เดือนมกราคม พ.ศ. 2551 นักศึกษามหาวิทยาลัยผู้หนึ่งได้แจ้งความต่อพนักงานสอบสวน ให้ดำเนินคดีกับเจ้าของร้านสกูตเตอร์ โดยผู้เสียหายเล่าว่าได้ไปพบผู้ต้องสงสัย และถูกล่วงละเมิดทางเพศหลายครั้ง ครั้งล่าสุด ต้องการให้ทำการสะเดาะเคราะห์ให้ โดยถูกจับถอดเสื้อ และเอามือจับหน้าอกและกอดจูบผู้เสียหาย ใช้นิ้วมือสอดเข้าไปในช่องคลอด และใช้มือขวาสำเร็จความใคร่ด้วยตัวเอง โดยอ้างว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการทำเสน่ห์ยาแฝดตามตำราไสยศาสตร์โบราณ และขู่ห้ามไม่ให้บอกใครเพราะจะทำให้คาถาเสื่อม. ในการนี้ผู้ต้องสงสัยปฏิเสธข้อกล่าวหาว่า ไม่ได้ข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายแต่อย่างใด. (หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 20 มกราคม 2551).1
นับตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 25502 ได้มีการแก้ไขและประกาศใช้ประมวล กฎหมายอาญาในส่วนเกี่ยวกับความผิดทางเพศใน 3 มาตรา ได้แก่ มาตรา 276, 277 และ 286 โดยเป็นผลมาจากการเรียกร้องสิทธิสตรี โดยเฉพาะในประเด็นหญิงซึ่งถูกสามีข่มขืน ในกฎหมายเดิมสามีไม่มีความผิด และกรณีของการที่เพศที่ 3 ถูกล่วงละเมิดทางเพศ กฎหมายใหม่ได้ตีความคำว่า กระทำชำเรา ให้มีความหมายกว้างกว่าเดิมมาก (ดูตามตารางที่ 1)
มาตรา 276 ใหม่ มีองค์ประกอบความผิดดังนี้
1. ข่มขืน.
2. กระทำชำเรา.
3. ผู้ถูกกระทำใช้คำว่า ผู้อื่น ซึ่งอาจเป็นหญิงหรือชายก็ได้.
4. วิธีการในการข่มขืน ได้แก่ ขู่เข็ญ, ใช้กำลังประทุษร้าย, ทำให้ผู้อื่นอยู่ในภาวะที่ไม่อาจขัดขืนได้, ทำให้ผู้อื่นเข้าใจผิดว่าตนเป็นบุคคลอื่น.
และเปลี่ยนนิยาม คำว่า "ชำเรา" ให้มีความหมายว่า เป็นการกระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำโดยการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำ กระทำกับอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่น หรือการใช้สิ่งอื่นใดกระทำกับอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่น.
กล่าวคือ ชำเราตามกฎหมายใหม่ มีความหมายที่กว้างกว่ากฎหมายเดิมซึ่งหมายถึง การกระทำที่ชายกระทำต่อหญิง แต่กฎหมายใหม่ให้รวมการกระทำที่หญิงกระทำต่อชาย หรือชายกระทำต่อชายด้วย ทั้งนี้หมายความรวมตลอดถึงเพศที่ 3 อีกด้วย. ดังนั้น คำว่า "ชำเรา" ตามกฎหมายใหม่ ผู้กระทำต้องใช้อวัยวะเพศของตนกระทำต่ออวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่น. ถ้าหากเป็นการกระทำที่ชายกระทำต่อชาย โดยใช้อวัยวะเพศสอดใส่ในทวารหนักของชาย ตามกฎหมายเดิมจะเป็นการกระทำอนาจาร ซึ่งมีโทษน้อยกว่ากระทำชำเรา และยังหมายความรวมตลอดถึงการใช้อวัยวะเพศสอดใส่ในช่องปากอีกด้วย.
ส่วนการใช้สิ่งอื่นใด อาจหมายความรวมถึงอวัยวะเพศเทียมหรือนิ้วมือ กระทำต่ออวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่น ทั้งนี้การกระทำดังกล่าวทั้งหมด ต้องเป็นการกระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำ.
มาตรา 277 เป็นกฎหมายว่าด้วยการกระทำชำเราต่อเด็ก วรรค 1 ตามกฎหมายใหม่ เป็นการกระทำที่ชายหรือหญิงกระทำต่อเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปี ซึ่งผู้ถูกกระทำตามกฎหมายเดิม จะหมายถึงเฉพาะเด็กหญิงอายุไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาตน เป็นเด็กชายหรือเด็กหญิงซึ่งมิใช่สามีหรือภริยาตน โดยยินยอม หรือไม่ยินยอมก็เป็นความผิด และความหมายของการกระทำชำเราก็เป็นข้อความเดียวกันในมาตรา 276 ใหม่ และคำว่าโทรมหญิงก็หมายความถึงการกระทำต่อชายด้วย ในวรรค 5 มาตรานี้ ได้กล่าวถึงความยินยอมซึ่งทำให้ผิดแต่ไม่ต้องรับโทษคือ ผู้กระทำอายุไม่เกิน 18 ปี กระทำต่อผู้มีอายุกว่า 13 ปี แต่ไม่เกิน 15 ปี และศาลอนุญาตให้สมรสกัน ผู้กระทำไม่ต้องรับโทษ และถ้าหากกำลังรับโทษอยู่ก็ให้ปล่อยตัวไป.
ฎีกาที่ 1048/2518
การกระทำชำเราตามกฎหมายจะต้องปรากฏว่า ของลับของชายล่วงล้ำเข้าไปในช่องสังวาส หรืออวัยวะสืบพันธุ์หญิง การที่จำเลยขืนใจผู้เสียหาย โดยใช้ของลับของจำเลยใส่เข้าไปในทางทวารหนักของผู้เสียหาย จึงไม่เป็นการกระทำชำเรา คงมีความผิดฐานกระทำอนาจารเท่านั้น
บทบาทของแพทย์
ภายใต้นิยามของกฎหมายใหม่ บทบาทของแพทย์ในด้านการสืบค้นหลักฐานจึงกินความกว้างขึ้น
1. การรักษาอาการบาดเจ็บ
การบาดเจ็บบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ ส่วนใหญ่มักไม่ใช่บาดแผลที่เป็นอันตรายต่อชีวิต สถิติที่พบในต่างประเทศพบเพียงร้อยละ 0.1 ส่วนการบาดเจ็บนอกอวัยวะสืบพันธุ์พบเพียงร้อยละ 5-10 เท่านั้น บาดแผลบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์มีเพียงร้อยละ 1 เท่านั้น ที่ต้องการการรักษาโดยการผ่าตัด.
2. การซักประวัติ3 แบ่งเป็นการซักประวัติทางการแพทย์ และการซักประวัติเกี่ยวกับการถูกล่วงละเมิดทางเพศ.
ประวัติทางการแพทย์ ได้แก่
- ประจำเดือนครั้งสุดท้าย.
- ประวัติการเจ็บป่วยในอดีต, ปัจจุบัน.
- ประวัติการแพ้ยา, การได้รับวัคซีน โดยเฉพาะในรายที่มีการบาดเจ็บร่วมด้วย.
- ประวัติโรคจิตเวช.
- ประวัติการใช้สารเสพติด เช่น สุรา, ยาบ้า, ยาเลิฟ เป็นต้น.
ประวัติเกี่ยวกับการถูกล่วงละเมิดทางเพศ ได้แก่
- วันเวลาที่เกิดเหตุ.
- จำนวนผู้ร่วมกระทำความผิด.
- มีการล่วงละเมิดทางเพศผ่านทางใดบ้าง (ช่องคลอด, ทวารหนัก, ปาก).
- การใช้อาวุธ.
- การบังคับขู่เข็ญ.
- การหลั่งน้ำอสุจิ หรือการใช้ถุงยางอนามัย.
- ถูกทำร้ายร่างกายบริเวณอื่นๆ อีก หรือไม่ เช่น รอยฟันกัด.
- ได้มีการทำความสะอาดช่องคลอด ก่อนพบแพทย์หรือไม่.
- มีเพศสัมพันธ์โดยสมัครใจ 3 วัน ก่อนพบแพทย์หรือไม่.
- ถ้าผู้ป่วยมาพบแพทย์ในวันเกิดเหตุ ให้สังเกตลักษณะเสื้อผ้าที่สวมใส่.
3. การตรวจร่างกายผู้เสียหาย
แพทย์ต้องได้รับการยินยอมก่อนการตรวจทุกครั้ง แบ่งเป็นการตรวจร่างกายทั่วไป และการตรวจบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์รวมถึงช่องปากและทวารหนัก.
การตรวจร่างกายทั่วไป
- บริเวณศีรษะและใบหน้า ให้สังเกตดูบริเวณหนังศีรษะ, คอด้านหลัง, ใบหน้า, จมูก.
- บริเวณแขน ขา และลำตัว ให้สังเกตดูร่องรอยการฟกช้ำ และรอยขีดข่วน ตั้งแต่สะโพกจนจรดปลายขา.
- ตำแหน่งที่พบบาดแผลได้บ่อย ได้แก่ แขน, ต้นขา, คอ ตามลำดับ.
การตรวจร่างกายบริเวณอวัยวะเพศ โดยใช้เครื่องมือที่มีภาพขยายร่วมด้วย พร้อมกับการป้ายบริเวณดังกล่าวด้วย 1 % Toluidine blue จะทำให้โอกาสตรวจพบร่องรอยการบาดเจ็บได้มากยิ่งขึ้นกว่าการดูด้วยตาเปล่า.5,6
- บาดแผลที่พบมากน้อย เรียงตามลำดับดังนี้7,8 Posterior fourchette ฉีกขาด, Labia minora ถลอก, Hymen ฟกช้ำ, Fossa navicularis ฉีกขาด.
การบาดเจ็บที่บริเวณอวัยวะเพศหญิง ในกรณีใช้นิ้วสอดใส่เข้าไป พบว่าลักษณะของการบาดเจ็บจะพบการฉีกขาด posterior forchette และ fossa navicularis. รองลงมาคือ บาดแผลถลอกบริเวณ labia minora และรองลงมา ecchymosis บริเวณ hymen และ cervix ซึ่งไม่แตกต่างจากการบาดเจ็บแบบ penile vaginal penetration.
การตรวจบริเวณช่องปาก3,9
การบาดเจ็บในช่องปาก มักเกิดจากมีการบังคับสอดใส่อวัยวะเพศในช่องปากเพื่อกระตุ้นการแข็งตัวขององคชาต การบาดเจ็บเกิดจากการบาดเจ็บโดยตรง และจากการเกิดแรงดูดอาจตรวจพบการบาดเจ็บที่เยื่อบุผิว (mucosa) และ vermilion ของริมฝีปากและเหงือก อาจพบรอยช้ำ, แดง, หลอดเลือดมาเลี้ยงมาก (hypervascularity) ที่เพดานอ่อนและแข็ง arch และลิ้นไก่ (uvula) การฉีกขาดของ frenulum อาจแสดงถึงการพยายามสอดใส่สิ่งแปลกปลอมเข้าไปในปาก.
การสอดใส่อวัยวะเพศเข้าไปในช่องปาก ถ้าเกิดจากการสมัครใจมักไม่พบบาดแผลฉีกขาด แต่อาจพบว่ามีบวมแดง หลอดเลือดขยายตัว จุดเลือดออกเล็กๆ ที่เพดานอ่อนและแข็งได้ เนื่องจากแรงดูด.
เก็บตัวอย่างส่งตรวจจาก gum line, ใต้ลิ้น ต่อมทอนซิล.
การตรวจบริเวณทวารหนัก10
มักไม่พบการบาดเจ็บที่รุนแรง เนื่องจากช่องทวารหนักสามารถขยายตัวได้และอยู่ในอำนาจจิตใจ การหายจะเร็วเนื่องจากมีเลือดมาเลี้ยงมาก การบาดเจ็บที่รุนแรงมักเกิดเมื่อไม่มีการหล่อลื่น และมีการใช้กำลังรุนแรง เช่น การสอดใส่มือ.
เก็บตัวอย่างส่งตรวจจากบริเวณ mucocutaneous junction.
การตรวจตัวอย่างส่งตรวจ
- Wet smear สำหรับดู sperm ที่กำลังเคลื่อนไหว.
- Swab เพื่อตรวจหา ACP (เอนไซม์แอซิดฟอสฟาเทส ซึ่งสร้างมาจากต่อมลูกหมาก (prostate gland)) และ sperm (สกัดและย้อมสี H&E).
- ป้ายผนังทวารหนักส่งเพาะหาเชื้อโกโนเรีย.
- ตรวจซีรั่มค้นหาร่องรอยการติดเชื้อ เช่น ซิฟิลิส, เอชไอวี.
- ตรวจหาหมู่เลือด.
สรุป
แพทย์ผู้ทำการตรวจผู้เสียหายในคดีความผิดทางเพศ ต้องตรวจผู้เสียหายที่เป็นทั้งหญิงและชาย (รวมเพศที่ 3) ตำแหน่งของร่างกายที่ต้องตรวจ คือ ตรวจร่างกายทั่วไป ตรวจภายใน ตรวจบริเวณช่องปากและทวารหนัก โดยจำเป็นต้องซักประวัติให้ละเอียด ว่ามีการล่วงล้ำผ่านช่องทางใดบ้าง. กรณีผู้กระทำเป็นชายใช้อวัยวะเพศล่วงละเมิดชายหรือหญิง. ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น ตรวจหาตัวอสุจิและเอนไซม์แอสิดฟอสฟาเตส เป็นสิ่งที่พึงกระทำ ส่วนการใช้สิ่งอื่นของร่างกายกระทำต่อผู้อื่น การตรวจบาดแผลมีความจำเป็น และมีความสำคัญมากกว่า.
การกระทำของผู้ต้องสงสัยรายนี้น่าจะเข้าองค์ประกอบของความผิดตามมาตรา 276 กฎหมายอาญา แก้ไขใหม่โดยมีการใช้สิ่งอื่นใด (นิ้วมือ) สอดใส่เข้าไปในอวัยวะเพศหญิง (นักศึกษา) และเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำและเป็นการใช้แรงกายภาพซึ่งเป็นการใช้กำลังประทุษร้าย.
เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันอาทิตย์ที่ 20 มกราคม 2551, หน้า 1.
2. พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 19) พ.ศ.2550. ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 124 ตอนที่ 56 ก. 19 กันยายน 2550.
3. McConkey TE, Sole ML, Holcomb LH. Assessing the female sexual assault survivor. Nurse Practitioner 2000;26:28-39.
4. Bowyer L, Dalton ME. Female victims of rape and their genital injuries. Br J Obstet Gynecol 1997;104:617-20.
5. Mancino P, Parlavecchio E, Melluso J, Monti M, Russo P. Introducing colposcopy and vulvovaginoscopy as routine examinations for victims of sexual assault. Clin Exp Obstet Gynecol 2003;30:40-2.
6. Jones JS, Dunnuck C, Rossman L, Wynn BN, Nelson-Horan C. Significance of toluidine blue positive findings after speculum exami-nation for sexual assault. Am J Emerg Med 2004;22:201-3.
7. Slaughter L. The pattern of genital injury in female sexual assault victims. Am J Obstet Gynecol 1999;176:609-16.
8. Rossman L, Jones JS, Dunnuck C, Wynn BN, Bermingham M. Genital trauma associated with forced digital penetration. Am J Emerg Med 2004;22:101-4.
9. Giardin BW, Faugno DK, Seneski PC, Slaughter L, Whelan M. Color atlas of sexual assault. St. Louis : Mosby, 1997.
10. Ernest AA, Green E, Ferguson MT, Weiss SJ, Green WM. The utility of anoscopy and colposcopy in the evaluation of male sexual assault victims. Ann Emerg Med 2000;35: 432-7.
อัมพร แจ่มสุวรรณ พ.บ.,
รองศาสตราจารย์ ภาควิชานิติเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยขอนแก่น
- อ่าน 13,572 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้