เช้าของวันศุกร์ วันสุดท้ายของการทำงาน หมอพรรณีออกตรวจคนไข้ด้วยความรู้สึกสดชื่น เพราะทำงานอีกแค่วันเดียวก็จะถึงวันหยุดสุดสัปดาห์แล้ว
เพราะเป็นวันศุกร์คนไข้เลยมีไม่มากเมื่อเปรียบเทียบกันวันอื่นๆ คนไข้รายแรกในวันนั้นคือคุณป้าสมจิตร มาด้วยอาการไอและหายใจหอบ.
หลังจากซักประวัติและตรวจร่างกาย รวมถึงเอกซเรย์ปอดจนเรียบร้อย คุณหมอพรรณีก็ลงความเห็นว่าคุณป้าสมจิตรเป็นโรคถุงลมปอดโป่งพอง หรือ COPD.
จากประสบการณ์ การเป็นแพทย์มานานหลายปี คุณหมอพรรณีมองปราดเดียวก็รู้ว่า คุณป้าสมจิตรนั้นจะต้องเป็นสิงห์อมควันอย่างแน่นอน...ปากดำ มีคราบนิโคตินเหลืองๆที่ฟัน แถมถ้าเข้าไปใกล้ๆ ยังจะได้กลิ่นบุหรี่อีกด้วย.
หมอพรรณี : ป้าคะ...ป้าสูบบุหรี่ด้วยใช่ไหมเนี่ย?
ป้าสมจิตร (ก้มหน้ามองพื้น) : ใช่ค่ะหมอ แต่ป้าไม่บอกหรอกนะว่าสูบยี่ห้ออะไร ก้นกรองหรือมวนเอง สูบวันละกี่มวน สูบมานานเท่าไหร่...เอาเป็นว่าป้ายอมรับว่าสูบบุหรี่ก็แล้วกัน
ถ้าคุณหมอเป็นคุณหมอพรรณี...เจอคนไข้แบบป้าสมจิตร...จะทำอย่างไรดีครับ
ก. พยายามเค้นถามให้ได้ หมอถามก็ต้องตอบสิยะ จะไม่ตอบได้ยังไง...ข้อมูลพวกนี้มีประโยชน์ที่จะช่วยในการรักษาทั้งนั้น
ข. ไม่ตอบตอนนี้ก็ไม่เป็นไร รอเอาไว้ค่อยถามหนหน้าก็ได้ ตามตำราเขาว่า จะต้องสร้าง doctor-patient relationship ให้ดีเสียก่อน
ค. แหมๆ ต้องใช้หลักการคนไข้เป็นศูนย์กลาง-Patient Centered Care มาใช้สิ พยายามเข้าใจป้าสมจิตรว่าทำไมไม่อยากตอบ ไม่อยากตอบก็ไม่ต้องตอบ
ง. ไม่ทำอะไร...จ่ายยาแล้วให้กลับบ้านไปเลยดีที่สุด จะถามให้เสียเวลาทำไมกัน ยังมีคนไข้รอตรวจอีกตั้งหลายคน
เอ...จะเลือกข้อไหนดีล่ะครับ.
อันที่จริงในสถานการณ์ข้างต้นและตัวเลือกที่ผมมีให้นั้น อาจไม่มีคำตอบข้อไหนเหมาะสมที่สุด การจะดูแลและเข้าใจคุณป้าสมจิตรอาจจะต้องให้หลักต่างๆทางเวชศาสตร์ครอบครัวมาผสมผสานกัน
แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด ที่ผมกำลังจะถามคุณหมอ ก็คือ...
ที่จริงแล้ว คุณหมออยากรู้คำตอบหรือเปล่าล่ะ?
คุณหมออยากทราบไหมครับว่าคุณป้าสมจิตรสูบบุหรี่วันละกี่มวน สูบแบบไหน สูบมานานกี่ปี.
ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่เปลี่ยนแปลงวิธีรักษาก็จริง แต่อาจจะช่วยในการพยากรณ์โรค ช่วยในการดูแลคนไข้ ช่วยให้คุณหมอเข้าใจคนไข้มากขึ้น แต่ถ้าไม่รู้ก็คงไม่มีผลเสียอะไรมากมายนัก...
ทั้งหมอจึงอยู่ที่ตัวคุณหมอเองว่าอยากรู้หรือเปล่า?
ครับ...เรากำลังพูดถึงความอยากรู้ หรือ Curiosity กันอยู่.
.................................................................
ความอยากรู้อยากเห็น (Curiosity) เป็นสัญชาตญาณของมนุษยชาติแต่ไหนแต่ไรมาแล้ว ในสมัยก่อนบางศาสนามองว่าความอยากรู้อยากเห็นเป็นเรื่องชั่วร้าย (Devil) เสียด้วยซ้ำไป อย่างเช่นเรื่องเล่าของแพนดอร่า1 เป็นต้น
แพนดอร่า เป็นมนุษย์ผู้หญิงซึ่งพระเจ้าสร้าง ขึ้นมาคู่กับโพรเมธีอุส (Prometheus) ผู้ขโมยไฟจากสรวงสวรรค์มาให้กับมนุษย์.
พระเจ้าต้องการทดสอบแพนดอร่าและลงโทษโพรเมธีอุสที่บังอาจขโมยไฟมาให้มนุษย์ ก็เลยมอบกล่องไม้แกะสลักใบหนึ่งให้แพนดอร่าเก็บรักษาเอาไว้ โดยกำชับว่าห้ามแพนดอร่าเปิดดูโดยเด็ดขาด ไม่ว่าจะได้ยินเสียงอะไรดังออกมาจากกล่องใบนั้น.
แหม...แต่เรื่องแบบนี้ทำยากนะครับ
ใครบ้างจะไม่อยากรู้ว่าในกล่องไม้สีดำที่แกะสลักขึ้นอย่างสวยงาม แถมมีด้ายทองคำผูกเอาไว้นั้นมีอะไรอยู่.
ดังนั้นพอโพรเมธีอุส-สามีของเธอออกไปทำธุระ แพนดอร่าก็นั่งจ้องมองกล่องไม้ด้วยความสนเท่ห์ บอก กับตัวเองว่า...เอาน่ะ...ลองเปิดดูสักหน่อย แค่แง้มๆน่ะ คงไม่มีใครรู้หรอก.
ว่าแล้วแพนดอร่าก็แก้ด้ายทองคำและแง้มฝากล่องออกมาดู เพื่อให้หายสงสัยกันไปเสียทีว่ามีอะไรอยู่ในกล่องลึกลับใบนั้น.
และทันทีที่ฝากล่องแง้มเปิดออกมา โลกมนุษย์ก็เปลี่ยนไปตลอดกาล เมื่อมีเสียงหัวเราะคิกคัก พร้อม กับอะไรบางอย่างมากมายพรั่งพรูกันออกมาจากภายในกล่องไม้สีดำ...ใช่แล้วครับ...ของที่อยู่ในกล่องไม้ใบนั้นก็คือ โรคร้าย เชื้อโรค ความสิ้นหวัง ความโศกเศร้า และความชั่วร้ายทั้งปวง ที่พากันโบยบินออกมาและแพร่กระจายไปจนทั่วโลกมนุษย์...
ผมขอไม่เล่าต่อนะครับว่าหลังจากนั้นแล้วเรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป เพราะบทความนี้จะกลายเป็นปกรณัมกรีกไปเสียก่อน เอาเป็นว่ามนุษย์เรายังมีความโชคดีอยู่บ้าง เมื่อสิ่งสุดท้ายที่บินออกมาจากกล่องมีชื่อว่า...ความหวัง (Hope)
ด้วยเหตุนี้เอง...ความอยากรู้อยากเห็น (Curio-sity) จึงกลายเป็นปีศาจร้ายไปในสายตาของใครหลายๆคน.
แต่ถ้ามองในทางกลับกัน...ก็เพราะความอยากรู้อยากเห็นนี้ไม่ใช่หรือครับ ที่ทำให้โลกของเรามีวิวัฒนาการ และหมุนไปข้างหน้า.
ถ้าออร์วิล ไรท์ และโรบิน ไรท์ ไม่อยากรู้ว่ามนุษย์สามารถบินได้เหมือนนกหรือเปล่า ทุกวันนี้เราก็คงไม่มีเครื่องบินใช้...
เล่าทั้งหมดนี้มาตั้งนาน เพราะผมกำลังพยายามบอกกับคุณหมอว่า ความอยากรู้อยากเห็นมีทั้งแง่มุมที่ดี และแง่มุมที่ไม่ดี แต่ในความเป็นแพทย์แล้ว แพทย์ที่ "อยากรู้อยากเห็น" เรื่องข้อมูลความเจ็บป่วย ข้อมูลชีวิตของคนไข้ ย่อมจะมีประโยชน์และช่วยคุณหมอในทางเวชปฏิบัติได้ดีกว่า...เห็นด้วยกับผมไหมครับ.
คุณหมอบางท่านอาจเห็นด้วย บางท่านอาจไม่เห็นด้วยกับผม...ไม่เป็นไรครับ เรามาดูกันต่อดีกว่าว่าในสถานการณ์เช่นนี้ คุณหมอพรรณีควรจะรับมือกับคุณป้าสมจิตรอย่างไร.
ก่อนอื่นเลย หลักการสำคัญในการดูแลคนไข้ ที่ไม่ประสงค์จะเล่าประวัติบางอย่างให้เราฟังนั้น มีดังนี้ครับ
1. ลองพิจารณาดูความประหลาดใจที่เกิดขึ้น ในใจเราเสียก่อน
ผมเชื่อว่าถ้าคุณหมอเป็นหมอพรรณี หลายๆท่านคงจะประหลาดใจว่าทำไม ป้าสมจิตรถึงไม่ยอมตอบคำถามของเรา ใช่ไหมครับ.
คุณหมอสามารถประหลาดใจได้ครับ แต่หลังจากความรู้สึกประหลาดใจแล้ว แทนที่จะโกรธที่คนไข้ไม่ตอบ ไม่ร่วมมือ อยากให้คุณหมอลองพิจารณาดูอย่างใจเย็นว่า ทำไมคนไข้ถึงคิดแบบนั้น.
Prof. Feynman แนะนำนักเรียนแพทย์ของเขาว่า "สิ่งใดก็ตามที่ไม่เหมือนกับที่เราคิดเอาไว้ สิ่งนั้นย่อมน่าสนใจ โดยเฉพาะอะไรก็ตามที่อยู่นอกเหนือความคาดหมาย จงติดตามมันต่อไปให้ถึงที่สุด"2
เมื่อป้าสมจิตรไม่ยอมตอบคำถามหมอพรรณี นั่นย่อมอยู่เหนือความคาดหมายของหมอแน่ๆ เพราะจะมีคนไข้สักกี่รายลุกขึ้นท้าทายหมอ แบบที่ป้าสมจิตรกำลังทำอยู่ แต่แทนที่คุณหมอพรรณีจะโกรธคนไข้ ลองคิดใหม่สิครับ...คิดว่าน่าสนใจจังเลยว่าคนไข้คิดอย่างไร น่าค้นหาคำตอบให้ได้ว่าเกิดอะไรขึ้น.
ลองเปลี่ยนความคิดของคุณหมอดูใหม่นะครับ.
2. ถึงเวลาแล้วที่คุณหมอจะใช้สัญชาตญาณความอยากรู้อยากเห็นให้เป็นประโยชน์…ความอยากรู้อยากเห็นไม่ใช่เป็นความชั่วร้ายเสมอไป โดยเฉพาะในทางการแพทย์ ความอยากรู้อยากเห็นเป็นสิ่งที่ดี.
อยากรู้ว่าทำไมคนไข้ที่แข็งแรงดีมาตลอด กลับมีอาการทรุดหนักลงอย่างรวดเร็ว, อยากรู้ว่ายาชนิดนี้ทำไมใช้รักษาคนไข้รายนี้ไม่ได้ผล, อยากรู้ว่าคนไข้คนนี้เป็นใคร คิดกับอาการป่วยของตนเองอย่างไร เป็นต้น.
3. เมื่อคุณหมอเกิดความสงสัย...คุณหมอก็จะเริ่มมีสมมติฐานในใจ ว่าทำไมถึงเป็นอย่างนั้น ทำไมถึงเกิดเหตุแบบนี้ เมื่อมีสมมติฐานเรียบร้อยแล้ว คุณหมออย่าหยุดแค่นั้น แต่จะต้องลงมือค้นหาคำตอบให้ได้นะครับ.
เห็นไหมครับว่าถ้าทำเช่นนี้ กระบวนการคิดทางการแพทย์ของเราก็จะดำเนินไปภายใต้หลักการของกระกวนการทางวิทยาศาสตร์ อันจะนำมาซึ่งคำตอบที่เราสงสัยภายในใจ.
4. หลักการสำคัญหนึ่ง เมื่อคุณหมอเกิดความสงสัยขึ้นในใจก็คือ...ความสงสัยและอยากรู้ของคุณหมอ ควรจะตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจและเห็นใจนะครับ คุณหมอไม่ได้ไปเล่นเกมส์โชว์ ที่จะต้องคาดคั้นหาคำตอบจากคนไข้ให้ได้ แต่ถ้าคุณหมอมีความเข้าใจและเห็นใจคนไข้แล้วละก็...คำตอบต่างๆก็จะตามมาเอง.
เมื่อคุณหมอเข้าใจหลักการดีแล้ว ทีนี้ก็มาถึงขั้นตอนการปฏิบัติแล้วละครับว่า เราจะดูแลคนไข้แบบคุณป้าสมจิตรอย่างไรดี ผมมีคำแนะนำดังนี้ครับ
1. เมื่อคนไข้ไม่ตอบคำถามคุณหมอ แทนที่จะโมโห คุณหมอควรจะเริ่มสงสัยได้แล้วว่า เกิดอะไรขึ้น...คนไข้คิดอย่างไร จึงไม่ตอบคำถามของเรา…หลังจากนั้นก็ตั้งสมมติฐานในใจ แล้วลงมือค้นหาคำตอบครับ.
2. ถ้าเวลาและสถานที่ไม่เหมาะสม ก็ไม่ใช่ความจำเป็นที่คุณหมอจะต้องไปเค้นหาคำตอบให้ได้ในตอนนั้น จดบันทึกเอาไว้ในเวชระเบียน เมื่อคนไข้กลับมาหาคุณหมอในครั้งต่อไป ค่อยหาคำตอบก็ยังไม่สายครับ.
3. สื่อสารกับคนไข้ว่า คุณหมออยากจะเข้าใจความคิดของคนไข้ และเข้าใจคนไข้ให้มากที่สุด แทนที่จะบ่นหรือเริ่มเทศนาคนไข้อย่างที่หมอบางท่านชอบทำ.
เราลองมาดูกันต่อสิครับว่า คุณหมอพรรณีจะนำเอาหลักการที่ว่าไปใช้อย่างไรบ้าง
หมอพรรณี : ถ้าคุณป้าไม่อยากเล่าว่าสูบบุหรี่วันละกี่มวน หมอก็เคารพในการตัดสินใจของคุณป้านะคะ แต่คุณป้าพอจะอธิบายให้หมอฟังได้ไหมคะว่า ทำไมถึงไม่อยากบอกหมอว่าสูบบุหรี่วันละกี่มวน
ป้าสมจิตร : ป้าคิดว่าไม่จำเป็นจะต้องอธิบาย ไม่จำเป็นจะต้องตอบ เพราะป้าเป็นโรคถุงลมปอดโป่งพอง ยังไงหมอก็ต้องให้ยาป้าไปกินอยู่แล้วไม่ใช่หรือคะ
หมอพรรณี : ใช่ค่ะ แต่ถ้าหมอก็อยากจะเข้าใจ รู้ถึงความคิดและความรู้สึกของคนไข้ เผื่อว่าหมอจะได้ทำอะไรให้คุณป้าเพิ่มเติมได้น่ะค่ะ
ป้าสมจิตร (จ้องมองหน้าหมอ แล้วนิ่งไปพักใหญ่) : ที่ป้าไม่อยากพูดถึงเรื่องนี้ ก็เพราะว่าหมอคนก่อนๆเคยถามป้าว่าสูบบุหรี่วันละกี่มวน พอป้าตอบไปว่าวันละสองซอง ทีนี้ละ...เจ้าประคุณเอ๊ย...เหมือนกับป้าไปฆ่าใครตายมาเลยเชียว ถูกคุณหมอเทศนาเป็นชั่วโมงๆ ถึงพิษภัยของบุหรี่ โรคมะเร็งปอด และอีกมากมาย...ป้าไม่อยากเจอแบบ นั้นอีกแล้ว...
เห็นไหมครับว่า ที่จริงแล้วการที่คนไข้ไม่ตอบคำถามหมอ ไม่ได้หมายความว่าคนไข้นิสัยไม่ดีเสมอไป แต่บางครั้งอาจมีเรื่องราวมากมายซ่อนเร้นอยู่เบื้องหลัง ถ้าวันนี้หมอพรรณีไม่พยายามจะเข้าใจคนไข้ของเธอ คุรหมอพรรณีก็จะไม่มีทางรู้เลยว่าป้าสมจิตรเบื่อจะโดนหมอเทศนาสั่งสอนแย่แล้ว.
....................................
ความอยากรู้อยากเห็น-Curiosity ของบุคลากรทางการแพทย์ ที่จริงแล้วเป็นสิ่งดีที่ช่วยให้เราเข้าใจคนไข้ได้มากขึ้น รวมทั้งสามารถช่วยคุณหมอวางแผยการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังช่วยให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคุณหมอกับคนไข้อีกด้วย
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ความอยากรู้อยากเห้นของคุณหมอ จะต้องอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจ- Understanding และความเห็นอกเห็นใจ -Empathy ครับ.
เอกสารอ้างอิง
1. "Curiosity", Oxford English Encyclopedia.
2. Feynman RP. No Ordinary Genius : The illustrated Richard Feynman. New York : WW Norton, 2004:144.
พงศกร จินดาวัฒนะ พ.บ.
ว.ว. (เวชปฏิบัติทั่วไป)
อ.ว. (เวชศาสตร์ครอบครัว)
ศูนย์สุขภาพชุมชน 1
กลุ่มงานเวชกรรมสังคม
โรงพยาบาลราชบุรี
- อ่าน 4,665 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้