ฉบับที่แล้วผมได้เล่าเหตุการณ์ย่อๆ เรื่องที่แพทย์ของกระทรวงสาธารณสุขถูกศาลพิพากษาจำคุกให้ทราบแล้วด้วยความไม่สบายใจและห่วงใยต่อความวิตกกังวลของ แพทย์และประชาชนที่ได้ทราบข่าวนี้ ซึ่งทีมเลขาธิการแพทยสภาได้ดำเนินการหาทางแก้ไขปัญหานี้อย่างเร่งด่วนที่สุด. วิธีหนึ่งที่ได้ทำทันทีร่วมกับวิธีอื่นๆ ก็คือ การเสนอกฎหมายใหม่สำหรับพิจารณาคดีอาญาของผู้ประกอบวิชาชีพ ด้านสุขภาพขึ้นโดยเฉพาะซึ่งจะครอบคลุมทั้งแพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ เภสัชกร นักเทคนิคการแพทย์ และ นักกายภาพบำบัด โดยอาศัยบทบัญญัติในมาตรา 80(2) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่บัญญัติไว้ว่า
"ส่งเสริมสนับสนุนและพัฒนาระบบสุขภาพที่เน้นการสร้างเสริมสุขภาพอันนำไปสู่สุขภาวะที่ยั่งยืนของประชาชนรวมทั้งจัดและส่งเสริมให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ และส่งเสริมให้เอกชนและชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาสุขภาพและจัดบริการสาธารณสุข โดยผู้มีหน้าที่ให้บริการดังกล่าวซึ่งได้ปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรฐานวิชาชีพและจริยธรรม ย่อมได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย".
ทีมเลขาธิการแพทยสภาจึงได้ร่างกฎหมายใหม่สำหรับพิจารณาความผิดของแพทย์และบุคลากร ในวิชาชีพด้านสุขภาพขึ้นโดยเฉพาะมีชื่อว่า "ร่างพระราชบัญญัติความรับผิดและวิธีพิจารณาความสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพ พ.ศ...." โดยมีหลักการและเหตุผลประกอบดังนี้
หลักการ ให้มีกฎหมายว่าด้วยความรับผิดและวิธีพิจารณาความสำหรับการประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพ.
เหตุผล เนื่องด้วยการประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพเป็นการกระทำต่อชีวิตและร่างกายมนุษย์ซึ่งมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดภาวะอันไม่พึงประสงค์โดยไม่คาดคิดขึ้นได้เสมอ. แม้ผู้ประกอบวิชาชีพจะได้ใช้ความระมัดระวังตามวิสัยและพฤติการณ์อย่างสูงแล้วก็ตาม. การที่จะพิจารณาว่าผู้ประกอบวิชาชีพจะมีความผิดและต้องรับโทษทางอาญาหรือไม่ จำเป็นต้องใช้ความรู้ทางวิชาการเฉพาะสาขาที่มีความสลับซับซ้อนมาก ซึ่งมีความก้าวหน้าและมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา.
ดังนั้นเพื่ออนุมัติตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ที่บัญญัติให้มีการคุ้มครองทั้งสิทธิของประชาชนและผู้ที่ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพจึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้.
ร่างพระราชบัญญัตินี้มี 24 มาตรา มีรายละเอียดกำหนดให้ผู้ประกอบวิชาชีพต้องรับผิดในกรณีกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเท่านั้น (มิใช่ประมาทธรรมดาอย่างในปัจจุบัน). โดยได้นิยามคำว่า "ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง" เอาไว้ชัดเจน อีกทั้งยังได้กำหนดให้มีกระบวนวิธีพิจารณาและขั้นตอนต่างๆในการดำเนินคดีอย่างละเอียด ตั้งแต่ชั้นพนักงานสอบสวน อัยการ จนกระทั่งถึงวิธีพิจารณาคดี ในศาล.
วันที่ 11 ธันวาคม 2550 ทีมเลขาธิการแพทย-สภาได้เข้าพบปลัดกระทรวงสาธารณสุขโดยได้มีการปรึกษาหารือเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหานี้ และได้มีการดำเนินการหลายอย่าง ที่สำคัญคือพวกเราได้นำร่างพระราชบัญญัติความรับผิดและวิธีพิจารณาความสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพ พ.ศ. ... ส่งให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเพื่อเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติซึ่งท่านก็เห็นด้วย โดย ในวันรุ่งขึ้นท่านได้นำร่างพระราชบัญญัติฯไปที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อหาสมาชิกสภาฯรับรองให้ครบ 20 ท่าน แล้วเสนอบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมสภาโดยด่วน แต่ได้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันขึ้นคือ มีการประท้วงและปิดล้อมสภาจนในวันนั้นท่านประธานสภาต้องสั่งงดประชุม และหลังจากนั้นสภาก็มีมติไม่รับพิจารณากฎหมายใหม่ไม่ว่ากรณีใดๆทั้งสิ้น ถือเป็นโชคร้ายของแพทย์และผู้ป่วย. ต่อมาผมได้ติดต่อกับท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเพื่อขอให้รับร่างพระราชบัญญัตินี้เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีไว้ก่อน แต่ท่านแจ้งว่าขอให้รอรัฐบาลใหม่.
ผมจะพยายามนำร่างพระราชบัญญัติความรับผิดและวิธีพิจารณาความสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพ พ.ศ. ... ฉบับนี้เข้าสู่สภาให้ได้. โดยจะขอให้ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในรัฐบาลใหม่เป็นผู้เสนอ. แต่ถ้าไม่ได้ก็จะต้องใช้ช่องทางอื่นๆ คือ ขอให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 20 ท่านเป็นผู้เสนอ หรือสุดท้ายคือ พลังของพวกเราที่เป็นทั้งแพทย์ และผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพจำนวน 10,000 คน ร่วมกันเสนอ.
ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องร่วมกันสร้างกฎหมายใหม่สำหรับผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพขึ้นโดยเฉพาะ เพราะถ้าหากจะใช้ประมวลกฎหมายอาญามาลงโทษผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพเหมือนคดีทั่วไปเสมือนหนึ่งเป็นอาชญากรจะก่อให้เกิดปัญหาในกระบวนการยุติธรรมและวิชาชีพด้านสุขภาพเป็นอย่างมาก ซึ่งจะมีผลกระทบในด้านลบไปสู่ประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้.
อำนาจ กุสลานันท์ พ.บ.
น.บ., น.บ.ท.,
ว.ว. (นิติเวชศาสตร์)
ศาสตราจารย์คลินิก
เลขาธิการแพทยสภา
- อ่าน 2,045 ครั้ง
พิมพ์หน้านี้