วันหนึ่ง ขณะที่เยี่ยมดูผู้ป่วยที่ห้องตรวจผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาลชุมชมแห่งหนึ่ง มีผู้ป่วยชายอายุ 60 ปีเศษมาพบแพทย์ด้วยอาการไอเรื้อรังจนนอนไม่ได้ และน้ำหนักลดมา 2 เดือน. ผู้ป่วยเคยถูกส่งตัวไปตรวจที่โรงพยาบาลทั่วไปในจังหวัดเดียวกัน ซึ่งการตรวจภาพถ่ายรังสีและอัลตราซาวนด์พบว่ามีก้อนขนาดใหญ่ที่ตับ สงสัยเป็นมะเร็งตับ จึงส่งไปปรึกษาแพทย์เฉพาะทางที่โรงพยาบาลศูนย์ในจังหวัดข้างเคียง.
ผู้ป่วยเล่าว่า "หมอที่นั้นไม่ได้ซักถามและตรวจอะไร เพียงแต่ดูฟิล์มภาพถ่ายที่นำไปให้ แล้วก็บอกว่า ลุงเป็นมะเร็งตับ ตายลูกเดียว. ผมขอร้องให้หมอช่วยรักษาจะให้ผ่าตัดก็ยอม หมอพูดเพียงอย่างเดียวว่า รักษาไม่ได้ ผ่าตัดก็ไม่ได้ มีแต่ตายลูกเดียวให้ทำใจเสีย. ผมฟังแล้วก็ท้อแท้ หมดกำลังใจ นึกแปลกใจว่า ทำไมหมอจึงทำแบบนี้กับผม ยาสักเม็ดก็ไม่ได้ให้มากิน..."
ผู้ป่วยจึงนำผลการตรวจทั้งหมดกลับมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาลชุมชนแห่งนี้ ซึ่งได้พบแพทย์ที่คุ้นเคยกันมาก่อน. ผู้ป่วยจำได้ว่า เมื่อหลายปีก่อนแพทย์ท่านนี้เคยผ่าตัดท้องของผู้ป่วย. คราวนี้แพทย์ได้นำผลการตรวจมานั่งทบทวนและซักถามพูดคุยกับผู้ป่วยอย่างเป็นกันเอง. สุดท้ายจึงได้เขียนใบส่งตัวผู้ป่วย โดยบอกผู้ป่วยว่า "ตอนนี้ยังบอกไม่ได้ชัดว่าเป็นมะเร็งจริงหรือไม่ หมอจะส่งตัวลุงไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่สถาบันมะเร็งในจังหวัดข้างเคียง เพื่อให้คุณหมอทำการพิสูจน์ให้แน่ชัดอีกครั้ง. บางทีอาจจำเป็นต้องใช้เข็มเจาะชิ้นเนื้อตับไปพิสูจน์. ส่วนขั้นตอนการรักษาจะเป็นอย่างไรต่อไป ก็ต้องรอดูผลการตรวจเสียก่อน. วันนี้หมอจะให้ยาบรรเทาอาการไอ จะช่วยให้สบายขึ้นและนอนหลับได้ไปกินก่อน. หากลุงไปตรวจที่นั่นแล้ว มีปัญหาหรือข้อสงสัยอย่างไร ก็กลับมาพูดคุยกับหมอได้..."
ผู้ป่วยลาคุณหมอกลับไปด้วยสีหน้าที่แช่มชื่นกว่าตอนแรกที่มารอตรวจ.
ครั้งหนึ่ง ญาติผมอายุ 65 ปี มีอาการปวดโรคกระเพาะ และน้ำหนักลด ได้ไปพบแพทย์เฉพาะทางที่คณะแพทยศาสตร์แห่งหนึ่ง. หลังจากทำการส่องกล้องตรวจกระเพาะและทราบผลชิ้นเนื้อว่าเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร แพทย์ก็บอกผู้ป่วยและภรรยาตรงๆว่า ผู้ป่วยเป็นมะเร็งระยะท้ายอยู่ได้อีก 3 เดือน. ญาติผมและครอบครัวฟังแล้วแทบจะช็อก รู้สึกว่าสับสนไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรต่อไป. มีคนรู้จักแนะนำให้ไปรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งที่มีการรักษาแบบการแพทย์ทางเลือกควบคู่กับการแพทย์แผนปัจจุบัน ซึ่งในที่สุดทางโรงพยาบาลก็ตัดสินใจให้เคมีบำบัด. เนื่องจากค่ารักษาแพงและบังเอิญมีอาการตกเลือดในกระเพาะอาหารร่วมด้วย ผมจึงได้แนะนำให้ผู้ป่วยไปรักษาที่คณะแพทยศาสตร์อีกแห่งหนึ่ง. ครั้งนี้ได้พบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ที่อธิบายขั้นตอนการรักษาและให้กำลังใจผู้ป่วยเป็นอย่างดี. ผู้ป่วยรับเคมีบำบัดตามคำแนะนำของแพทย์ ทำใจยอมรับสภาพปัญหาได้ดีขึ้น สามารถออกกำลังกาย ทำสมาธิ ทำกิจวัตรประจำวันได้เป็นปกติ อ่านหนังสือ รวมทั้งมีความสุขกับงานแปลหนังสือที่ตัวเองถนัด. ในที่สุดสามารถมีชีวิตที่มีคุณภาพและมีความสุขอยู่ได้ร่วม 2 ปี.
ทั้ง 2 กรณีนี้สะท้อนว่า การสื่อสารกับผู้ป่วยโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ป่วยด้วยโรคร้ายหรือโรคที่สิ้นหวัง จำเป็นต้องมีแนวทางในการปฏิบัติที่เหมาะสม โดยต้องคำนึงถึงความรู้สึก ความคิด ความคาดหวัง การยอมรับของผู้ป่วยและสมาชิกในครอบครัว. การแจ้งข่าวร้ายแก่ผู้ป่วย จำเป็นต้องมีขั้นตอนและจังหวะที่เหมาะสม. หากใช้วาจาไม่เหมาะสมหรือไม่ถูกกาลเทศะ ย่อมส่งผลกระทบต่อจิตใจและครอบครัวของผู้ป่วย มีอิทธิพลกับพฤติกรรมและการแสวงหาบริการของผู้ป่วย รวมทั้งสร้างความไม่พึงพอใจหรือความแค้นเคืองแก่ผู้ป่วยได้.
แพทย์ผู้รักษาจำเป็นต้องมีเวลาทำความรู้จักและสร้างความสัมพันธ์กับผู้ป่วยและครอบครัว สำรวจว่าสามารถสื่อสารอะไร แค่ไหน กับใครได้บ้าง. ควรหลีกเลี่ยงการบอกผู้ป่วยอย่างทื่อๆว่า ตายลูกเดียว หรือกำหนดระยะตายของผู้ป่วย (คล้ายคำสั่งประหารชีวิต). นอกจากนี้ ควรมีทักษะในการให้กำลังใจ ปลอบขวัญผู้ป่วยและครอบครัว แนะนำการปฏิบัติตัวในการดูแลระยะท้ายของชีวิตของผู้ป่วยให้มีคุณภาพและมีความสุข.
นักศึกษาแพทย์และแพทย์ประจำบ้าน ควรเรียนศาสตร์การดูแลผู้ป่วยระยะท้าย และฝึกทักษะการสื่อสารกับผู้ป่วยในลักษณะต่างๆ รวมทั้งการแจ้งข่าวร้าย.
- อ่าน 3,058 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้