ผู้ใช้รถใช้ถนนหลายท่านคงเคยมีโอกาสขับรถผ่านบริเวณพื้นที่ที่ทำการก่อสร้าง ปรับปรุง หรือขยายช่องจราจรของถนนกันมาบ้าง แต่จะมีซักกี่ท่านที่ตระหนักคิดว่า ในบริเวณพื้นที่ดังกล่าวนั้นมีการควบคุมพื้นที่ก่อสร้างที่มีความปลอดภัยต่อทั้งผู้ใช้รถใช้ถนน หรือคนงานก่อสร้างหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นกำแพงคอนกรีต ราวเหล็กต่างๆ เครื่องจักรต่างๆ ที่วางเรียงรายอยู่บนถนนในพื้นที่ก่อสร้าง ล้วนมีความเสี่ยงที่อาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้.
ย้อนอดีตไปเมื่อปี พ.ศ. 2534 ที่ได้มีการเริ่มต้นการก่อสร้างทางยกระดับอุตราภิมุข หรือที่เรียกกันว่า "ดอนเมืองโทลล์เวย์" เพื่อบรรเทาปัญหาการจราจรในการเดินทางระหว่างท่าอากาศยานดอนเมืองกับใจกลางเมืองกรุงเทพมหานคร ตลอดระยะเวลากว่า 3 ปีของการก่อสร้าง เกิดอุบัติเหตุทั้งเล็กและใหญ่ขึ้นรวมกันทั้งหมดถึง 185 ครั้ง สร้างสถิติว่าเป็นโครงการก่อสร้างด้านสาธารณูปโภคบนดินที่มีการเกิดอุบัติเหตุมากที่สุดในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันก็ยังคงมีข่าวของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในพื้นที่ที่มีการก่อสร้างทางถนนให้เห็นกันตามหน้าหนังสือพิมพ์กันอยู่เป็นประจำ และเมื่อเดือนกันยายน ปี พ.ศ. 2550 ที่ผ่านมา ก็มีข่าวอุบัติเหตุบริเวณพื้นที่ก่อสร้างที่น่าสยดสยองอีกครั้ง โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจท่านหนึ่งประสบอุบัติเหตุขับรถยนต์ชนแท่งกำแพงคอนกรีตกั้นขอบทางที่กำลังมีการขยายช่องจราจร บนถนนสายมอเตอร์เวย์ จนเป็นเหตุทำให้เกิดไฟลุกไหม้ท่วมทั้งคันและคนขับ ถูกไฟคลอกเสียชีวิตภายในรถ ซึ่งในบริเวณที่เกิดเหตุนั้นไม่มีไฟส่องสว่างให้เห็นแต่อย่างใด.
แน่นอนว่า ข่าวอุบัติเหตุต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้นทำให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นผู้รับเหมา หรือเจ้าของงานต่างก็ตื่นตัวและตระหนักถึงความปลอดภัยในการจัดการจราจรระหว่างการก่อสร้างกันมากขึ้น. จากที่ผู้เขียนและทีมงานของศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย1 ได้ ดำเนินการตรวจสอบความปลอดภัยทางถนน หรือที่เรียกว่า Road Safety Audit ซึ่งบางช่วงของถนนที่ทำการตรวจสอบนั้นก็มีพื้นที่ก่อสร้างรวมอยู่ด้วย และจากการตรวจสอบในหลายพื้นที่ พบว่าผู้รับผิดชอบมีการจัดการจราจรที่ดี และมีความปลอดภัยต่อผู้ใช้รถใช้ถนน. ยกตัวอย่างเช่น ในพื้นที่ก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้า BTS สายสีเขียว ส่วนต่อขยายจากสถานีรถไฟฟ้าอ่อนนุชและสิ้นสุดที่ซอยสุขุมวิท 107 (ซอยแบริ่ง) พบว่ามีการจัดวางกำแพงคอนกรีตอยู่ในลักษณะที่ค่อนข้างจะปลอดภัย การจัดการจราจรของรถที่ผ่านไปมาในพื้นที่ก่อสร้าง
โดยมีการแจ้งเตือนให้ทราบก่อนที่จะถึงบริเวณพื้นที่ก่อสร้าง เป็นต้น.
แม้กระนั้นก็ตามก็ยังพบในบางพื้นที่ที่มีการจัดการพื้นที่ก่อสร้างอยู่ในลักษณะเป็นอันตรายต่อผู้ใช้รถใช้ถนนที่สัญจรผ่านไปมา อย่างเช่น พื้นที่ก่อสร้างสะพานยกระดับข้ามแยกพระประโทน จังหวัดนครปฐม พบว่ามีการจัดวางกำแพงคอนกรีต มีระยะห่าง ซึ่งเป็นอันตรายต่อรถที่วิ่งสัญจรผ่านไปมา และการจัดการช่องจราจรมีความไม่ชัดเจน อาจทำให้ผู้ขับขี่เกิดความสับสน เป็นต้น.
การจัดการจราจรระหว่างการก่อสร้างที่อยู่ในลักษณะที่ไม่ปลอดภัย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลากลางคืน
โดยภาพรวมแล้วความปลอดภัยในการจัดการจราจรในบริเวณพื้นที่ก่อสร้างในบ้านเรานั้นมีการพัฒนาขึ้นไปในทางที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับในอดีตที่ผ่านมา. แต่หากเปรียบเทียบกับต่างประเทศแล้วก็ยังพบว่ามีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก เนื่องจากในต่างประเทศนั้น ได้มีการกำหนดความปลอดภัยในการจัดการจราจรระหว่างการก่อสร้างเป็นมาตรฐาน โดยที่ผู้รับเหมา หรือเจ้าของงานจะต้องปฏิบัติตาม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุขึ้น ในระหว่างที่มีการก่อสร้าง หรือปรับปรุงถนน ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานในการติดตั้งป้ายเตือน ที่มีความชัดเจนและสะท้อนแสง สามารถมองเห็นอย่างชัดเจนในยามค่ำคืน ระยะและตำแหน่งการติดตั้งที่เหมาะสม ไม่ใช่ติดในระยะกระชั้นชิดหรือติดที่ท้ายรถสิบล้อดังเช่นในบ้านเรา การติดตั้งสัญญาณไฟเตือนในเวลากลางคืน การใช้วัสดุที่ไม่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้รถใช้ถนนในพื้นที่ก่อสร้าง เช่น การใช้กำแพงพลาสติกบรรจุน้ำหรือทรายแทนการใช้กำแพงคอนกรีต เพราะนอกจากจะเป็นการง่ายในการเคลื่อนย้ายแล้ว ยังเป็นการลดความรุนแรงต่อผู้ใช้รถหากมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น.
การจัดการจราจรระหว่างการก่อสร้างในประเทศฮ่องกงและสหรัฐอเมริกา
อาจจะช้า แต่ก็ยังไม่สายที่จะเริ่มต้นในการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในพื้นที่ก่อสร้างสำหรับประเทศไทย ความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สิน ล้วนมีผลกระทบโดยตรงต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นทั้งผู้ประสบอุบัติเหตุ ผู้รับเหมา หรือเจ้าของงาน ดังนั้นความปลอดภัยในการจัดการจราจรระหว่างการก่อสร้างถือได้ว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้รับเหมาหรือเจ้าของงานจะต้องให้ความสำคัญมาเป็นอันดับหนึ่ง เพราะผมเองก็เชื่อว่า ผู้เกี่ยวข้องทุกท่าน ก็คงไม่อยากให้อุบัติเหตุเกิดขึ้นในพื้นที่ที่ตัวเองรับผิดชอบ รวมไปถึงผู้ใช้รถใช้ถนนที่ผ่านบริเวณนั้น...อีกหลายหมื่นแสนคน...................................ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย
1ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย ด้วยความร่วมมือจากกรมทางหลวง บริษัทวอลโว่ คาร์ จำกัด และ Thailand GRSP เมื่อปี พ.ศ. 2546 งานหลักที่มุ่งเน้นของศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย ได้แก่ การส่งเสริมให้มีการวิจัยที่เป็นอิสระ ปราศจากความลำเอียง เพื่อสร้างคลังความรู้ด้านความปลอดภัยทางถนน ซึ่งได้จากการประเมินความสัมพันธ์ระหว่างสามปัจจัยหลัก ได้แก่ ผู้ใช้ถนน รถ ถนนและสิ่งแวดล้อม ดังนั้น งานวิจัยหลักที่ทำการมุ่งเน้นจะเป็นการผสมผสานระหว่างอุบัติเหตุและกลไกของการบาดเจ็บ ภายใต้องค์ประกอบหลัก 3 ส่วนในด้านความปลอดภัยทางถนน ได้แก่ คน รถ ถนนและสิ่งแวดล้อม
- อ่าน 7,069 ครั้ง
พิมพ์หน้านี้