัก หรือนมเปรี้ยวรักษาโรคติดเชื้อทางเดินอาหารต่างๆ. นมหมักนิยมกินกันในหมู่ชาวอียิปต์ ผู้คนที่อาศัยอยู่ในตะวันออกกลาง พวกคูมิสในมองโกเลีย ลัสสีในอินเดีย ในคนเอเชียบริเวณบอลคาน และในสหรัฐอเมริกา. ประชาชนในทิเบตและบัลแกเรียรู้คุณค่าของโยเกิร์ตและนมหมักมานานหลายศตวรรษ จนกระทั่ง Elie Metnikoff นักวิทยาศาสตร์ชาวรัสเซีย แห่งสถาบันหลุยส์พลาสเตอร์ ได้สังเกตว่าคนที่อาศัยในประเทศบัลแกเรียแข็งแรง อายุยืน เขาได้ทำการค้นคว้าพบว่าน่าจะเป็นผลจากการกินนมหมักเป็นประจำ จึงได้ทำการเพาะเชื้อหาจุลินทรีย์ในอุจจาระพบว่าเป็นเชื้อที่ใช้ทำนมหมักหรือโยเกิร์ต. เขาเชื่อว่าเมื่อกินนมซึ่งหมักโดยจุลินทรีย์ที่ดี เกิดผลผลิตเป็นกรดแล็กติก ลดการบูดเน่าและลดสารที่เป็นพิษจากอาหารลง เป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่น้อย. ท่านผู้นี้ยังได้รายงานว่าจุลินทรีย์ที่ดีสามารถป้องกันการเกิดโรคอหิวาต์ได้ ผลงานได้ตีพิมพ์เป็นที่ยอมรับ. ท่านได้รับรางวัลโนเบลในปี พ.ศ. 2451. ต่อมาอีกเกือบ 80 ปี มีการศึกษาชนิดและสายพันธุ์ของประชากรจุลินทรีย์พบว่ามีจุลินทรีย์มากถึง 1014 บนผิวของร่างกายและในทางเดินอาหาร (Savage DC. Microbial 1977;31:107-33.). จากพฤติกรรมของจุลินทรีย์ในลำไส้สามารถแบ่งจุลินทรีย์ตามพฤติกรรมของมันได้ 4 กลุ่ม ดังนี้
กลุ่มแรก เป็นกลุ่มก่อโรค ซึ่งปกติมักไม่อยู่ในทางเดินอาหาร แต่ถ้าเข้ามาในทางเดินอาหารมาก พอจะก่อโรค เช่น V. cholerae, Shigella, Salmonella.
กลุ่มที่สอง เป็นกลุ่มฉวยโอกาสก่อการอักเสบ หากมีการเสียดุล เช่นได้ยาปฏิชีวนะทำลายเชื้อดีๆให้ลดลง เชื้อกลุ่มนี้กลายเป็นเชื้อหมู่มากก็จะฉวยโอกาสก่อโรค ได้แก่ pseudomonas, staphylococci, protease, clostridium, veillonellae. เชื้อกลุ่มนี้ใช้โปรตีนเป็นอาหาร.
กลุ่มที่สาม เป็นกลุ่มที่อยู่กลางๆ อาจฉวยโอกาสก่อโรค หรือทำหน้าที่ป้องกันได้ ได้แก่ E. coli, streptococci, bacteroides และ enterococci. กลุ่มนี้ใช้ทั้งแป้งและโปรตีนเป็นอาหาร.
กลุ่มที่สี่ เป็นกลุ่มที่ทำหน้าที่ปกป้องทางเดินอาหาร ถือว่าเป็นจุลินทรีย์สุขภาพได้แก่ เชื้อ bifidobacteria, lactobacilli และ eubacteria. กลุ่มนี้หมักใยอาหารที่ไม่ย่อยที่ลำไส้ส่วนบน เช่นพวกแป้งย่อยยาก (resistant starch), โอลิโกแซ็กคาไรด์ (oligosaccharides) และ อินูลิน (inulin).
เชื้อกลุ่มที่ 4 นี้เป็นเชื้อที่ทำหน้าที่เป็นอาหารที่ทำหน้าที่ปกป้องทางเดินอาหาร (function food) ส่งผลให้สุขภาพภายในทางเดินอาหาร และนอกทางเดินอาหารดี จึงเรียกกันว่าจุลินทรีย์สุขภาพ (health germs). ได้มีการนำจุลินทรีย์สุขภาพมาใช้ทางคลินิก เพื่อประโยชน์ด้านโภชนาการ การป้องกันและรักษา และการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน โดยมีแนวคิดที่ทำให้ประชากรจุลินทรีย์ในทางเดินอาหารเข้าสู่ภาวะสมดุล. Allen Walker ผู้เชี่ยวชาญทางระบบภูมิคุ้มกันด้านทาง เดินอาหารได้ตั้งสมมติฐาน "Hygiene hypothesis" ว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาและปัจจุบันมีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของการเกิดโรค ที่เห็นได้คือมีโรคภูมิแพ้เพิ่มขึ้น โรคลำไส้ใหญ่เล็กและลำไส้ใหญ่อักเสบรุนแรงเพิ่มขึ้นเป็นเพราะมีการปรับปรุงด้านการสาธารณสุขดีขึ้น เป็นโรคติดเชื้อน้อยลง การได้รับเชื้อที่ดีตามธรรมชาติที่ช่วยปกป้องน้อยลง กับมีการใช้ยาปฏิชีวนะมากขึ้น เชื้อที่ไวต่อยาปฏิชีวนะเป็นเชื้อดีๆถูกทำลาย จุลินทรีย์สุขภาพลดลงทำให้เชื้อ ที่เป็นอันตรายเพิ่มจำนวนมากขึ้น เกิดการเสียดุลของระบบนิเวศในทางเดินอาหาร ส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงและเกิดโรคดังกล่าว. เชื่อว่าการทำให้ระบบนิเวศในทางเดินอาหารสมดุลจะลดปัญหาดังกล่าวลงได้. วิธีทำให้จุลินทรีย์เข้าสู่ภาวะสมดุลคือการทำให้จุลินทรีย์สุขภาพเพิ่มขึ้น ซึ่งทำได้ 2 วิธีได้แก่
วิธีแรก คือ เสริมจุลินทรีย์ในอาหาร (microbes for food).
วิธีที่สอง ให้อาหารกระตุ้นการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์สุขภาพในโพรงลำไส้ (food for microbes) ให้เติบโตได้สมดุลกับเชื้อกลุ่มอื่นๆ.
กลไกการปกป้องทางเดินอาหารของจุลินทรีย์สุขภาพ มีดังนี้
1. เชื้อจุลินทรีย์สุขภาพเกาะบนผิวเยื่อบุลำไส้ไว้ก่อน ไม่ให้เชื้อก่อโรคเกาะจับที่ผิวเยื่อบุลำไส้.
2. การหมักใยอาหาร โอลิโกแซ็กคาไรด์โดยจุลินทรีย์สุขภาพ ได้ผลผลิตเป็นกรดอะเซติกและ แล็กติกซึ่งหยุดยั้งการเติบโตของเชื้อฉวยโอกาสก่อโรคอื่นๆ.
3. เชื้อจุลินทรีย์สุขภาพปล่อยสารแบคเทอริโอซิน (bacteriocin) ทำลายเชื้ออื่นๆ.
4. เชื้อจุลินทรีย์สุขภาพแย่งอาหารไม่ให้เชื้อฉวยโอกาสก่อโรคได้กิน จะได้ไม่เติบโต มีจำนวนเชื้อไม่มากเกิน.
5. เชื้อจุลินทรีย์สุขภาพกระตุ้นภูมิคุ้มกันโดยการสื่อสารกับเนื้อเยื่อน้ำเหลืองในชั้นใต้เยื่อบุลำไส้ (gut- associated lymphocyte tissue, GALT) ทำให้มีการสร้างสารป้องกันและกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้เข้าสู่ภาวะสมดุลนำไปสู่การตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย แบบป้องกันมากกว่าการตอบสนองแบบก่อการอักเสบ หรือภูมิแพ้.
เชื้อจุลินทรีย์สุขภาพได้มาจากไหน?
ทารกในครรภ์มารดา เคยนับว่าเป็นบริเวณปลอดเชื้อ แต่ระยะหลังนี้มีการตรวจพบเชื้อในน้ำคร่ำได้ ซึ่งหมายถึงทารกได้รับไบฟิโดแบคทีเรียจากการกลืนน้ำคร่ำ ทำให้ทารกได้รับเชื้อที่ดีๆไว้บ้างเป็นการเตรียมพร้อม (better train) เพราะเมื่อทารกเกิดผ่านทางช่องคลอด ทารกจะกลืนเมือกจากช่องคลอดซึ่งมีเชื้อแบคทีเรียหลากหลาย หากไม่มีการเตรียมระบบความต้านทานไว้ก่อนอาจเกิดการติดเชื้อรุนแรง. ในบางประเทศเช่นสหรัฐอเมริกาสนับสนุนให้หญิงตั้งครรภ์ดื่มนมหมักจุลินทรีย์ เพื่อให้แม่มีเชื้อดีๆ ในทางเดินอาหาร. เชื้อดีๆ นี้จะมีอยู่ในช่องคลอดด้วย เมื่อทารกผ่านช่องคลอด กลืนเมือกเข้าไป ทำให้ทารกได้รับเชื้อดีๆ เมื่อได้รับเชื้อดีๆมีโอกาสเข้าไปเกาะยึดพื้นที่ลำไส้ไว้ได้ก่อน (window of opportunity) ทำให้เชื้อฉวยโอกาสก่อโรคมีโอกาสเข้าเกาะผิวเยื่อบุลำไส้ได้น้อย. ทารกที่เกิดจากการผ่าท้องคลอดจะขาดโอกาสนี้ไป แต่ยังมีโอกาสได้รับเชื้อดีๆ จากการกินนมแม่. ในนมแม่มีไบฟิโดแบคทีเรีย และอาหารจุลินทรีย์โอลิโกแซ็กคาไรด์ ได้ทั้งจุลินทรีย์และอาหารจุลินทรีย์ที่สมบูรณ์แบบ น้ำนมแม่เป็นสิ่งที่ธรรมชาติให้มาเพื่อปกป้องทารกให้รอดจากการติดเชื้อโรค เมื่อทารกเกิดมาสู่สิ่งแวดล้อมที่ปนเปื้อนไปด้วยเชื่อโรคต่างๆ.
ทารกที่กินนมแม่ซึ่งมีทั้งแล็กโทส โอลิโกแซ็กคาไรด์ และไบฟิโดแบคทีเรีย (bifidobacteria). อุจจาระมีจุลินทรีย์เป็นไบฟิโดแบคทีเรีย 99% มีภาวะเป็นกรด ( pH 5.0-5.7) มีกรดไขมันห่วงสั้นเป็นอะเซติก และแล็กติก ซึ่งมีส่วนทำให้เยื่อบุลำไส้เล็กแบ่งตัวเติบโตแข็งแรง ทำการย่อยและดูดซึมสารอาหารได้ดี และมีกรดช่วยยับยั้งการเติบโตของเชื้อที่อาจก่ออันตราย.
ขณะที่ทารกกินนมวัวผสม มีเชื้อส่วนใหญ่เป็นแบคทีรอยดิส (bacteriodes) มีภาวะเป็นด่าง ( pH 7.0-7.5) กรดไขมันห่วงสั้นเป็นกรดอะเซติก โพรพริโอนิก (proprionic acid) และกรดบิวทีริก (butyric acid). กรดบิวทีริกนี้เชื่อว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงอย่าง หนึ่งที่ทำให้เกิดลำไส้เน่าในทารกแรกเกิดน้ำหนักตัวน้อย แต่เป็นพลังงานแก่ลำไส้ใหญ่อันเป็นประโยชน์ในเด็กและผู้ใหญ่ด้านการช่วยดูดซึมเกลือและน้ำในลำไส้ใหญ่ และอาจป้องกันการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ในผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ.
บทบาทด้านป้องกันโรคและภูมิคุ้มกัน
Henri Tressier เป็นผู้แยกเชื้อไบฟิดัสได้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2441 ท่านผู้นี้สังเกตว่าทารกที่กินนมแม่ไม่ ค่อยป่วยด้วยโรคอุจจาระร่วง จึงแนะนำให้ใช้เชื้อไบฟิดัสรักษาทารกที่เป็นโรคอุจจาระร่วง.
ในโพรงลำไส้มีเชื้อแบคทีเรียหลากหลาย ซึ่งเซลล์จะต้องแยกแยะให้ออกว่าเป็นเชื้อดีหรือเชื้อร้าย. ใต้เซลล์เยื่อบุมีเยื่อน้ำเหลืองเรียกว่า Gut Associated Lymphoid Tissue (GALT) มีเซลล์ทำหน้าที่สอดแนม (sensor) สามารถบอกได้ว่าเชื้อนั้นเป็นเชื้อดี จะไม่สร้างความต้านทานมากำจัด แต่ถ้าเป็นเชื้อร้ายก็จะสร้าง secretory IgA ออกมากำจัด. เชื้อดีจึงเกาะฉาบบนชั้นเยื่อเมือกหยุดยั้ง แย่งการเกาะจับของเชื้อก่อโรค.
นอกจากนี้ยังมีกระบวนการสื่อสารกันระหว่างเชื้อจุลินทรีย์และเยื่อบุลำไส้ (bacterial-epithelial cross talk) มีผลดังนี้
♦ กระตุ้นการสร้างเยื่อเมือกให้ชั้นเยื่อเมือกหนาขึ้นและมีคุณภาพเฉพาะสำหรับล่อให้เชื้อไวรัส โรต้า (pseudoreceptor) จับแทน ที่จะจับที่เซลล์เยื่อบุ.
♦ กระตุ้นเม็ดเลือดขาวให้เคลื่อนไหวมายังตำแหน่งที่เชื้อโรครุกล้ำเข้ามาสู่ร่างกาย.
♦ กระตุ้นเม็ดเลือดขาวให้จับกินแบคทีเรีย.
♦ ทำให้เนื้อเยื่อที่อักเสบบรรเทาลง.
♦ ซ่อมแซมเซลล์ที่บาดเจ็บให้ฟื้นตัว
.
ในช่วง 30 ปี ที่ผ่านมา ได้มีการศึกษาผลของจุลินทรีย์ไบฟิโดแบคทีเรีย (bifidobacteria) และแล็กโทแบซิไล (lactobacilli) อย่างกว้างขวาง มีรายงานการศึกษามากกว่า 200 รายงานและได้มีผู้ทำวิเคระห์อภิมาน (meta-analysis) 9 ชิ้นจากข้อมูลที่ทำการศึกษาแบบมีกลุ่มควบคุมและผู้บริโภคและผู้วิจัยไม่ทราบว่าให้อะไร (randomized, controlled-double blind study). รายงานข้อมูลที่แสดงผลแน่นอนดังนี้
♦ จุลินทรีย์สุขภาพสามารถสร้างภูมิคุ้มกัน แก่ผู้ที่ได้รับจุลินทรีย์สุขภาพจำนวนมากพอ (106-109 ตัว) จะป้องกันการติดเชื้อโดยเฉพาะป้องกันโรคอุจจาระร่วงจากเชื้อไวรัสโรต้าซึ่งเป็นสาเหตุของโรคอุจจาระร่วงในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปีได้.
♦ สารให้ภูมิค้มกันได้แก่ แกมมาโกลบูลิน เอ (IgA) พบว่าระดับเพิ่มขึ้นทั้งในเลือดและอุจจาระ ในเด็กที่ได้รับจุลินทรีย์สุขภาพเมื่อได้รับวัคซีน พบว่าระดับภูมิต้านทานสูงมากกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับ (เช่น โปลิโอ ไทฟอยด์) มีหน้าที่เป็นตัวทำให้วัคซีนได้ผลดี (vaccine adjuvant).
♦ ลดการเกิดอาการอุจจาระร่วงจากการได้รับยาฆ่าเชื้อ (antibiotic associated diarrhea).
ส่วนจุลิทรีย์ที่มีชื่อว่าสเตร็ปโตค็อกคัส เทอร์โมฟิสัส (Streptococcus thermophilus). ช่วยย่อย น้ำตาลแล็กโทสในนม ทำให้กินนมแล้วท้องไม่อืด ถ่ายง่าย และไม่เป็นผื่นผ้าอ้อม.
ในทารกแรกเกิดได้มีการศึกษาให้จุลินทรีย์สุขภาพแก่ทารกเกิดมาน้ำหนักตัวน้อยมาก พบว่าทำให้ทารกเหล่านี้รับนมได้มากขึ้น น้ำหนักตัวขึ้นดี และจากผลการวิเคราะห์อภิมาน 12 ชิ้นแสดงให้เห็นว่ามีผลด้านลดอุบัติการณ์ของภาวะลำไส้อักเสบเน่าซึ่งเกิดได้บ่อยในทารกกลุ่มนี้ได้ด้วย.
ส่วนผลต่อการกระตุ้นภูมิคุ้มกันด้านการป้องกันโรคทางเดินหายใจและภูมิแพ้ มีรายงานว่าเมื่อให้เชื้อจุลินทรีย์สุขภาพในเด็กเล็กแล้วสามารถลดอุบัติการณ์และความรุนแรงของการติดเชื้อทางเดินหายใจ ลดการขาดเรียน การใช้ยาฆ่าเชื้อ และลดโรคภูมิแพ้ โดยศึกษาการสังเกตความรุนแรงของผื่นภูมิแพ้ผิวหนังพบว่าทำให้ทุเลาลงได้มากกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับ และอาจลดการเกิดโรคหืดในผู้ที่มีคนในครอบครัวเป็นโรคภูมิแพ้. อย่างไรก็ตาม ผลด้านนี้ยังมีไม่มากนัก ยังต้องมีการทำการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อยันยันต่อไป. เด็กที่กินนมเสริมจุลินทรีย์ กระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสได้ดี แต่สำหรับโรคอุจจาระร่วงสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรียนั้นไม่ได้ผล ผู้เลี้ยงดูเด็กยังต้องรักษาความสะอาดในการเตรียมนมและอาหารให้ลูกอยู่อย่างเคร่งครัด.
จุรินทรีย์สุขภาพมีประโยชน์ทั้งที่พิสูจน์และกำลังมีการทดลองทางคลินิกดังตารางที่ 1.
หน้าที่ของโพรไบโอติกด้านโภชนาการ
ปกติแล้วคนเอเชียจะมีน้ำย่อยแล็กเทสที่ลำไส้ลดลงเมื่ออายุมากขึ้น. ในทารกที่เป็นโรคอุจจาระร่วงโดยเฉพาะที่มีสาเหตุจากไวรัสโรต้านั้นมีการบาดเจ็บที่เยื่อบุลำไส้มากและเป็นสาเหตุที่สำคัญของการดูดซึมบกพร่องในระยะฟื้น เมื่อให้ทารกกินนมอีกก็จะเกิดอาการอุจจาระร่วง แม้ในเด็กโตและผู้ใหญ่หลายๆคนจะเกิดอาการท้องอืดมีลมในท้องและถ่ายเหลวเมื่อกินนมตอนท้องว่างหรือบางคนดื่มนมเกินสองแก้วไม่ได้. เชื้อจุลินทรีย์เช่น Streptococcus thermophilus จะช่วยย่อยน้ำตาลแล็กโทสในน้ำนมได้ แม้ว่าเชื้อชนิดนี้จะไม่จัดเข้าไว้ในกลุ่มโพรไบโอติกเพราะเป็นเชื้อที่ไม่เคยอยู่ในลำไส้มาก่อน เชื้อชนิดนี้ได้นำมาผสมกับ Lactobacillus bulgaricus เป็นหัวเชื้อหมักนมให้เป็นโยเกิร์ตให้รสชาติดีมานานนมแล้ว นับเป็นโยเกิร์ตสูตรดั่งเดิมกินแล้วท้องไม่อืด.
หน้าที่ด้านโภชนาการของโพรไบโอติก คือ
♦ ช่วยย่อยและดูดซึมสารอาหารต่างๆ.
♦ สังเคราะห์วิตามิน.
♦ หมักใยอาหารและโอลิโกแซ็กคาไรด์.
การเสริมเชื้อลงในนมให้ทารกเกิดครบกำหนดกินพบว่าน้ำหนักตัวขึ้นดีกว่ากลุ่มควบคุมและยังมีการศึกษา ให้ Bifdobacteria breve เติมลงในนมให้ทารกเกิดก่อนกำหนดกิน (Katajima et al. 1997) พบว่าทารกรับนมที่ให้ได้มากกว่า น้ำหนักขึ้นเร็วกว่ากลุ่มควบคุม. การศึกษานี้นอกจากจะได้แสดงให้เห็นว่า โพรไบโอติกช่วยด้านการย่อยแล้วยังได้แสดงให้เห็นว่าปลอดภัยสามารถให้ในทารกแรกเกิดและทารกเกิดก่อนกำหนดได้ ทำให้ทารกเติบโตได้ดี. มีรายงานการเสริมจุลินทรีย์เพื่อป้องกันการเกิดลำไส้เน่าในทารกเกิดก่อนกำหนดหลายชิ้นและได้มีการทำการวิเคราะห์ อภิมาน (meta-analysis) ว่าสามารถลดการเกิดลำไส้เน่า (necrotizing enterocolitis) ได้. การเสริมจุลินทรีย์สุขภาพลงในนมให้เด็กที่มีปัญหากินยาก เลือกกิน และขาดอาหาร ทำให้กินอาหารได้มากขึ้น.
คุณสมบัติของจุลินทรีย์ที่ดีต่อสุขภาพ 7 ประการ ดังนี้
1. เป็นสายพันธุ์ที่ได้มีการศึกษาแล้วว่ามีคุณสมบัติที่ก่อประโยชน์ต่อสุขภาพ.
2. ปลอดภัยเมื่อกิน.
3. สามารถรอดชีวิตตลอดทางเดินอาหาร.
4. มีชีวิตอยู่ในกระบวนการผลิตและเก็บ.
5. เป็นสายพันธ์ที่คงตัวไม่รับยีนดื้อยาจากเชื้ออื่น.
6. กินจำนวนพอเหมาะก็ได้ผล.
7. เคยอยู่ในอวัยวะที่ต้องการเสริมจุลินทรีย์ให้มาก่อน.
พรีไบโอติกคืออะไร
พรีไบโอติกคืออาหารจุลินทรีย์เป็นอาหารส่วนที่ไม่ย่อยในทางเดินอาหารส่วนบน ผ่านมาที่ลำไส้ส่วนล่าง เลือกส่งสริมการเติบโตของจุลินทรีย์บางชนิด ที่ลำไส้ใหญ่ซึ่งก่อให้เกิดผลดีต่อสุขภาพ (ตารางที่ 2 และ 3).
พรีไบโอติกที่สำคัญได้แก่ ซึ่งโอลิโกแซ็กคาไรด์เป็นน้ำตาลห่วงสั้น < 9 ห่วง, อินูลินมีห่วงยาว 20-60 ห่วง ให้พลังงาน 1.5 กิโลแคลอรี/กรัม.
ตัวอย่างโอลิโกแซ็กคาไรด์ คือ
♦ ฟรักโทโอลิโกแซ็กคาไรด์ (Fructo-oligosaccharides, FOS ).
♦ กาแล็กโทโอลิโกแซ็กคาไรด์ (Galacto-oligosaccharides, GOS ).
♦ โอลิโกแซ็กคาไรด์เชิงซ้อน (Complex oligosaccharides) ในนมแม่.
กลไกในการทำหน้าที่ที่เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพนั้นผ่านกลไกการทำหน้าที่ของจุลินทรีย์สุขภาพโดย
♦ กระตุ้นการเติบโตของจุลินทรีย์สุขภาพ.
♦ จุลินทรีย์หมักพรีไบโอติกเกิดผลผลิตเป็นกรดยับยั้งการเติบโตของเชื้อฉวยโอกาสและเชื่อก่อโรค.
ปฏิสัมพันธ์ของพรีไบโอติกกับเซลล์เยื่อบุลำไส้ยังไม่มีข้อมูลและกำลังมีการศึกษาต่อไป.
♦ ข้อมูลการศึกษาผลของพรีไบโอติกสนับสนุนให้เป็น function food จึงมีการเติมพรีไบโอติกในอาหาร เช่น โอลิโกฟรักโทส และอินูลินในนมสำหรับทารกและเด็ก และเป็นสารรสหวานในเครื่องดื่ม ไอศกรีม โยเกิร์ต เพื่อลดอัตราฟันกร่อน และทำให้รู้สึกอิ่ม (satiety)และสบายท้อง. เนื่องจากพรีไบโอติกถูกหมักโดยจุลินทรีย์เกิดผลผลิตเป็นบิวทิเรท กระตุ้นการหลั่งของ glucagon like peptide 1 (GLP-1) จากลำไส้ใหญ่ไปในกระแสเลือด ทำให้สมองรับรู้ความรู้สึกอิ่ม จึงมีการเสนอว่าควรใช้พรีไบโอติกในการควบคุมน้ำหนัก และเพิ่มการดูดซึมแคลเซียมป้องกันภาวะกระดูกพรุนในคนทุกอายุ. ขนาดที่กิน 5-10 กรัม/วัน.
วันดี วราวิทย์ พ.บ.,
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ, ภาควิชากุมารเวชศาสตร์,
คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
- อ่าน 53,843 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้