Disclaimer : รายงานการศึกษาวิจัยทางการแพทย์มีมากมายมหาศาล ในขณะนี้เป็นสิ่งที่ต้องติดตามเป็นอย่างยิ่ง คอลัมน์นี้ได้สรุปรายงานการศึกษาที่น่าสนใจที่ลงในวารสารทางการแพทย์ที่ผ่าน peer review มาให้สมาชิกทราบ แต่ข้อพึงระวังคือ ไม่ใช่ว่าทุกอย่างที่มีการรายงานการศึกษาจะมีความถูกต้องเป็น สัจจะ เพราะไม่มีอะไรถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ ในทางการแพทย์ ความรู้ ความเชื่อ ณ วันนี้อาจได้การยอมรับ แต่ความรู้ใหม่ๆ ในวันหน้าก็สามารถลบล้างความรู้ ความเชื่อในวันนี้ได้เช่นกัน.
ยาถ่ายพยาธิชนิดไหนแน่กว่ากัน
Keiser J, Utzinger J. Efficacy of Current Drugs Against Soil-Transmitted Helminth Infections Systematic Review and Meta-analysis. JAMA 2008;299(16):1937-48.
ประชากรโลกกว่า 4.5 ล้านคนมีความเสี่ยงต่อพยาธิลำไส้ที่มาจากพื้นดิน ประมาณว่า 1.2 ล้านคนของประชากรมีพยาธิไส้เดือนในลำไส้ (ascaris lumbricoides), 800 คน มีพยาธิแส้ม้า (trichuris trichiura) และพยาธิปากขอ (hook worms) องค์การอนามัยโลกจึงได้รณรงค์การรักษาพยาธิลำไส้ โดยยาถ่ายพยาธิ 4 ขนานที่องค์การฯ แนะนำให้ใช้ คือ albendazole, mebendazole, levamisole และ pyrantel pamoate แต่ปัจจุบันยังขาดข้อมูลเปรียบเทียบประสิทธิผลของยาทั้ง 4 ขนานว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร นักวิจัยกลุ่มนี้จึงทำการทบทวนงานวิจัยต่างๆ ที่ผ่านมาแบบ systematic review สืบค้น งานวิจัยที่รักษาแบบใช้ยาครั้งเดียว (single dose) จากหลายแหล่งข้อมูล เพื่อหาหลักฐานเกี่ยวกับการ ผลการรักษาของยาทั้ง 4 ชนิดนี้.
ตัวชี้วัดผลการรักษาที่ใช้ในงานวิจัยนี้คือ อัตราการรักษาหาย (cure rate) ซึ่งหมายถึง อัตราการตรวจไม่พบไข่พยาธิหลังการรักษา และอีกดัชนีคือ อัตราการตรวจพบพยาธิลดลง โดยการนับไข่พยาธิเปรียบเทียบก่อนและหลังการรักษา จากการทบทวน 168 รายงาน มีงานวิจัยแบบ randomized controlled trial 20 รายงาน.
ผลการรักษาแบบให้ยาครั้งเดียวของยาต่อไปนี้คือ albendazole, mebendazole, pyrantel pamoate ในการถ่ายพยาธิ ascaris lumbricoides ได้อัตราการรักษาหายร้อยละ 88, 95 และ 88 ตามลำดับ. ผลในการรักษาพยาธิแส้ม้าหลังการให้ยา albendazole ครั้งเดียวได้ผลร้อยละ 28 และ mebendazole ร้อยละ 36. สำหรับผลในการรักษาพยาธิปากขอด้วย albendazole, mebendazole และ pyrantel pamoate ได้ผลร้อยละ 72, 15 และ 31 ตามลำดับ.
สรุป การให้ยาขนาดเดียวของยาทั้ง 4 ชนิดในการรักษาพยาธิไส้เดือนได้ผลค่อนข้างดี แต่สำหรับพยาธิปากขอนั้น การรักษาด้วย albendazole ได้ผลดีกว่ายาอีก 2 ขนาน ส่วนการรักษาพยาธิแส้ม้าด้วยการกินยาครั้งเดียวนั้น ยาทั้ง 4 ขนานนี้ยังได้ผลไม่น่าพอใจ จึงควรมีการศึกษาวิจัยยาที่มีประสิทธิผลดีขึ้นต่อไป.
Single dose Rifampicin ในการป้องกันโรคเรื้อน
F Johannes Moet, et al. Effectiveness of single dose rifampicin in preventing leprosy in close contacts of patients with newly diagnosed leprosy : cluster randomised controlled trial. BMJ 2008;336:761-64.
โรคเรื้อนเป็นโรคติดเชื้อที่มีมานาน การรักษาระยะแรกใช้ยา dapsone ขนานเดียว ได้ผลการรักษาไม่ค่อยดี ต่อมามีการให้ยาหลายชนิดร่วมกัน ได้แก่ dapsone, clofazimine และ rifampicin. สำหรับการ prophylaxis ระยะแรกใช้ dapsone แต่เชื้อมักดื้อยาง่าย ต้องกินยาต่อเนื่อง จึงหันมาใช้ rifampicin เนื่องจากมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อ mycobacterium leprae ได้ดี rifampicin มีข้อได้เปรียบ dapsone คือ ใช้ขนาดยาน้อยกว่า และให้ในระยะสั้น. ก่อนหน้านี้มีการศึกษาในอินโนเซียพบว่าการให้ยา rifampicin 2 ครั้งห่างกัน 3.5 เดือนได้ผลในการป้องกันโรคเรื้อนร้อยละ 76 ในกลุ่มที่มีการให้ยาแบบหว่านแหทั้ง ชุมชน แต่ไม่ได้ผลดีในกลุ่มที่ให้ยาเฉพาะสมาชิกของครอบครัวที่มีผู้ป่วย.
การศึกษาต่อไปนี้ดำเนินการในประเทศบังกลาเทศ เพื่อประเมินว่าการให้ยา rifampicin ครั้งเดียวจะป้องกันโรคเรื้อนในคนที่สัมผัสกับผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดได้ดีเพียงใด.
การศึกษาทำในชุมชนที่มีประชากร 28,092 คน ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคเรื้อนจำนวน 1,037 คน ขนาดยาที่ให้สำหรับผู้ใหญ่ คือ rifampicin 600 มก. ครั้งเดียว และ 450 มก. สำหรับผู้ใหญ่น้ำหนักตัวน้อยกว่า 35 กก. และเด็กอายุ 9 ปีขี้นไป ส่วนเด็กอายุ 5-9 ปี ให้ 300 มก. ทำการทดลองเทียบกับยาหลอก.
ตัวชี้วัดผลคือ การเกิดอาการทางคลินิกของโรคเรื้อน.
ผลการศึกษา ภายในเวลา 4 ปี นักวิจัยติดตามคนในการศึกษาได้ ร้อยละ 86.9 พบว่าหลังการได้ยา rifampicin เพียงครั้งเดียว อัตราการติดโรคเรื้อนลดลงร้อยละ 57 คิดเป็น number needed to treat (NNT) 297 คน หมายถึง ในจำนวนคนที่กินยา rifampicin 297 คน ช่วยป้องกันการเกิดโรคเรื้อนได้เพิ่มขึ้น 1 คน.
ผลสุรป การให้ยา rifampicin ครั้งเดียวสามารถป้องกันการติดเชื้อโรคเรื้อนได้ใน 2 ปี หลังจากนั้น อัตราการเกิดโรคเรื้อนไม่มีความแตกต่างจากกลุ่มที่ได้ยาหลอก.
วิชัย เอกพลากร พ.บ. Ph.D.
รองศาสตราจารย์, ศูนย์เวชศาสตร์ชุมชน, คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี, มหาวิทยาลัยมหิดล
- อ่าน 8,895 ครั้ง
พิมพ์หน้านี้