เมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2551 สถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมได้ร่วมกับผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตร "ผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง (บ.ย.ส.)" รุ่นที่ 12 จัดเสวนาเรื่องความรับผิดชอบทางแพทย์ : ถึงทางตัน... หรือทางออก ณ วิทยาลัยการยุติธรรม เพื่อแก้วิกฤติปัญหาที่เกิดขึ้นกับสังคมส่วนรวม จากกรณีที่แพทย์รักษาผู้ป่วยแล้วเสียชีวิตถูกพิพากษาจำคุกจากการประกอบวิชาชีพเวชกรรม ในภาคเช้าได้มีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวางโดยผู้ทรงคุณวุฒิ ในสาขาวิชาแพทย์ กฎหมาย และอื่นๆ รวมทั้งผู้ที่ได้รับความเสียหายทางการแพทย์ด้วย ต่อมาในภาคบ่ายได้มีการแบ่งกลุ่มระดมสมองเพื่อทางออก ผลการประชุม สรุปได้ดังนี้ครับ
1. ควรจะมีการส่งเสริมให้มีการไกล่เกลี่ย โดยผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความน่าเชื่อถือ และเชี่ยวชาญก่อนฟ้องคดีบุคลากรทางการสาธารณสุข เพื่อให้คดีขึ้นสู่ศาลน้อยที่สุด ควรกำหนดให้มีกระบวนการเจรจาไกล่เกลี่ยไว้ในกฎหมาย.
2. กฎหมายสำหรับแพทย์ที่ใช้ในปัจจุบันมีความเหมาะสมเพียงพอหรือไม่. ที่ประชุมเห็นว่าถ้าจำเป็นต้องร่างกฎหมายใหม่สำหรับการพิจารณาคดีอาญาที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การทำงานของแพทย์ขึ้นก็สมควรเสนอและจะได้นำเนื้อหาในร่างมาพิจารณากันอีกครั้ง.
3. ควรมีคณะกรรมการสำหรับดูแลเรื่องการเยียวยา สำหรับผู้เสียหายทางการแพทย์ก่อนที่จะมีการฟ้องร้องในศาล ควรทำให้เห็นเป็นรูปธรรมเพื่อลดการฟ้องร้อง ร้องเรียน ในเบื้องต้นซึ่งสามารถทำได้ในระยะสั้น.
4. การช่วยเหลือผู้เสียหายทางการแพทย์แม้ต้องใช้ทรัพยากรและบุคลากรจำนวนมาก เช่น การจัดตั้งกองทุนซึ่งแนวทางดังกล่าวสมควรเริ่มทำถึงแม้จะเป็นแผนระยะปานกลางถึงระยะยาว.
5. แพทย์ที่ทำงานในภาวะเสี่ยงควรมีเครื่องมือที่จะคุ้มครองโดยเฉพาะเครื่องมือทางกฎหมายเพื่อที่แพทย์จะได้ทำงานด้วยความสบายใจ มิฉะนั้นความเสี่ยงดังกล่าวจะตกอยู่กับประชาชนอีกจำนวนมาก เช่น ประชาชนที่อยู่ชนบทไม่สามารถที่จะรักษาผ่าตัดหรือคลอดในโรงพยาบาลชุมชนได้.
6. ควรให้มีกฎหมายกระบวนวิธีพิจารณาทางอาญาสำหรับบุคลากรด้านสาธารณสุข ปัญหาในขณะนี้ แพทย์โรงพยาบาลชุมชนไม่กล้าที่จะผ่าตัดคนไข้ แต่จะใช้ระบบการส่งต่อเพราะเกิดความเสี่ยงในการที่จะผ่าตัดคนไข้ เนื่องจากมีคดีที่แพทย์ถูกศาลตัดสินจำคุก เกิดความสูญเสียทางด้านเศรษฐกิจตามมา เนื่องจากต้องปิดห้องผ่าตัดของโรงพยาบาลชุมชนกว่า 700 แห่ง เป็นการสูญเสียคิดเป็นมูลค่าจำนวนมาก.
7. แพทย์ที่กระทำให้เกิดความเสียหายกับผู้ป่วยจะต้องรับผิดทางอาญาโดยเจตนาประมาท และประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงจะหลีกเลี่ยงมิได้ เป็นไปตามกฎหมายซึ่งในตัวร่างกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญาของบุคลากรที่เสนอในที่ประชุม ถ้าเป็นความผิดโดยเจตนา หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ทางแพทย์มีความเห็นว่าสมควรที่จะลงโทษ แต่ถ้าเป็นเพียงประมาทธรรมดาก็ขอให้มีการพิจารณาตัดส่วนนี้ไป.
8. ประเด็นสิทธิของผู้ป่วยมีอยู่มากแต่สิทธิของแพทย์ผู้รักษามีบ้างหรือไม่ ไม่สามารถปฏิเสธการรักษาได้ แพทย์ไม่มีเจตนาจะไปทำร้ายคนไข้จึงไม่ควรใช้กฎหมายอาญาสำหรับการลงโทษแพทย์.
9. ผลักดันให้มีการจัดตั้งกองทุนชดเชยเพื่อช่วยเหลือผู้เสียหายทางการแพทย์ ซึ่งที่ประชุมทุกฝ่ายมีความเห็นตรงกันในเรื่องของการจัดตั้งกองทุน.
10. เห็นควรให้มีผลักดันร่างพระราชบัญญัติความรับผิดและวิธีพิจารณาความสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพ เพื่อทำให้สถานการณ์ของระบบการให้บริการสาธารณสุขของประเทศในขณะนี้ดีขึ้น. ที่ประชุมเห็นว่าถึงแม้จะมีกองทุนแล้วก็ตามก็จะไม่ช่วยให้การทำงานของแพทย์สบายใจขึ้น และก็จะใช้ระบบการส่งต่อผู้ป่วยเหมือนเดิม.
ในฐานะของผู้เข้าร่วมเสวนาในครั้งนี้ด้วย ผมจะขอสรุปเลยนะครับว่ามีทางออกแน่ๆ คือ การแก้ทางกฎหมาย โดยสร้างกฎหมายสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพขึ้นโดยเฉพาะ ขอให้ทุกฝ่ายช่วยกันสนับสนุนด้วยครับ.
อำนาจ กุสลานันท์ พ.บ.
น.บ., น.บ.ท.,
ว.ว. (นิติเวชศาสตร์)
ศาสตราจารย์คลินิก
เลขาธิการแพทยสภา
- อ่าน 3,012 ครั้ง
พิมพ์หน้านี้