ช่วงต้นปี 2551 มีข่าวการเสียชีวิตของแรงงานชาวพม่าจำนวนกว่า 50 คน ที่หลบหนีเข้าประเทศไทยมาทางจังหวัดระนอง โดยสาเหตุเกิดจากการขาดอากาศหายใจ เนื่องจากอยู่รวมกันในรถตู้คอนเทนเนอร์ขนาดใหญ่ที่ไม่ได้เปิดเครื่องปรับอากาศ เหตุการณ์นี้และอีกหลายเหตุการณ์ที่ทำให้แรงงานต่างชาติเสียชีวิต เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า แม้ในภาพรวมจะมีความพยายาม ขององค์กรพัฒนาเอกชนและกระทรวงแรงงานที่จะ "จัดระเบียบ" และให้สวัสดิการขั้นพื้นฐาน แก่แรงงานกลุ่มนี้ ขณะเดียวกัน ยังมีแรงงานอีกกลุ่มที่เสียชีวิตไม่แพ้กับกลุ่มนี้ แต่กลับไม่เคยได้รับความสนใจจากหน่วยงานภาครัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน หรือสื่อมวลชน ดังเช่นกรณีของ"นายสมหวัง".
ประเด็นที่น่าสนใจสำหรับนักอาชีวอนามัย คือ "สมหวัง"เสียชีวิตจากการทำงานหรือไม่ ? และถ้าใช่ ควรจะมีการดำเนินการต่อไปอย่างไร เพื่อป้องกันการเสียชีวิตของเพื่อนร่วมงานของเขา.
แรงงานข้ามถิ่น
ในวงวิชาการด้านแรงงานของประเทศไทย เป็นที่เข้าใจกันว่า "แรงงานต่างชาติ" หมายถึง ชาวต่างประเทศที่ได้ค่าตอบแทนจากการทำงานในประเทศไทยในฐานะลูกจ้าง เช่น ชาวพม่าที่เสียชีวิตในตู้คอนเทนเนอร์ที่กล่าวมาแล้ว. ขณะที่ "แรงงานนอกระบบ" หมายถึงกลุ่มผู้ประกอบอาชีพที่ทำงานคนเดียว เป็นลูกจ้างของกิจการขนาดเล็กหรือรับงานไปทำที่บ้าน เช่น คนขายราดหน้าหรือกลุ่มแม่บ้าน OTOP ต่างๆ แต่สำหรับแรงงานแบบ "นายสมหวัง" แล้วเชื่อว่ายังไม่มีการบัญญัติศัพท์อย่างชัดเจน จึง ใคร่ขอเสนอแนะคำว่า "แรงงานข้ามถิ่น".
"แรงงานข้ามถิ่น" ในที่นี้หมายถึง ผู้ประกอบอาชีพที่ตั้งใจเดินทางไปทำงานนอกจังหวัดบ้านเกิดของตนเอง โดยเฉพาะข้ามภาค เช่น จากภาคตะวันออกเฉียงเหนือไปยังภาคตะวันออกหรือภาคใต้ เพื่อหวังจะได้รับค่าตอบแทนจำนวนมาก แต่ไม่ได้มีการตั้งถิ่นฐานที่นั่น และยังมีการเดินทางกลับไปเยี่ยมบ้านเกิดเป็นระยะๆ.
สาเหตุที่นักอาชีวอนามัยควรให้ความสนใจกับ "แรงงานข้ามถิ่น" เพราะ
1. มักรับจ้างเป็นแรงงานเหมาช่วง (subcontract) ทำงานที่เสี่ยงอันตราย (hazardous work) มีโอกาสสูงที่จะเกิดการบาดเจ็บ เกิดการเจ็บป่วยจากการสัมผัสสารเคมีอันตราย สิ่งคุกคามทางกายภาพ เช่น เสียงดัง ฝุ่นหิน รังสีแตกตัว หรือมีสภาพการทำงานที่ผิดธรรมชาติมาก เช่น ที่อับอากาศ ที่สูงหรือใต้น้ำลึก.
2. ในทางทฤษฎีแล้ว แรงงานรับเหมาช่วง จะต้องได้รับการดูแลตามกฎหมายแรงงานเท่าเทียมกับพนักงานของบริษัทแม่ แต่ในทางปฏิบัติ แรงงานเหล่านี้ ไม่ได้รับสวัสดิการหรือได้รับแต่แตกต่างมากจากพนักงานบริษัท โดยเฉพาะการตรวจสุขภาพ ซึ่งสำคัญมากต่อการเฝ้าระวังโรคจากการทำงาน.
3. เนื่องจากไปทำงานต่างถิ่น ทำให้อาจไม่เข้าใจภาษาท้องถิ่น รวมทั้ง "เข้าไม่ถึง" บริการด้านส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค ทั้งโรคทั่วไปหรือโรคจากการทำงาน เนื่องจากเป็นประชากรแฝงในพื้นที่.
4. เมื่อเกิดการเจ็บป่วยจนทำให้แรงงานเหล่านี้ทำงานต่อไปไม่ไหว ก็จะเดินทางกลับไปรักษาตัวที่บ้านเกิด ซึ่งอาจหายเป็นปกติกลับไปทำงานเดิมได้อีกหรืออาจพิการ แม้แต่เสียชีวิต โดยไม่เคยมีการวินิจฉัยว่าป่วยเป็นโรคจากการทำงานหรือไม่ ทำให้ขาดข้อมูลที่จะนำไปสู่การป้องกันโรคจากการทำงานให้กับเพื่อนร่วมงานหรือเพื่อนบ้านที่คิดจะไปทำงานประเภทเดียวกัน.
5. เนื่องจากการเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตของแรงงานกลุ่มนี้ เกิดขึ้นคนละพื้นที่กับสถานที่ทำงาน ทำให้ไม่มีการรายงานเข้าสู่กองทุนเงินทดแทน ไม่สามารถเชื่อมโยงกับนายจ้างหรือเจ้าของกิจการบริษัทแม่ได้ ไม่เกิดแรงจูงใจในการลดการบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยจากการทำงาน.
แกะรอย
การเสียชีวิตของ "นายสมหวัง" น่าจะจบลงอย่างเงียบเชียบและไร้คำตอบเช่นกรณีของแรงงานข้ามถิ่นอื่นๆ ถ้าไม่มีความช่างสังเกตของนักวิชาการสาธารณสุข 2 คน คือ คุณวรรณฤดี สวนเจริญ ฝ่ายสุขาภิบาลและป้องกันโรค โรงพยาบาลศรีเมืองใหม่ และคุณจุฬาพร คำรัตน์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี.
|
คุณวรรณฤดีเริ่มต้นเล่าว่า "ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา แม่บ้านของโรงพยาบาลศรีเมืองใหม่มาเล่าให้ฟังว่า มีชาวบ้านที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งในเขตอำเภอศรีเมืองใหม่ เสียชีวิตจากอาการที่ไม่ทราบสาเหตุ รวมแล้ว 5 คน โดยคนสุดท้ายเพิ่งเสียชีวิตลง ทุกคนมีอาการคล้ายคลึงกัน คือ เจ็บหน้าอกเวลาหายใจและบ่นว่าเหนื่อยมากก่อนเสียชีวิต บางคนเสียชีวิตที่โรงงาน และบางคนเสียชีวิตขณะนั่งรถประจำทางกลับบ้านที่อุบลฯ".
คุณวรรณฤดีจึงขอชื่อผู้เสียชีวิตจากแม่บ้านแล้วค้นประวัติการรักษาที่โรงพยาบาล พบว่าผู้เสียชีวิตทั้ง 5 คน มาจากหมู่บ้านเดียวกันจริง และล้วนมีประวัติรักษาที่โรงพยาบาลเดียวกันในจังหวัดชลบุรี จากนั้นได้ประสานงานกับเจ้าหน้าที่สถานีอนามัยที่รับผิดชอบ หมู่บ้านดังกล่าว ทำการสัมภาษณ์ญาติผู้เสียชีวิตและเพื่อนบ้าน สรุปเบื้องต้นได้ว่า เป็นเวลากว่า 10 ปีแล้วที่ชาวบ้านในหมู่บ้านดังกล่าวมีการชักชวนกันไปทำงานกับบริษัทรับจ้างเหมาที่รับงานซ่อมเรือในอู่แห่งหนึ่งในจังหวัดชลบุรี มีคนไปทำงานประมาณ 20 คน งานที่ทำ คือ พ่นทรายดำขัดเรือ จากนั้นพ่นสีทับอีกครั้ง สำหรับกรณีการเสียชีวิตนั้น ไม่มีใครอยาก "เอาเรื่อง" กับอู่หรือบริษัทรับจ้างเหมา เพราะจะไม่ได้ทำงานอีกและ "เรียกร้องไปก็ไม่มีอะไรดีขึ้น" เนื่องจากไม่อยู่ในความคุ้มครองของประกันสังคม.
หลังจากได้ข้อมูลเบื้องต้นดังกล่าวนี้แล้ว คุณวรรณฤดีแจ้งไปยังคุณจุฬาพรที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ซึ่งคุณจุฬาพรได้ขอคำปรึกษาจากผู้เขียนอีกทอดหนึ่ง ได้ข้อสรุปร่วมกันว่าจะต้องซักถามข้อมูลเพิ่มเติมจากญาติและเพื่อนร่วมงานอย่างละเอียดอีกครั้ง โดยเฉพาะประวัติการทำงาน ลักษณะงาน และประวัติส่วนตัวของผู้เสียชีวิต เพื่อให้ได้แนวทางในการพิสูจน์ว่า "นายสมหวัง" เสียชีวิตจากอะไร.
เปิดปม
ทีมงานจากสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 (อุบลราชธานี) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบล ราชธานี โรงพยาบาลศรีเมืองใหม่และสถานีอนามัย ได้ทำการสัมภาษณ์กลุ่มชาวบ้านในหมู่บ้านที่เคยไปทำงานและญาติผู้เสียชีวิตรวมทั้งภรรยาของ "นายสมหวัง" ได้ข้อสรุปที่น่าสนใจว่า "ทรายดำ" ที่คนงานเหล่านี้สัมผัสขณะทำการพ่นทรายนั้น เป็นวัสดุทดแทน ทราย เนื่องจากทรายมีซิลิก้า (silica) เป็นองค์ประกอบหลัก ทำให้คนงานที่สัมผัสมีโอกาสป่วยเป็นโรคซิลิโคสิส (silicosis) ซึ่งไม่มีทางรักษา เพื่อนคนหนึ่งของสมหวังกล่าวว่า "ถ้าทรายธรรมดาจะอันตรายต่อสุขภาพ เลยใช้ตัวนี้แทน" ทั้งนี้ชาวบ้านได้สอบถามหัวหน้างานว่าชื่อการค้าของทรายดำ คือ copperslag ทีมงานตรวจพบ "ทรายดำ" ประมาณ 1 ช้อนโต๊ะในกระเป๋าชุดทำงานของชาวบ้านคนหนึ่ง ลักษณะเป็นเกล็ดหลายเหลี่ยม สีดำมันวาวคล้ายนิล ขนาดผลึกประมาณ 1-3 มิลลิเมตร.
บริเวณที่ทำงานพ่นทรายและสีอยู่รอบลำเรือ ซึ่งถูกยกขึ้นมาจากน้ำและมีตาข่ายโปร่งๆ สีดำปกคลุม เรือไว้ทั้งลำ เพื่อกันการฟุ้งกระจายของฝุ่น บางวันที่อากาศร้อนหรือลมพัดน้อย จะรู้สึกอึดอัดมาก ตามปกติคนงานทำงานทุกวัน เริ่มทำงานตั้งแต่เวลา 7.00 น. จนถึง 17.00 น. แต่ส่วนมากมักทำล่วงเวลาไปจนถึง 2.00 น.ของวันรุ่งขึ้น ทำให้มีเวลาพักผ่อนน้อยมาก. ขณะที่ทำการพ่นทรายดำ คนงานสวมชุดหมีทับชุดเสื้อยืดและกางเกงธรรมดาที่ใส่ไปจากบ้าน มีการสวมหมวกลักษณะคล้ายหมวกกันน้อค มีท่ออากาศขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณครึ่งนิ้วต่อเข้าสู่ด้านหลังของหมวกเพื่อเป็นอากาศหายใจ ต้องสวมปลั๊กอุดหูเพื่อกันเสียงดังแต่มักใช้สำลีอุดหูเนื่องจากรู้สึกสบายกว่า สวมถุงมือหนังและรองเท้าบู้ต ไม่มีการตรวจสุขภาพก่อนเข้าทำงาน. สำหรับการตรวจสุขภาพประจำปีนั้น บริษัทรับเหมาทำการประกาศให้ไปตรวจสุขภาพพร้อมกับพนักงานบริษัทแม่ ในเวลาที่กำหนดตามความสมัครใจ โดยมีการถ่ายภาพรังสีปอดและพบแพทย์ แต่ส่วนมากไม่ได้ไปตรวจเนื่องจากเสียเวลาทำงาน.
ภรรยาของสมหวังเล่าว่าสามีสูบบุหรี่วันละครึ่งซองมาประมาณ 10 ปี แต่จะสูบได้เฉพาะเวลาพักและในบริเวณที่จัดไว้ให้ เนื่องจากบริเวณอื่นจะเสี่ยงต่อการระเบิดหรือติดไฟ. สำหรับประวัติการดื่มเหล้านั้น ดื่มเป็นครั้งคราวในลักษณะสังสรรค์กับเพื่อนร่วมงาน นอกจากนั้นแล้วสมหวังก็แข็งแรงดี ไม่มีโรคประจำตัวอะไร. สำหรับภรรยาของนาย "สุกใส" ซึ่งเสียชีวิตด้วยอาการเดียวกับสมหวังเมื่อปี 2548 เล่าว่าสามีไอบ่อยๆ "แต่ไม่มีขี้กะเท่อ(เสมหะ)" และไม่มีเลือดออกตอนที่เสียชีวิตแพทย์โรงพยาบาลสรรพสิทธิ์ประสงค์วินิจฉัยว่าเป็นมาลาเรียลงกระเพาะ.
สำหรับสิ่งคุกคามสุขภาพและสารเคมีอื่นๆ ที่คนงานสัมผัส รวมทั้งสีที่ใช้พ่น ไม่สามารถสรุปข้อมูลได้จากการสัมภาษณ์ และเนื่องจากทีมงานเห็นว่ายังไม่อาจสรุปได้แน่นอนว่าสาเหตุการตายของสมหวังและเพื่อนๆคืออะไร จึงติดต่ออู่ซ่อมเรือที่จังหวัดชลบุรีเพื่อไปทำการสำรวจบริเวณทำงานและลักษณะการทำงาน.
ผลการเดินสำรวจเบื้องต้นได้ข้อสรุปว่า "นายสมหวัง" อาจเสียชีวิตจาก
- พยาธิสภาพของปอดจากการสูดดมฝุ่นทรายดำที่มีโลหะหนักเป็นส่วนผสมหลักและมีซิลิก้าน้อย กว่าร้อยละ 0.1 แต่ยังไม่เคยมีรายงานทางวิชาการถึงผลกระทบต่อสุขภาพจากสารทดแทนซิลิก้าดังกล่าว.
- สารเคมีบางชนิดที่มีพิษเฉียบพลันหรือเรื้อรังต่อกล้ามเนื้อหัวใจ.
- การทำงานที่ใช้แรงงานมากเป็นเวลานานติดต่อกันนานเกินไป จนร่างกายล้าเต็มที่.
- สภาวะกึ่งอับอากาศ (confined space) ขณะทำงานพ่นทรายและสี.
- โรคไหลตาย เนื่องจากเป็นผู้ชายจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ.
ทั้งนี้อาจมีสาเหตุเพียงข้อใดข้อหนึ่งหรือเป็น ผลร่วมกันของหลายสาเหตุก็เป็นได้ หากจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจน จะต้องอาศัยอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตรวจแรงงานภายใต้พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานเข้าทำการตรวจวัดสภาพแวดล้อมการทำงาน สังเกตการทำงานของคนงานในอู่โดยละเอียดทุกขั้นตอน รวมทั้งวิเคราะห์ข้อมูลสุขภาพของคนงานที่มีอยู่ และทำการตรวจสุขภาพเพื่อหารอยโรค และหากมีการเสียชีวิตในลักษณะคล้ายกัน ควรมีการขออนุญาต ผ่าศพเพื่อศึกษาด้วย ซึ่งทีมงานได้ข้อสรุปว่า อาจต้องอาศัยการทำหนังสือจากผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐสามารถปฏิบัติงานได้จริง.
อย่างไรก็ตาม ขณะที่ยังไม่สามารถเข้าไปทำการ "สอบสวน" สาเหตุการเสียชีวิตของนายสมหวังและเพื่อนได้นี้ ทีมงานมีความเห็นว่าควรต้องมีการดำเนินการ 3 ประเด็น คือ
1. ข้อมูลความเสี่ยงต่อสุขภาพที่พอรวบรวมได้นั้น เพียงพอสำหรับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่อุบลฯ จะทำการ "เตือนภัย" ให้กับชาวบ้านที่คิดจะไปทำงานลักษณะเดียวกับผู้เสียชีวิต เพื่อลดการเสียชีวิตที่คล้ายกัน. นอกจากนั้น สามารถทำการตรวจสุขภาพ "ก่อนออกเดินทาง" เช่น การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด ปัสสาวะ ระดับเกลือแร่ในร่างกายและภาพถ่ายรังสีปอด เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานเก็บไว้ที่โรงพยาบาลศรีเมืองใหม่ ให้กับผู้คิดจะไปทำงานอีกด้วย.
2. เจ้าหน้าที่ห้องฉุกเฉิน ควรทำการซักประวัติ ผู้เสียชีวิตที่ต้องสงสัยว่าเกิดจากการทำงานในลักษณะ นี้ จากญาติหรือเพื่อนร่วมงานที่นำส่ง คล้ายกับผู้ป่วยนิติเวช เพื่อประโยชน์สำหรับการสอบสวนในเวลาต่อไป เนื่องจากบัตรผู้ป่วยนอกของ "นายสมหวัง" นั้น มีเฉพาะข้อมูลการช่วยชีวิตด้วยยา แต่ไม่มีผลตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ หรือการซักประวัติเพื่อหาสาเหตุการเสียชีวิต.
3. นำเสนอข้อมูลเบื้องต้นทั้งหมดต่อผู้ว่าราชการจังหวัดผ่านนายแพทย์สาธารณสุขทั้งสองจังหวัด เพื่อให้เกิดการผลักดันเชิงนโยบายด้านการดูแลสุขภาพแรงงานข้ามถิ่น และการพัฒนาแนวทางปฏิบัติงานทั้งของกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงแรงงาน โดยเริ่มจากสองจังหวัดนี้
ผู้เขียนหวังว่าบทความอาชีวเวชศาสตร์ปริทัศน์ฉบับนี้ จะช่วยจุดประกายให้ท่านผู้อ่านได้สนใจสภาพ ปัญหาสุขภาพของแรงงานข้ามถิ่นเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าท่านจะดูแลทางฝั่ง "ต้นทาง" ก่อนพวกเขาออกเดินางไปทำงาน หรือ "ปลายทาง" ก่อนที่เขาจะเจ็บป่วย และจะดีมากหากท่านสามารถวินิจฉัยอาการเจ็บป่วยของแรงงานกลุ่มนี้ เพื่อให้เกิดการรายงานโรคและเป็นประโยชน์ในการป้องกันการเจ็บป่วยจากการทำงานต่อไป.
เรื่องราวของสมหวัง
นายสมหวัง ชายไทยคู่อายุ 37 ปี เป็นคนจังหวัดอุบลราชธานี เมื่อ 7 ปีก่อนเขาได้ฟังเพื่อนในหมู่บ้านเล่าถึงการไปทำงานที่อู่ซ่อมเรือในจังหวัดชลบุรี ซึ่งทำให้มีรายได้เดือนละไม่ต่ำกว่า 30,000 บาท. สภาพความแห้งแล้งของผืนท้องนาและรายได้รับจ้างวันละไม่กี่บาททำให้เขาครุ่นคิดอยู่หลายวัน เมื่อหันไปมองดูลูกแฝดและลูกชายคนเล็กที่นอนหลับอย่างมีความสุข เขาก็ตัดสินใจไปทำงานที่นั่น.
เมื่อไปถึงอู่ซ่อมเรือ ผู้ว่าจ้างจัดให้เข้าฟังการอบรมที่สำนักงานใหญ่ของอู่เป็นเวลา 1 วัน เริ่มด้วยการทดสอบความรู้เกี่ยวกับความปลอดภัย เขาก็ตอบไปเท่าที่รู้ จากนั้นเป็นการพูดถึงสิ่งที่ต้องทำเพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดแก่ตัวเขาและเพื่อนร่วมงาน แต่ที่คนสอนเน้นมาก คือ การระวังไม่ให้เกิดไฟไหม้ การดับเพลิง ซึ่งจะทำให้ทรัพย์สินของอู่เสียหาย ทั้งหมดนี้ เขาและเพื่อนจากบ้านเดียวกัน ฟังรู้เรื่องแค่ครึ่งชั่วโมงแรก เพราะมีคำหลายคำที่ไม่เข้าใจ แต่เขาก็ไม่ห่วงอะไรมาก เพราะมีเพื่อนมาด้วยกันอีกหลายคน.
วันรุ่งขึ้น ผู้ว่าจ้างให้เขาใส่เสื้อยืดที่สกรีนชื่อบริษัทรับเหมาอยู่ข้างหลัง และให้ ใส่กางเกงขายาวตามที่มี แล้วก็พาขึ้นรถกระบะเปิดท้ายไปส่งที่อู่พร้อมเพื่อนๆ ที่เริ่มงานด้วยกัน เขาถูกให้ไปทำหน้าที่ช่วย พี่เขียว ซึ่งทำงานพ่นทรายขัดเพรียงและสนิมที่ เกาะเรือ แล้วทำการพ่นสีทับ โดยทำอยู่ที่บริเวณผนังด้านนอกส่วนกลางของเรือบรรทุกสินค้าลำใหญ่มาก เป็นเรือลำใหญ่ที่สุดในชีวิตเขาทีเดียว. เขาต้องคอยยกสายยางที่ต่อกับเครื่องปล่อยทราย เพื่อให้พี่เขียวทำงานได้ง่ายและไม่ขาดตอน. จากวันนั้นเป็นต้นมา สมหวัง ก็ตั้งใจทำงานและเก็บเงินส่งให้กับภรรยาและลูก 3 คนของเขาอย่างสม่ำเสมอ.
สองปีต่อมา หัวหน้างานให้โอกาสเขาลองพ่นทราย เขาใช้ประสบการณ์ที่เห็น พี่เขียวทำมาตลอด ทำงานชิ้นแรกอย่างตั้งใจ จนหัวหน้างานยกระดับให้เป็นคนพ่นทรายและสี นั่นหมายถึงว่า เขาจะได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้นจนมีรายได้กว่า 30,000 บาทต่อเดือนตามที่เขาใฝ่ฝันไว้ และเขาเริ่มรู้สึกว่าตัวเองได้ทำหน้าที่ของพ่ออย่างแท้จริง เพื่อความสุขของครอบครัว และ 3 ปีต่อมา เมื่อลูกคนเล็กเข้าโรงเรียน เขาก็ชวนภรรยามาทำงานที่อู่ด้วย โดยเธอทำหน้าที่เตรียมอุปกรณ์พ่นให้กับสมหวังและคนอื่นๆ.
ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2550 หรือประมาณ 5 ปีที่เขาพ่นทรายและสีมาตลอด เขาเริ่มมีอาการไข้และเจ็บหน้าอกด้านซ้ายเวลาหายใจ ไปหาหมอที่คลินิกแถวบ้านที่อุบลฯ หมอบอกว่าปอดมีจุด ให้ยามากิน อาการดีขึ้น แต่ก็ยังมีอาการไอเป็นระยะๆ และยังทำงานได้ตามปกติ. จนกระทั่งประมาณปลายเดือนมกราคม 2551 เขาบ่นให้ภรรยาฟังตลอดว่าเจ็บชายโครงซ้ายตลอดเวลาที่หายใจและรู้สึกว่าเหนื่อยหอบมากขึ้น แต่เขาก็ยังทำงานได้.
เช้าวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2551 "สมหวัง" ตื่นนอนตอน 6 โมงเช้า และเริ่มงานที่อู่เวลา 8.00 น.ตามปกติ เขารู้สึกเหนื่อยมาก ขณะที่กำลังคุยกับเพื่อนร่วมงานอีก 2-3 คนที่นั่งรอกระเช้าเพื่อขึ้นไปพ่นทรายบริเวณด้านบนของกราบเรือด้วยกันนั้น เขาซุกหน้าลงระหว่างเข่าทั้งสองข้างแล้วก็ล้มฟุบลงไปกับพื้น เพื่อนๆช่วยกันเขย่าตัวให้ตื่น แต่เขาก็ไม่ตอบสนองใดๆ เพื่อนจึงแจ้งหัวหน้างานและช่วยกันนำส่งโรงพยาบาล แพทย์และพยาบาลเห็นว่าเขาหยุดหายใจแล้ว จึงทำการช่วยชีวิต และอีก 30 นาทีต่อมา แพทย์ก็แจ้งว่าเขาเสียชีวิตแล้ว.
ฉันทนา ผดุงทศ พ.บ.
DrPH in Occupational Health, สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม,
กรมควบคุมโรค,กระทรวงสาธารณสุข
E-mail address : [email protected]
- อ่าน 3,091 ครั้ง
พิมพ์หน้านี้