ขอเยาะเย้ย ทุกข์ยาก ขวากหนามลำเค็ญ
คนยังคง ยืนเด่น โดยท้าทาย
แม้ผืนฟ้า มืดดับเดือน ลับมลาย
ดาวยังพราย ศรัทธา เย้ยฟ้าดิน
ดาวยังพราย อยู่จน ฟ้ารุ่งราง
"คือ แสงดาวแห่งศรัทธา เพื่อมวลชน . . ."
ขอไว้อาลัยแด่นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ รัฐบุรุษแห่งวงการ สาธารณสุขไทย1 ถึงแก่กรรมด้วยโรคมะเร็งปอด เมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2551
1กลุ่มแพทย์ชนบทและผู้เคยร่วมงานกับนพ.สงวน เช่น นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบทรุ่นที่ 22 และนพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยสังคมและ สุขภาพ (สวสส.) ยกย่องนายแพทย์สงวนว่าเป็น "รัฐบุรุษแห่งวงการสาธารณสุขไทย"
ปูมหลังชีวิตหมอชนบทสู่หมอนักบุกเบิก
นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เกิดเมื่อวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2495 ที่กรุงเทพมหานคร เป็นนายกสหพันธ์นักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดลในปี พ.ศ. 2519 สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตร์บัณฑิต คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เมื่อปี พ.ศ. 2520 เริ่มรับราชการครั้งแรกที่โรงพยาบาลราษีไศล จังหวัดศรีษะเกษ ในตำแหน่งรักษาการผู้อำนวยการโรงพยาบาล เมื่อปี พ.ศ. 2521 จนกระทั่งปี พ.ศ. 2526 เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลราษีไศล และย้ายมาเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งการทำงานทั้งสองแห่งได้บุกเบิกการสร้างสุขภาพชุมชนจนเป็นที่รักของชาวบ้านอย่างมาก และที่โรงพยาบาลบัวใหญ่ นายแพทย์สงวนได้รับคัดเลือกเป็นแพทย์ดีเด่นประจำปี พ.ศ. 2528 ด้วยผลงานการวางแผนงานใช้สาธารณสุขมูลฐานเป็นกลยุทธ์แก้ปัญหา ตั้งกองทุนยา กองทุน โภชนาการหมู่บ้านและชุมชน ฯลฯ ได้รับรางวัลแพทย์ผู้ทำประโยชน์ต่อสังคม ทุนสมเด็จพระวันรัต ประจำปี พ.ศ. 2544 จากแพทย-สมาคมแห่งประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2538 เป็นผู้ช่วยปลัดกระทรวงสาธารณสุข และเป็นรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ใน ปี พ.ศ. 2544-2546 ก่อนที่จะมาเป็นเลขาธิการสปสช. ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2546.
นอกจากนี้ยังมีผลงานด้านวิชาการเกี่ยวกับระบบหลักประกันด้านสุขภาพจำนวนมาก ร่วมผลักดันระบบประกันสังคมและระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จนกระทั่งรัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นำไปเป็นนโยบายสำคัญในการหาเสียงคือ 30 บาทรักษาทุกโรค. โครงการนี้สามารถเริ่มต้นและขยายผลไปได้อย่างรวดเร็ว โดยแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงจากหลักการเดิมไปไม่น้อย แต่แนวทางหลักยังเป็นไปตามที่นายแพทย์สงวนวางไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาจากความเป็นเพียงโครงการไปสู่การออกกฎหมายรองรับคือ พระราชบัญญัติหลักประสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ทำให้ระบบประกันสุขภาพแห่งชาติได้ลงรากปักฐานอย่างมั่นคงในสังคมไทยโดยแท้จริง.
นายแพทย์สงวน นับเป็นหัวขบวนที่ปฏิรูประบบสุขภาพไทยครั้งใหญ่ ในการสร้างความเป็นธรรมทาง ด้านสุขภาพให้กับประชาชน เป็นผู้นำในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือที่รู้จักกันว่าโครงการ 30 บาท. อย่างไรก็ตาม สิ่งที่นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เลขาธิการสปสช.อยากจะทำ ซึ่งจะมีผู้สานต่อโครงการต่อไป 5 ประการ กล่าวคือ
- โครงการเพื่อนช่วยเพื่อน หรือ "จิตอาสา" ให้คนไข้ที่ป่วยและหายแล้วให้กำลังใจที่มีจิตใจความเป็นมนุษย์ช่วยเหลือเพื่อนที่ยังเจ็บป่วยให้หายจากโรคต่างๆได้. ที่ผ่านมามีเพื่อนช่วยเพื่อนแล้ว เช่น เครือข่ายโรคมะเร็ง (กลายเป็นที่มาของการตั้งกองทุนนายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เพื่อนช่วยเพื่อน) เครือข่ายโรคหัวใจ เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี เป็นต้น โดยในปีนี้จะมีการขยายโครงการไปยังโรคเรื้อรังอื่นๆอีก.
- เร่งรณรงค์ให้ประชาชนในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไม่เป็นโรคตาบอด ซึ่งจะเชื่อมโยงไปถึงคนป่วยที่จะเป็นโรคเบาหวานจะเสี่ยงกับโรคตาบอดด้วย โดยจะมีวิธีจัดการเช่นเดียวกับโรคหัวใจ ให้ความสำคัญในเรื่องการปลูกถ่ายอวัยะ.
- กองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น ขณะนี้สปสช.ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ก่อตั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพกว่า 880 แห่ง และจะทำให้เกิดความชัดเจนโดยท้องถิ่นและชุมชนมีส่วนร่วม.
- โครงการลดความแออัดในโรงพยาบาล เพื่อประชาชนเข้า ถึงบริการสุขภาพอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมและลดภาระงานของหน่วยบริการขณะนี้นำร่อง 13 แห่ง โดยให้ประชาชนที่ถือบัตรทองไปใช้หน่วยบริการใกล้บ้านใกล้ใจหรือปฐมภูมิ หรือกล่าวได้ว่าจะไม่มีคนไข้ walk in อีกต่อไป.
- โครงการ "ทำดีได้ดี" เป้าหมายคือ สร้างแรงจูงใจให้หน่วยบริการและเครือข่ายจัดบริการที่มีคุณภาพและมาตรฐาน.
ทั้งนี้นายแพทย์สงวนได้เขียนด้วยลายมือตัวเองขณะที่ยังมีสติสัมปชัญญะก่อนเสียชีวิตว่า ขออุทิศร่างกายของตนให้คณะแพทยศาสตร์รามาธิบดีเพื่อประโยชน์ทางการศึกษาของนักศึกษาแพทย์.
ซึ่งหลังจากการศึกษาทางการแพทย์เสร็จสิ้นแล้วทางญาติและผู้ใกล้ชิดจึงจะนำร่างของนายแพทย์สงวนมาทำพิธีฌาปนกิจ โดยจะมีการขอพระราชทานเพลิงศพต่อไป.
พลิกประวัติศาสตร์ระบบสุขภาพสู่การวางรากฐานทางสังคม
เมื่อเริ่มแรกโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มีแรงเสียดทานจากวงการเสื้อกราวน์จำนวนมาก บ้างก็เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว. เนื่องจากเป็นโครงการใหญ่และยาก และหากทำจะต้องถือว่าเป็นการพลิกประวัติศาสตร์ของระบบสาธารณสุขไทยเลยทีเดียว.
ว่ากันว่า เมื่อเริ่มก่อตั้งโครงการฯ นั้น บรรดาหมอในกระทรวงสาธารณสุขบางกลุ่มไม่สนับสนุนก่อให้เกิดแรงเสียดทานอย่างมาก แต่ด้วยความอดทนที่เคยผ่านงานในชุมชน (หมอชนบท) ของคุณหมอสงวน ทำให้ท่านไม่ย่อท้อเพราะอยากเห็นชาวบ้านไม่ต้องล้มละลาย ขายนา ขายบ้าน เพียงเพื่อไปเป็นค่ารักษาคนในครอบครัวเท่านั้น.
อย่างไรก็ตาม เมื่อโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเกิดขึ้น ในช่วงเริ่มแรก เป็นการทดลองทำเป็นเหมือนลองผิด ลองถูก เก็บเงิน 70 บาท และเก็บ 40 บาท ในท้ายที่สุดพรรคไทยรักไทย (สมัยเดิม 2544) ได้เสนอให้เก็บ 30 บาท จึงเป็นที่มาโครงการ 30 บาท รักษาทุกโรค. แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเก็บ 30 บาทแล้วรักษาได้ทุกโรค เพราะสมัยเริ่มรัฐบาลจัดสรรงบให้อย่างจำกัด. แม้ว่า นักเศรษฐศาสตร์หลายๆ ท่านไม่ว่าจะเป็น ดร.อัมมาร สยามวาลา จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) หรือนายแพทย์วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง หรือแม้กระทั่งดร.โอฬาร ไชยประวัติ ก็ตาม โดยเมื่อเริ่มโครงการรัฐบาลจัดสรรงบประมาณให้ปี 2545 จัดสรรงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวในอัตรา 1,202.40 บาท/คน/ปี ขณะที่ในปี 2546 จัดสรรให้ 1,202.40 บาท/คน/ปี และปี 2547 รัฐบาลจัดสรรให้ 1,308.50 บาท/คน/ปี ในปี 2548 จัดสรรให้ 1,396.30 บาท/คน/ปี ในปี 2549 ได้รับจัดสรร 1,659.20 บาท/คน/ปี ในปี 2550 ได้รับจัดสรร 1,899.69 บาท/คน/ปี และล่าสุดปี 2551 ได้รับการจัดสรรจากรัฐบาล 2,100 บาท/คน/ปี. อย่างไรก็ตาม สิ่งที่นายแพทย์สงวนได้ให้สัมภาษณ์เมื่อ ปลายปีที่ผ่านมาว่า ปี 2552 รัฐบาลควรจัด 2,200 บาท/คน/ปี โครงการจะดำเนินการไปได้.
จะเห็นได้ว่า ความพยายามที่รัฐบาลจัดสรรงบประมาณให้ประชาชน ต่อคน/ปี นั้นเกิดจากหลายๆฝ่ายร่วมกัน ขณะที่นายแพทย์สงวนก็มีส่วนพยายามผลักดันให้รัฐบาลได้รับงบเพิ่มในเรื่องของการมีข้อมูลเชิงลึกของนักเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขของคุณหมอที่บ่มประสบการณ์มายาวนาน ทำให้รัฐบาลหลายวาระจนถึงรัฐบาลขิงแก่ได้จัดสรรงบประมาณเพิ่มมาตลอดระยะเวลา ซึ่งเดิมโรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ต่างประสบปัญหาสภาวะขาดทุนมาตลอดแต่ภายหลัง 2-3 ปี ที่รัฐบาลเพิ่มงบและ มีการจัดสรรงบประมาณแบบใหม่ ทำให้โรงพยาบาลหรือหน่วยบริการประสบปัญหาขาดทุนนั้นค่อยๆหมดไป ดังคำที่คุณหมอสงวนเคยบอกผ่านสื่อว่า "ในช่วงนี้การพูดถึงโรงพยาบาลขาดทุนจะหมดไป คงต้องมาพูดเรื่องการจะทำให้อย่างไรให้ประชาชนได้เข้าถึงโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูงๆ หรือโรคที่รักษายากๆ ไม่ต้องล้มละลายได้แล้ว" นั่นเป็น การทิ้งท้ายของนายแพทย์สงวน ที่ตั้งปณิธานว่า จะต้องทำให้ประชาชน ได้รับบริการที่เท่าเทียมกันหรือเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขนั่นเอง..........
นายแพทย์สงวนกับโรคมะเร็ง
นายแพทย์สงวนเริ่มต้นทำงานสาธารณสุขด้วยการทำงานในท้องถิ่นชนบท ต่อมาได้ย้ายเข้ามาในกระทรวงสาธารณสุข ท่านเป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่มีแนวคิดร่วมกันและพยายามทำในสิ่งที่เรียกว่า "การปฏิรูประบบสุขภาพ" ซึ่งมีหลายเรื่องหลายระบบย่อยที่ต้องการปฏิรูปไปพร้อมๆกัน ภายหลังที่ได้ทำทั้งงานวิจัยและการทดลองปฏิบัติจริงในระดับพื้นที่รวมถึงการผลักดันโครงการเข้าสู่ระดับนโยบายของประเทศ จนกระทั่งในปัจจุบันกลายเป็นพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 และมีการตั้งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ขึ้นมา. นายแพทย์สงวนทำหน้าที่ในตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติคนแรก รับผิดชอบการบริหารงานองค์กรที่จัดตั้งขึ้นใหม่ซึ่งมีงานหลายด้านและมีทีท่าว่ากำลังจะไปได้ดีขึ้นเรื่อยๆ.
แต่หลังจากที่ท่านดำเนินการ สปสช. มาได้เพียงครึ่งปี ท่านก็พบว่าตัวเองเป็นโรคมะเร็ง.
มะเร็งเข้ามาเป็นเงื่อนไขใหม่ของชีวิตนายแพทย์สงวน ท่านกล่าวไว้ว่า "ผมก็คงเหมือนกับผู้ป่วยมะเร็งทุกคนที่อดไม่ได้ที่จะตั้งคำถามว่าทำไมต้องเป็นผม และทำไมต้องเป็นตอนนี้ด้วย" เพราะวันที่พบว่ามีโรคร้ายอยู่ในจุดสำคัญของร่างกายนั้น กำลังเป็นช่วงที่เกือบจะถึงจุดสูงสุดของการทำสิ่งที่ท่านใฝ่ฝันมาตลอดชีวิต.
ภายหลังเข้ารับการผ่าตัดและการรักษา นายแพทย์สงวนยังคงมาทำงานอย่างสม่ำเสมอ ประหนึ่งว่าโรคร้ายนี้มิได้เกิดขึ้น ความป่วยไข้ครั้งนี้ได้เข้ามาแปรเปลี่ยนมะเร็งให้กลายเป็นพลัง.
กว่า 4 ปี ที่นายแพทย์สงวนใช้ชีวิตให้มีชีวิตอยู่ร่วมกับโรคมะเร็ง และมองหาหนทางที่จะอยู่กับมะเร็งอย่างมีความสุข. ท่านได้ผลักดันให้มีการพัฒนาและขยายรูปแบบการดูแลผู้ป่วยมะเร็งที่เรียกว่า "โครงการมิตรภาพบำบัด" ซึ่งเป็นที่มาของ "กองทุนนายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์" และนี่คือเจตนารมณ์สุดท้ายของนายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์.
- อ่าน 22,569 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้