ปัจจุบันความก้าวหน้าในวิทยาการ ทางการแพทย์ทำให้สามารถช่วยชีวิต ผู้ป่วยให้อยู่รอดได้มากขึ้น. โดยตลอดระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมา มีความเชื่อว่าวิทยาการทางการแพทย์เหล่านี้สามารถจัดการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายของผู้ป่วยได้อย่างราบรื่น. แต่ในความจริงแล้วเป็นสิ่งยากที่สุดที่บุคคลรอบข้าง เช่น ญาติ ครอบครัว คู่สมรส ตลอดจนบุคลากรทางการแพทย์จะรับมือกับการสูญเสีย เมื่อทราบว่าบุคคลที่ตนรักหรือผู้ป่วยกำลังจะเสียชีวิต แต่ที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ก็คือ มีผู้ป่วยเป็นจำนวนมากที่ถูกละเลย ไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างเหมาะสมในวาระสุดท้ายของชีวิต. ดังนั้นแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาระบบบริบาลผู้ป่วยระยะสุดท้ายจึงมีความสำคัญอย่างมากต่อการบริการสาธารณสุขมูลฐาน. ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายเสียชีวิตโดยไม่ต้องทุกข์ทรมาน และบุคคลรอบข้างสามารถยอมรับได้กับความสูญเสีย.
ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีความพยายามที่จะเพิ่มศักยภาพในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย และมีหลายแนวคิดเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้สมุนไพรและแพทย์ทางเลือก (ตารางที่ 1). ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์ควรจะยอมรับและอนุญาตให้ผู้ป่วยตลอดจนญาติและครอบครัวมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ เมื่อวาระสุดท้ายเข้ามาถึงโดยคำนึงถึงความพึงพอใจของผู้ป่วยเป็นสำคัญ.
การวางแผนในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย
แบบแผนของการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ควรมีความเบ็ดเสร็จในตัว นั่นคือ มีความพร้อมด้านเวชภัณฑ์ บุคลากรผู้ดูแลผู้ป่วย และการประสานงานของบุคลากรที่เกี่ยวข้องอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น การที่มีสหสาขาวิชาชีพเข้ามาเกี่ยวข้อง (เภสัชกร พยาบาล นักสังคมสงเคราะห์ โภชนากร พระ อาสาสมัคร และอื่นๆ) ภายใต้การชี้แนะของแพทย์จะทำให้บรรลุเป้าหมายของการดูแลได้ง่ายขึ้น.
เป้าหมายหลักในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายคือ ให้ผู้ป่วยมีความสบายกายและมีสุขภาพจิตที่ดี (ตาราง ที่ 2) และในบางครั้งอาจต้องมีการสนองความต้อง การของผู้ป่วยในด้านศาสนาและความเชื่อเพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลาย.
ขอบเขตการรักษา
การกำหนดขอบเขตการรักษานั้น ควรจะเกิดขึ้นก่อนหน้าขั้นตอนการวางแผนการรักษาในขณะที่ผู้ป่วยยังสามารถสื่อสารได้ ขอบเขตการรักษา เช่น ขั้นตอนการช่วยชีวิต ประเภทของอุปกรณ์ช่วยชีวิต การตัดสินใจหยุดการรักษาเมื่อผู้ป่วยไม่อยู่ในสภาพที่สื่อสารได้ ทั้งนี้อาจมีการแนะนำให้ผู้ป่วยมีการทำพินัยกรรมในระยะนี้.
การใช้ยาบรรเทาปวด
สำหรับผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่มีอาการปวดหรือไม่สบายตัว ควรมีการให้ยาแก้ปวดที่เพียงพอแบบสม่ำเสมอตลอดทั้งวัน รวมถึงยาแก้ปวดฉุกเฉิน เพื่อป้องกันอาการปวดที่จะกลับคืนมาเมื่อยาหมดฤทธิ์. การที่ผู้ป่วยได้รับยาไม่เพียงพอจะทำให้อาการปวดรุนแรงมากขึ้น เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการวิตกกังวลร่วมด้วย โดยเหตุการณ์เหล่านี้มักจะเกิดในสถานบริการที่มีบุคลากรไม่เพียงพอ ซึ่งจะสังเกตได้จากการที่ผู้ป่วยมีอาการวิตกกังกล ซึมเศร้า และมักเรียกหายาอยู่เป็นนิจ. นอกจากนี้การประเมินอาการ ปวด ภายหลังจากที่ผู้ป่วยได้รับยาหรือคำนวณขนาดยาใหม่ที่เหมาะสมกับอาการปวด สามารถทำได้โดยความร่วมมือของเภสัชกร.
การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่บ้าน
การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่บ้าน ถือว่าเป็นทางเลือกหนึ่งของการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ควรมีการวางแนวทางปฏิบัติของการดูแลผู้ป่วย โดยต้องวางแผนและกำหนดขอบเขตความร่วมมือระหว่างครอบครัวของผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ นอกจากนี้ต้องมีการกำหนดความคาดหวังในการดูแลผู้ป่วย เฉพาะราย โดยแพทย์และพยาบาลต้องมีความพร้อมที่จะให้คำแนะนำในกรณีที่ญาติหรือครอบครัวของผู้ป่วยต้องการ อาจต้องมีการเยี่ยมบ้านผู้ป่วยบ้างเป็นบางกรณี.
การตอบสนองความต้องการด้านศาสนาและความเชื่อ
การอนุญาตให้ผู้ป่วยมีโอกาสได้ใช้ศาสนาและความเชื่อเพื่อให้เกิดความสบายใจ อาจทำให้การเข้าสู่วาระสุดท้ายของผู้ป่วยราบรื่นขึ้น. ผู้ป่วยที่กำลังจะตายมักค้นพบสัจธรรมของชีวิต ศาสนาจะทำให้ผู้ป่วยอยู่ในภาวะสงบและมีสมาธิ. ผู้ป่วยบางรายสามารถที่จะให้อภัยกับคนรอบข้างและพร้อมที่จะกล่าวคำ อำลา. การที่ผู้ป่วยมีภาวะเศร้าโศกอาจเป็นเพราะไม่ได้รับการตอบสนองความต้องการทางด้านจิตใจ ทำให้เกิดอาการกังวล ซึมเศร้าและอยากตาย.
ผู้ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย
การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายเป็นสิ่งที่ไม่น่าพิสมัยนักสำหรับบุคคลที่เกี่ยวข้อง. ผู้ป่วยที่ไม่สามารถยอม รับความจริงได้อาจสร้างความหนักใจให้แพทย์ และผู้ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย. ผู้ดูแลจะต้องเข้าใจปัจจัยที่ทำให้ผู้ป่วยอยู่ในภาวะปฏิเสธและพยายามหาสื่อ หรือแนวทางที่จะทำให้ผู้ป่วยยอมรับได้ง่ายขึ้น เช่น ให้ผู้ป่วยได้มีโอกาสได้รับข้อมูลทางอ้อมจากสื่อต่างๆ หรือการพบปะพูดคุยกับผู้ป่วยอื่นที่มีประสบการณ์เดียวกัน.
บทสรุป
องค์การอนามัยโลกได้กล่าวไว้ว่า สุขภาพประกอบด้วยสุขภาวะทั้ง 4 คือ กาย ใจ สังคม และจิตวิญญาณ. ทางการแพทย์กายคือ คนไข้. จิตใจหมายรวมถึงอารมณ์ความรู้สึก. สังคมคือ ครอบครัว ญาติพี่น้อง ผู้ร่วมงาน. จิตวิญญาณ คือ กำลังใจ. การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายจึงเป็นการรักษาตามปกติที่เน้นความสำคัญที่จิตใจของผู้ป่วยควบคู่ไปด้วย ไม่ใช้กระบวนการที่ทำให้ผู้ป่วยต้องเจ็บปวดมากกว่าเดิม แต่ต้องช่วยบรรเทาความทุกข์ ความกังวล ความกลัว ของผู้ป่วยและให้ครอบครัวของผู้ป่วยมีส่วนร่วมตลอดกระบวนการเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ป่วย.
เอกสารอ้างอิง
1. National Institute on Aging (NIA), End of life issues in the elderly, www.nia.nih.gov/<
2. National Center for Complementary and Alternative Medicine (NCCAM), Complementary and alternative therapies for symptom control management at end of life, nccam.nih.gov/
3. Agency for Healthcare Research and Quality (AHRQ), Access to and utilization of services at the end of life, www.ahrq.gov/<
ภัสร์ สุบงกช ภ.บ., M.Sc (Clinical Research), Pharm.D.
ผู้ช่วยศาสตราจารย์
ภาควิชาเภสัชกรรมปฏิบัติ
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
- อ่าน 9,002 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้