โรคต้อกระจกคือ โรคที่เกิดการเสื่อมหรือขุ่นของเลนส์ตามนุษย์ โดยมนุษย์ทุกคนต้องมีการเกิดต้อกระจกในที่สุด เพราะเป็นการเสื่อมตามธรรมชาติ อาจเร็วหรือช้า เช่นเด็กบางคนอาจเป็นโรคต้อกระจกมาแต่กำเนิด แต่โดยทั่วไปมักเริ่มมีอาการของโรคต้อกระจก คือมองเห็นภาพเป็นหมอกหรือควันบัง หลังอายุ 50 ปีขึ้นไป แต่อาจเป็นเร็วขึ้นในกรณีมีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน หรือกินยาจำพวกสตีรอยด์เป็นประจำ. การรักษาโรคต้อกระจกที่ได้ผลดีคือ การสลายเลนส์ตาซึ่งขุ่นเป็นต้อกระจกด้วยคลื่นเสียงอัลตราซาวนด์. แล้วใส่เลนส์แก้วตาเทียมใหม่ ซึ่งมีลักษณะใสเข้าไปทดแทน. ในอดีตมักรอให้ต้อกระจกสุกจึงทำการผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์ แต่ปัจจุบัน มักนิยมรักษาโดยการสลายต้อกระจกแต่เนิ่นๆ คือเมื่อปัญหาตามัวนั้นทำให้เป็นอุปสรรคกับการดำเนินชีวิตของผู้ป่วยก็ควรรับการรักษา เพราะการรอต้อกระจกสุก จะทำให้การรักษาด้วยการสลายต้อทำได้ยาก และยังอาจทำให้เกิดโรคตาอื่นแทรกซ้อน เช่น ต้อหิน ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายมากขึ้นได้.
ภาพแสดงการผ่าตัดต้อกระจกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง
ภาพแสดงการใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าไปแทนที่ตำแหน่งเลนส์ตาเดิม
ต้อกระจกรักษาง่าย
ในอดีตการผ่าตัดรักษาโรคต้อกระจกดูจะเป็นเรื่องน่ากลัว และเป็นการผ่าตัดที่ใหญ่โต มีความเสี่ยงสูง รวมทั้งกระทบกับการดำเนินชีวิตหลังการผ่าตัดเป็นอย่างมาก. ปัจจุบันเทคโนโลยีการผ่าตัดต้อกระจกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงมีการพัฒนาก้าวหน้าเป็นอย่างมาก. การผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์ตาสามารถทำได้ในเวลาไม่ถึงครึ่งชั่วโมง โดยอาจใช้เฉพาะยาชาชนิดหยอดไม่ต้องแม้แต่ฉีดยาชามักไม่มีความรู้สึกเจ็บและแทบไม่เสียเลือดเลย นอกจากนั้นยังสามารถรับการผ่าตัดได้โดยอาจไม่จำเป็นต้องนอนค้างที่โรงพยาบาล และที่สำคัญท่านสามารถใช้สิทธิในการรักษาโรคต้อกระจกได้ ทั้งกรณีสิทธิข้าราชการ ประกันสังคม และบัตรทองได้อีกด้วย.
เลนส์แก้วตาเทียม เป็นอย่างไร
เลนส์แก้วตาเทียมนับเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ทดแทนอวัยวะดั้งเดิมของมนุษย์ที่ใช้ได้ผลและปลอดภัยมากที่สุดชนิดหนึ่ง โดยเมื่อจักษุแพทย์ทำการสลายเลนส์ตาเดิมที่ขุ่นเป็นต้อกระจกออกแล้ว จะใส่เลนส์แก้วตาเทียมซึ่งเป็นวัสดุที่มีลักษณะใส เข้าไปแทนที่ตำแหน่งเลนส์ตาเดิมในลูกตาตามธรรมชาติ. ดังนั้น ผู้ป่วย จึงไม่ต้องคอยกังวลเรื่องการเคลื่อนหลุดของเลนส์แก้วตาเทียม อีกทั้งไม่ต้องเป็นภาระในการถอดล้างหรือทำความสะอาดเลนส์แก้วตาเทียมแต่อย่างใด ที่สำคัญเลนส์แก้วตาเทียมนี้มีอายุการใช้งานยาวนาน สามารถใช้ได้ตลอดชีวิตของผู้ป่วยโดยไม่ต้องผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์อีก. นอกจากนั้น เทคโนโลยีทางการแพทย์เกี่ยวกับเลนส์แก้วตาเทียม มีการพัฒนาไปมาก มีทั้งเลนส์ชนิดแข็ง และเลนส์ชนิดนิ่มซึ่งสามารถพับเพื่อใส่ผ่านแผลผ่าตัดขนาดเล็กได้. มีเลนส์แก้วตาเทียมที่สามารถช่วยป้องกันรังสีอัลตราไวโอเลตให้ดวงตาได้ และเทคโนโลยีล่าสุด ยังเริ่มมีเลนส์แก้วตาเทียมที่สามารถแก้สายตาเอียง หรือทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับมามองเห็นหนังสือในระยะใกล้โดยไม่มีภาวะสายตายาวได้อีกด้วย. ดังนั้น ผู้ป่วยที่เป็นโรคต้อกระจกจึงไม่ต้องวิตกกังวลใจ สามารถปรึกษาจักษุแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสมได้ในโรงพยาบาลทุกแห่ง.
ศักดิ์ชัย วงศกิตติรักษ์ พ.บ.
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ จักษุแพทย์
ภาควิชาจักษุแพทย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- อ่าน 4,758 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้