โรคลมชัก เป็นโรคทางระบบประสาทที่พบบ่อยเป็นอันดับต้นรองจากอาการปวดศีรษะ1 แต่ผู้ป่วยโรคลมชักจะได้รับผลกระทบจากโรคลมชักมากกว่าโรคปวดศีรษะ. จากหลายๆ การศึกษาพบว่าคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคลมชักจะไม่ดี ผู้ป่วยโรคลมชักมีงานทำต่ำกว่าอาชีพอื่นๆ คู่สมรสก็มีเศรษฐฐานะต่ำกว่าคนทั่วไปและผู้ป่วยโรคอื่นๆ ถ้าเป็นเด็กก็เข้าเรียนหนังสือยาก เพราะโรงเรียนจะไม่รับ เพื่อนก็จะไม่ค่อยเล่นด้วย เนื่องจากถูกพ่อแม่ห้ามไว้ ไม่ให้เล่นกับเด็กที่เป็นโรคลมชัก เพราะกลัวว่าโรคลมชักเป็นโรคติดต่อทางการสัมผัสและน้ำลาย ซึ่งทั้งหมดนั้นเป็นความรู้และความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไปจากความจริง.
แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์จะได้เรียนเรื่องโรคลมชักก็เพียง 1-2 ชั่วโมง ในห้องเรียน โอกาสที่แพทย์จะเผยแพร่ความรู้ที่ถูกต้องต่อสังคมก็มีน้อยมาก ดังจะเห็นได้จากสมาคมโรคลมชักแห่งประเทศไทยร่วมกับชมรมโรคลมชักเพื่อประชาชน จัดการประชุมให้ความรู้เรื่องโรคลมชักต่อสังคมเพียงปีละ 1-2 ครั้ง และจัดพิมพ์สารจากชมรมโรคลมชักเพื่อประชาชนปีละ 3 ฉบับแจกจ่ายสมาชิกชมรมฯ เท่านั้น.
การเผยแพร่ความรู้ในโรงเรียนก็มีน้อยครั้ง ไม่ทั่วถึงทั้งๆ ที่เด็กนักเรียนเป็นโรคลมชักจำนวนมากและความรู้ที่นักเรียนได้รับจากครู อาจเป็นความรู้ที่ไม่ถูกต้องแต่ได้รับการถ่ายทอดกันมาตลอด เช่น การช่วยเหลือผู้ป่วยขณะชัก คุณครูร้อยละ 64 จะสอนให้เด็กช่วยเหลือโดยการงัดฟันหรือปากผู้ป่วยเพื่อป้องกันการกัดลิ้น.2
ดังนั้นแพทย์จึงต้องมีการรณรงค์เผยแพร่ความรู้ที่ถูกต้องต่อทุกกลุ่มประชากรให้มากยิ่งขึ้น ที่ผ่านมาการให้ความรู้ก็จะมีรูปแบบที่นิยมคือ การจัดบรรยายให้ความรู้ การเขียนบทความเผยแพร่ทางหนังสือพิมพ์ (น้อยมาก) การออกรายการโทรทัศน์ (น้อยมากๆ) และการจัดพิมพ์แผ่นพับเผยแพร่ความรู้ซึ่งนิยมทำมากที่สุด ทั้งจากอาจารย์แพทย์และพยาบาลในแต่ละหน่วยงาน. แผ่นพับนั้นก็เป็นที่นิยมของผู้ป่วย ญาติผู้ป่วย และประชาชนทั่วไป ประเมินได้จากการจัดพิมพ์แต่ละครั้งเมื่อนำมาเผยแพร่จะหมดลงอย่างรวดเร็ว ส่วนหนึ่งก็ลงเอยในถังขยะ เพราะเป็นการหยิบอ่านระหว่างรอหมอตรวจ.
จากกลวิธีต่างๆ ข้างต้น ผู้ป่วยหรือประชาชน ก็จะได้รับความรู้ไประดับหนึ่ง แต่ไม่ทราบว่ามีการเก็บไว้อ่านภายหลังเมื่อมีข้อสงสัยหรือเผยแพร่ต่อหรือไม่. ผมและกลุ่มศึกษาวิจัยโรคลมชัก โรงพยาบาลศรีนครินทร์ ได้จัดทำแผ่นพับเผยแพร่ความรู้โรคลมชักมาอย่างสม่ำเสมอ ได้แก่ กีฬากับโรคลมชัก อยู่อย่างไรให้เป็นสุขกับโรคลมชัก ชักไม่ขับ โรคลมชักกับการตั้งครรภ์ การตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุโรคลมชัก. การใช้ยากันชัก โรคลมชักกับผู้หญิง และอุบัติเหตุที่เกิดจากการชัก. นอกจากนี้ยังได้จัดทำวีซีดีบันทึกการบรรยายให้ความรู้ โรคลมชัก การจัดทำเว็บไซต์ (http://epilepsy.kku. ac.th) เผยแพร่ความรู้โรคลมชัก. แต่เราตั้งคำถามว่าสื่อต่างๆ ที่ทำนั้นได้ประโยชน์แค่ไหน ถ้าสอบถามจากผู้มารับบริการ คำตอบคงได้ว่าดีมากที่มีสื่อต่างๆ ให้เราพบว่าแผ่นพับที่จัดพิมพ์หมดอย่างรวดเร็ว และบางส่วน เราก็พบว่าถูกทิ้งลงในถังขยะ ไม่ต่างกับแผ่นพับโฆษณาขายสินค้าต่างๆ.
กลุ่มศึกษาวิจัยโรคลมชักฯ จึงพยายามหากลวิธี ในการเผยแพร่ความรู้แนวใหม่เพื่อให้อยู่กับผู้ป่วยหรือ ญาตินานที่สุดและสามารถเผยแพร่สู่ประชาชนทั่วไปได้ จึงเป็นที่มาของปฏิทินเผยแพร่ความรู้ ซึ่งเริ่มต้นใน ปี พ.ศ. 2550 เป็นปฏิทินแขวนขนาดใหญ่ 1 แผ่นประกอบด้วยรูปภาพ เรื่องที่ต้องการเผยแพร่และปฏิทินรายเดือน โดยจัดทำขึ้นมา 3,000 แผ่น เป็นรูปเฉลิมฉลองในหลวงครองราชย์ 60 พรรษา (ครึ่งแผ่น) และให้ความรู้เกี่ยวกับโรคลมชัก (ครึ่งแผ่น) ได้แก่ โรคลมชักคืออะไร เกิดจากอะไร รักษาได้ด้วยวิธีใดบ้าง โรคลมชักสามารถแต่งงานได้ การให้นมบุตรในผู้ป่วยหญิง อุบัติเหตุจากโรคลมชัก การช่วยเหลือผู้ป่วยขณะชักและภาวะไข้ชัก พร้อมกับประเมินวัตถุประสงค์ข้างต้นว่าบรรลุหรือไม่. เริ่มแจกปฏิทินตั้งแต่เตือนตุลาคม พ.ศ. 2549 จำนวน 1,000 ครัวเรือนในชุมชนเขตอำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น โดยมีการลงทะเบียนบ้านที่นำปฏิทินไปแจก โดยที่ไม่ได้บอกว่าจะมีการประเมินภายหลังว่ามีการใช้ปฏิทินหรือไม่ แล้วเราก็ลงพื้นที่เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2550 เพื่อประเมินการคงอยู่ของปฏิทิน การใช้ประโยชน์ รวมทั้งทดสอบความรู้เกี่ยวกับโรคลมชัก พบข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้
1. จำนวนครัวเรือน ร้อยละ 93.2 ยังใช้ปฏิทินสม่ำเสมอและแขวนไว้ให้เราเห็นว่ามีการใช้ปฏิทินนี้ของ ทุกคนในบ้าน.
2. ความรู้ที่ได้รับจากปฏิทิน ร้อยละ 74.5 ตอบว่าได้รับความรู้มาก ร้อยละ 25 และ 0.5 ตอบว่าได้รับความรู้ปานกลางและน้อยตามลำดับ.
3. เมื่อมีการประเมินความรู้และนำมาเปรียบเทียบกับการศึกษาก่อนหน้านี้ที่ศึกษาในประชาชนทั่วไปพบดังตารางที่ 1.
จากข้อมูลในตารางที่ 1 พบว่าความรู้เกี่ยวกับสาเหตุและการช่วยเหลือผู้ป่วยขณะที่มีอาการชัก ในกลุ่มที่ได้รับปฏิทินดีกว่ากลุ่มประชาชนทั่วไป แต่การเปรียบเทียบนี้อาจประเมินได้ลำบากเพราะเป็นการศึกษาต่างเวลา สถานที่และแบบประเมินแตกต่างกัน. อย่างไรก็ตามยังพบว่าประชาชนมีความรู้ที่ดีขึ้น.
ทางกลุ่มศึกษาวิจัยโรคลมชักฯ จึงอยากเสนอกลวิธีการเผยแพร่ความรู้อีกรูปแบบหนึ่งซึ่งน่าจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อวงการสาธารณสุข ซึ่งในปีนี้ พ.ศ. 2551 ทางกลุ่มศึกษาวิจัยฯ จัดทำปฏิทินรูปพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจจำนวน 6,000 แผ่น.
เอกสารอ้างอิง
1. รายงานประจำปีองค์การอนามัยโรค ประจำปี พ.ศ. 2548.
2. Tiamka S, Auevitchayapat N, Arunpongpaisal S, et al. Knowledge of epilepsy among teachers in Khon Kaen Province, Thailand. J Med Assoc Thai 2005;88:1802-8.
3. อำไพ เข็มค้า, สมศักดิ์ เทียมเก่า, สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ และคณะ. ความรู้ของประชาชนในจังหวัดขอนแก่นต่อโรคลมชัก. วารสารประสาทวิทยาศาสตร์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2549;1:14-22.
สมศักดิ์ เทียมเก่า พ.บ.
รองศาสตราจารย์ สาขาวิชาประสาทวิทยา
ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยขอนแก่น
- อ่าน 4,150 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้