ร่างพระราชบัญญัติความรับผิดและวิธีพิจารณาความสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพ พ.ศ. ....
วิชาชีพแพทย์เป็นการกระทำต่อชีวิตและร่างกายมนุษย์ซึ่งมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดภาวะอันไม่พึงประสงค์โดยไม่คาดคิดขึ้นได้เสมอ แม้ผู้ประกอบวิชาชีพจะได้ใช้ความระมัดระวังตามวิสัยและพฤติการณ์อย่างสูงแล้วก็ตาม การที่จะพิจารณาว่าผู้ประกอบวิชาชีพจะมีความผิดและต้องรับโทษทางอาญาหรือไม่จำเป็นต้องใช้ความรู้ทางวิชาการเฉพาะสาขาที่มีความสลับซับซ้อนมาก ซึ่งมีความก้าวหน้าและมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา.
ดังนั้นในกรณีที่มีความเสียหายเกิดขึ้นจากการดูแลรักษาผู้ป่วยโดยไม่ได้เจตนา จึงไม่ควรใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 291 มาตรา 300 และมาตรา 390 ที่ใช้สำหรับความผิดทั่วไปมาใช้บังคับลงโทษผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพ แต่ควรมีกฎหมายพิเศษที่มีบทกำหนดความผิด บทกำหนดโทษและวิธีพิจารณาความแยกออกมาต่างหากเพื่อให้มีการคุ้มครองทั้งแพทย์และประชาชนตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 80 (2)
ผมและทีมเลขาธิการแพทยสภา ได้ร่างพระราชบัญญัติความรับผิดและวิธีพิจารณาความสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพ พ.ศ. .... เสร็จเรียบร้อยแล้ว ขอนำเสนอให้ทราบบางส่วนดังนี้
หมวด 2
วิธีพิจารณาความสำหรับการประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพ
มาตรา 12 เมื่อได้มีการแจ้งความร้องทุกข์หรือกล่าวโทษผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพ ก่อนที่พนักงานสอบสวนจะดำเนินการต่อไป ให้ขอความเห็นทางวิชาการไปยังสภาวิชาชีพด้านสุขภาพเพื่อนำไปประกอบการพิจารณา
มาตรา 13 เมื่อพนักงานอัยการได้รับสำนวนการสอบสวนจากพนักงานสอบสวนแล้ว ก่อนการดำเนินการพิจารณาเพื่อสั่งฟ้องคดี อันเกี่ยวเนื่องมาจากผลแห่งการประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพโดยผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพ ให้พิจารณาความเห็นทางวิชาการจากสภาวิชาชีพด้านสุขภาพก่อน
มาตรา 14 ในกรณีที่ผู้ที่ได้รับผลกระทบอันไม่พึงประสงค์ ทายาท ผู้ปกครอง ผู้พิทักษ์ หรือผู้อนุบาลของผู้ที่ได้รับผลกระทบแล้วแต่กรณี ฟ้องต่อศาลโดยตรง ให้ศาลดำเนินการไกล่เกลี่ยคู่กรณีที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย โดยมีผู้แทนจากสภาวิชาชีพด้านสุขภาพและที่ปรึกษาด้านกฎหมายหรือทนายความของผู้ถูกกล่าวหาอยู่ด้วยทุกครั้ง
มาตรา 15 ในการไต่สวนมูลฟ้องและในการพิจารณาคดี ให้ศาลรับฟังความเห็นจากพยานผู้เชี่ยวชาญที่เป็น กลางจากสภาวิชาชีพเพื่อประกอบการพิจารณาด้วย
มาตรา 16 ในการไต่สวนมูลฟ้อง ให้ศาลแจ้งให้คู่ความทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน
มาตรา 17 มิให้ถือว่าผู้ต้องหาตกเป็นจำเลยจนกว่าศาลจะประทับรับฟ้อง
มาตรา 18 ให้ผู้ประกอบวิชาชีพสามารถใช้สิทธิความเป็นสมาชิกแห่งสภาวิชาชีพประกันตนเองได้
หมวด 3
บทกำหนดโทษ
มาตรา 19 ในการประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพ ผู้ประกอบวิชาชีพไม่ต้องรับผิดตามบทกำหนดโทษที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 มาตรา 300 และมาตรา 390 โดยให้รับผิดตามบทกำหนดโทษต่อไปนี้แทน
มาตรา 20 ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพที่ได้กระทำการประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เป็นเหตุให้ผู้ได้รับผลกระทบถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปีและปรับไม่เกินสองหมื่นบาท
มาตรา 21 ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพที่ได้กระทำการประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เป็นเหตุให้ผู้ได้รับผลกระทบได้รับอันตรายสาหัส ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีและปรับไม่เกิน หกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 22 ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพที่ได้กระทำการประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เป็นเหตุให้ให้ผู้ได้รับผลกระทบได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
หมวด 4
บทเบ็ดเตล็ด
มาตรา 23 ความรับผิดตามมาตรา 20 มาตรา 21 และมาตรา 22 เป็นความผิดที่ยอมความได้
มาตรา 24 วิธีพิจารณาความที่พระราชบัญญัตินี้มิได้บัญญัติไว้ ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาใช้บังคับเท่าที่พอจะใช้บังคับได้
ในร่างพระราชบัญญัติฯนี้จะมีวิธีพิจารณาความสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพ โดยกำหนดให้มีการรับฟังความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขาที่มีความเป็นกลาง และมีความรู้จริงๆตั้งแต่ชั้นพนักงานสอบสวน ชั้นอัยการ ตลอดจนถึงในชั้นศาล และกำหนดให้แพทย์ต้องรับผิดในการประกอบวิชาชีพในกรณีที่กระทำโดยจงใจ หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเท่านั้น ซึ่งแต่เดิมแค่เพียงประมาทธรรมดาก็ต้องรับผิดแล้ว และกำหนดให้เป็นความผิดที่ยอมความได้ ซึ่งแต่เดิมเป็นความผิดที่ยอมความไม่ได้ แม้จะได้รับการชดใช้ความเสียหายแล้วก็ยังต้องดำเนินคดีอาญาต่อไปส่วนโทษที่กำหนดก็เป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญาเหมือนเดิม มิได้มีการเปลี่ยนแปลงใดๆทั้งสิ้น.
ผมมั่นใจว่าหากเรื่องนี้สามารถออกเป็นกฎหมายได้ จะเป็นหลักประกันให้แพทย์สามารถทำงานด้วยความกล้าหาญเพื่อรักษาชีวิตผู้ป่วยในภาวะวิกฤตได้อย่างเต็มที่.
*****************
อำนาจ กุสลานันท์ พ.บ.
น.บ., น.บ.ท.,
ว.ว. (นิติเวชศาสตร์)
ศาสตราจารย์คลินิก
เลขาธิการแพทยสภา
- อ่าน 3,384 ครั้ง
พิมพ์หน้านี้