การทำงานในห้องฉุกเฉินมักเป็นไปอย่างเร่งรีบและบุคลากรทางการแพทย์ ผู้ปฏิบัติงานอยู่ภายในห้องนี้มักกินอาหารไม่เป็นเวลา บางครั้งทั้งแพทย์และพยาบาล อาจหิวหรือเครียดจนต้องหาของกินขบเคี้ยวเพื่อคลายเครียด. ในห้องฉุกเฉินแห่งหนึ่งมีการนำอาหารของขบเคี้ยวเข้ามากินในห้องฉุกเฉินกันมาก บางคนซื้อเพื่อมาวางไว้ดูให้เกิดความชื่นใจและความหวังเพราะสังเกตว่าหลายครั้งอาหารเหล่านี้มักถูกลืมไว้ในห้องฉุกเฉินโดยไม่มีใครกินแต่อย่างใด อันเป็นการสร้างภาระแก่แม่บ้าน ผู้ดูแลความสะอาดต้องมาเก็บทิ้งเป็นครั้งคราวหลายต่อหลายครั้ง. อาหารเหล่านี้เป็นบ่อเกิดแมลงวันหรือยุงเพิ่มมากขึ้นในห้องฉุกเฉิน แมลงเหล่านี้ทำความรำคาญต่อผู้ป่วยและผู้ปฏิบัติงานในห้องฉุกเฉินเป็นอย่างมาก จนคราวหนึ่งหัวหน้าพยาบาลต้องออกคำสั่งห้ามนำอาหารมากินในห้องฉุกเฉินเด็ดขาด.
อย่างไรก็ตาม อาหารการกินถือเป็นปัจจัยสำคัญของห้องฉุกเฉินทุกแห่งทั่วโลก. ครั้งหนึ่งผู้เขียนได้เคยไปดูงานห้องฉุกเฉินที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ก็พบว่าเรื่องอาหารในห้องฉุกเฉินถือเป็นสิ่งจำเป็นที่ขาดไม่ได้ในห้องฉุกเฉินเช่นกัน ในประเทศสหรัฐอเมริกา ณ ห้องฉุกเฉินแห่งนั้นมีแม่ค้าเข็นรถเข้ามาทางประตูหลังของห้องเพื่อขายของขบเคี้ยวเล็กๆน้อยๆเช่น ถั่วต้มหรือขนมปัง ซึ่งสร้างความประหลาดใจแก่ผู้เขียนอย่างมาก เพราะแม้แต่ในห้องฉุกเฉินชั้นนำและมีมาตรฐานของโลกก็มีการค้าขายขนมเกิดขึ้นได้. นอกจากนี้ แพทย์ชาวอเมริกันบางท่านไม่ต้องการเสียเวลาไปกินอาหารในห้องอาหาร ซึ่งมีอยู่เป็นสัดส่วนทั้งในและนอกห้องฉุกเฉิน แต่กลับนิยมสั่งแซนด์วิชเข้ามากินในห้องที่นั่งตรวจผู้ป่วยเลย. อย่างไรก็ตาม เนื่องจากห้องฉุกเฉินในอเมริกาเป็นห้องที่ปกปิดมิดชิดและเปิดแอร์ทั้งห้อง จึงไม่พบแมลงวันหรือยุงบินตามอาหารเข้ามารบกวนภายในห้องฉุกเฉิน ให้เป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขแต่อย่างใด.
ช่วงเดือนหนึ่ง ณ ห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในประเทศไทยมียุงและแมลงวันบินเข้ามา รบกวนมาก จนทำให้แพทย์ท่านหนึ่งที่ปฏิบัติงาน อยู่ในห้องฉุกเฉินแห่งนั้นเกิดล้มป่วยด้วยไข้สูงและมีอาการคล้ายไข้เลือดออก แพทย์ท่านนั้นจึงถามด้วยความสงสัยว่า สามารถเรียกร้องค่าความเสียหายจากโรงพยาบาลเนื่องจากได้รับบาดเจ็บจากการปฏิบัติงานได้หรือไม่ ทั้งนี้เพราะแพทย์ท่านนี้อาจได้รับเชื้อจากยุงที่บินว่อนในห้องฉุกเฉินในช่วงเดือนนั้นก็ได้ ทางผู้เขียนได้แต่ยิ้มแหะๆและบอกว่า โรคไข้เลือดออกนั้นหายเองได้โดยสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลไม่มากนัก. ห้องฉุกเฉินเป็นสถานที่ให้การดูแลรักษาแก่ผู้ป่วยในหลายรูปแบบแต่ถ้าห้องนี้สร้างโรคให้เกิดแก่ผู้ปฏิบัติงานเองแล้ว แพทย์ห้องฉุกเฉินก็สามารถทำการรักษากันเองให้หายได้อีกเช่นกัน น่ามหัศจรรย์ที่ห้องฉุกเฉินห้องนี้เป็นดัง one stop service ซึ่งทั้งสร้างโรค และรักษาโรคได้เองเสร็จในสถานที่แห่งเดียวกัน.
รพีพร โรจน์แสงเรือง พ.บ., อาจารย์
ภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล
- อ่าน 2,298 ครั้ง
พิมพ์หน้านี้