ผู้ป่วยชายไทย อายุประมาณ 50 ปี ป่วยเป็นอัมพาตครึ่งซีก ไม่สามารถไปทำงานได้ เช่นปกติ วันๆนั่งๆนอนๆอยู่แต่ในบ้าน. ภรรยาต้องออกไปทำงานรับจ้างหาเงินมาจุนเจือครอบครัว ไม่มีเวลาและไม่ได้สนใจดูแลผู้ป่วย. ผู้ป่วยมีความรู้สึกท้อแท้สิ้นหวัง เคยคิดฆ่าตัวตาย. ต่อมาเจ้าหน้าที่สถานีอนามัยได้มาเยี่ยมบ้าน พูดคุย รับฟังปัญหาและให้กำลังใจอย่างต่อเนื่อง ไม่นานผู้ป่วยก็ให้ความศรัทธาไว้ใจเจ้าหน้าที่ ยอมรับการปฏิบัติเพื่อฟื้นฟูร่างกาย (โดยเจ้าหน้าที่ได้รับการฝึกอบรมเพิ่มเติมในเรื่องการฟื้นฟูสภาพจากทางโรงพยาบาล). เจ้าหน้าที่ได้ให้กำลังใจภรรยา แนะนำให้ภรรยาหาเวลาพูดคุยให้กำลังใจสามี และสอนให้ภรรยานวดสามี. ครั้งแรกที่ภรรยาลงมือนวดให้ผู้ป่วย ผู้ป่วยรู้สึกปีติจนน้ำตาไหล และปรากฏรอยยิ้มบนใบหน้าซึ่งได้หายไปนานปีแล้ว. ไม่นานผู้ป่วยก็สามารถลุกขึ้นเดิน ช่วยตัวเองได้ดีขึ้น สามารถเดินมาหาหมอที่สถานีอนามัย ทำหน้าที่หุงหาอาหารให้ภรรยาที่ออกไปทำงานนอกบ้านได้. ชีวิตครอบครัวมีความอบอุ่นขึ้น. ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ก็ได้ชักชวนเพื่อนบ้านให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลผู้ป่วย เช่น จัดหารถเข็นและอุปกรณ์ในการฟื้นฟูผู้ป่วย. ทุกวันนี้ผู้ป่วยสามารถรับจ้างเลี้ยงเด็กที่เพื่อนบ้านฝากให้เลี้ยงได้.
คุณวิมล เลาหพิชาติชัย หมออนามัยแห่งสถานีอนามัย ตำบลแคตก อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้เล่าเรื่องราวดังกล่าวด้วยความภาคภูมิใจที่สามารถให้การดูแลครอบครัวหนึ่งอย่างต่อเนื่องมาตลอด 10 กว่าปี โดยเริ่มจาก "การปรับทุกข์-ผูกมิตร" และให้ผู้ป่วย ครอบครัวและชุมชน "ร่วมคิด" จนสามารถ "พิชิตปัญหา" พลิกฟื้นชีวิต ครอบครัว และศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์แก่ผู้พิการที่ครั้งหนึ่งเคยจมปลักกับความทุกข์ ท้อแท้สิ้นหวัง และไร้ศักดิ์ศรี.
กรณีนี้ชี้ให้เห็นถึงคุณค่าและคุณูปการของหมออนามัยที่มีต่อชุมชนไทยมาช้านาน.
เวลานี้ได้มีการพูดถึงแนวทางการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิและเวชปฏิบัติครอบครัว โดยได้นำเข้าแนวคิดมาจากทางตะวันตก ซึ่งเชื่อว่ามีความก้าวหน้ากว่า. ด้วยแรงผลักดันของนโยบายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่เกิดขึ้นในช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมา นักวิชาการและผู้บริหารสาธารณสุขก็ได้พยายามหาทางพัฒนาเครือข่ายระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ ให้เป็นที่พึ่งชนิด "ใกล้บ้าน ใกล้ใจ" ของประชาชน. อุปสรรคใหญ่ ก็คือ การขาดแคลนบุคลากรปฐมภูมิที่มีคุณสมบัติและเงื่อนไขพึงประสงค์ เช่น สามารถให้บริการอย่างเป็นองค์รวม ผสมผสาน และต่อเนื่อง, บุคลากรที่ใช้ชีวิตอยู่ในชุมชน (เป็นสมาชิกส่วนหนึ่งของชุมชนที่ปฏิบัติงาน) สามารถเข้าใจและเข้าถึงชุมชนอย่างแท้จริง เป็นต้น.
ที่ผ่านมาได้มีการผลักดันให้แพทย์ เภสัชกร และพยาบาล จากโรงพยาบาล (ส่วนใหญ่ คือ โรงพยาบาลชุมชน) ให้ส่งไปปฏิบัติงานที่หน่วยบริการปฐมภูมิที่ตั้งชื่อใหม่ว่า "ศูนย์สุขภาพชุมชน (PCU)" และ "ศูนย์แพทย์ชุมชน (CMU)" ที่เกิดขึ้นเป็นโครงการนำร่อง เพียงบางส่วนเมื่อเทียบกับพื้นที่ขอบข่ายทั่วประเทศ โดยได้ใช้กลไกทางการเงิน (เช่น ค่าตอบแทน รางวัล) เป็นตัวกระตุ้น.
แต่เนื่องจากภาวะขาดแคลนกำลังคนด้านสุขภาพในระดับอำเภอ จึงไม่อาจหาบุคลากรที่สามารถลงไปปฏิบัติงานที่หน่วยบริการปฐมภูมิได้อย่างเต็มรูปแบบ. กลายเป็นว่าส่งบุคลากรไปทำงานด้านรักษาพยาบาล (ตรวจผู้ป่วยนอก) แบบ extended OPD หรือหน่วยบริการเคลื่อนที่.
ในเวลานี้ได้มีข้อสรุปชัดเจนว่า ทิศทางพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิจะต้องทำควบคู่กันไปทั้ง 3 แบบ ได้แก่ ศูนย์แพทย์ชุมชน (CMU) ที่มีแพทย์เวชปฏิบัติครอบครัวเป็นแกนนำ ศูนย์สุขภาพชุมชน (PCU) ที่มีพยาบาลเวชปฏิบัติครอบครัวเป็นแกนนำ และสถานีอนามัย ที่มีเจ้าหน้าที่สถานีอนามัย (หมออนามัย) เป็นผู้ปฏิบัติงานหลัก. หากมองเชิงปริมาณ จะเห็นว่าสถานีอนามัยจะมีสัดส่วนมากที่สุด ซึ่งกระจายอยู่ทุกตำบลทั่วประเทศ. ดังนั้น จึงจำเป็นต้องหันมาให้ความสำคัญในบทบาทของสถานีอนามัยควบคู่กับการพัฒนาหน่วยบริการชื่อใหม่อีก 2 ระบบ.
สำหรับ สถานีอนามัยซึ่งมีทุนทางสังคม ได้แก่ ความสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชนมาช้านาน (หมออนามัยส่วนใหญ่ฝังตัวเป็นเนื้อเดียวกับชุมชน) ศักยภาพในการดูแลผู้ป่วย ครอบครัว และชุมชนอย่างเป็นองค์รวม ผสมผสาน และต่อเนื่อง ทักษะในการทำงานร่วมกับชุมชนและองค์กรชุมชน ถ้าหากได้รับการพัฒนาความรู้ในการจัดการกับปัญหาสุขภาพที่มีมิติทางจิตใจและสังคมอันซับซ้อนกว่าโรคติดเชื้อแต่เก่าก่อน เช่น เบาหวาน ความดันเลือดสูง มะเร็ง โรคทางจิตเวช ปัญหาสุขภาพวัยรุ่น วันทำงาน วัยสูงอายุ เป็นต้น ก็เชื่อว่าหมออนามัยจะสามารถมีส่วนร่วมกับโรงพยาบาลในการป้องกันและแก้ไข้ปัญหาเหล่านี้ให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพสูงกว่ามอบให้เป็นหน้าที่ของโรงพยาบาลล้วนๆ และละเลยบทบาทของหมออนามัย.
- อ่าน 4,090 ครั้ง
พิมพ์หน้านี้