การดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วยในห้องฉุกเฉิน แพทย์และพยาบาลมักประสบปัญหาหนึ่งเสมอ นั่นคือ การที่ผู้ป่วยมารับการรักษาบ่อยๆ ณ ห้องฉุกเฉิน. แพทย์ต้องมองหาสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยต้องมารับการรักษาที่ห้องฉุกเฉินบ่อย ทั้งนี้บางครั้งสาเหตุอาจเป็นจากการรักษาที่ไม่มีประสิทธิภาพได้แก่ ผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาต่อเนื่อง ผู้ป่วยไม่ปฏิบัติตามแนวทางการรักษาของแพทย์ประจำตัว หรืออาจมีปัจจัยอื่นๆ ซ่อนเร้นอยู่ อันทำให้การรักษาพยาบาลไม่ได้ผลดี ซึ่งถ้าแพทย์สามารถแก้ที่ต้นเหตุได้ก็จะทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่มีคุณภาพและลดจำนวนครั้งที่ผู้ป่วยจำเป็นต้องมารับการรักษา ณ ห้องฉุกเฉินได้.
อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์การทำงานของผู้เขียนเองพบว่า มีปัญหาหนึ่งที่คาดไม่ถึงอันนำผู้ป่วยให้มารับการรักษาบ่อยๆ ที่ห้องฉุกเฉิน นั่นคือ ความเหงา มีผู้ป่วยชายอายุ 60 ปีมาด้วยอาการเจ็บหน้าอกจนต้องมารับการรักษาพยาบาล ณ ห้องฉุกเฉินแห่งหนึ่งติดต่อกัน 2 วัน ทุกครั้งผู้ป่วยจะมีอาการหน้าเศร้าๆ.
แต่การทำงานในห้องฉุกเฉินค่อนข้างรีบด่วนในการรักษาครั้งแรก แพทย์จึงไม่ได้สังเกตสีหน้าของผู้ป่วยแต่อย่างใด และเลือกให้การรักษาเพื่อเฝ้าระวังโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เนื่องจากผู้ป่วยรายนี้เป็นเพศชาย และมีโรคประจำตัวเป็นเบาหวานและความดันเลือดสูงซึ่งถือเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้ โดยแพทย์ได้ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจและเจาะเลือดตรวจหาเอนไซม์ของหัวใจ ทุก 2 ชั่วโมงและเฝ้าดูอาการผู้ป่วยนานประมาณ 4-6 ชั่วโมงในแต่ละครั้งที่มารับการรักษา ณ ห้องฉุกเฉิน. ดังนั้นเมื่อผู้ป่วยมาด้วยอาการเจ็บหน้าอกทุกครั้งจึงต้องเฝ้าระวังโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด อันทำให้ต้องเฝ้าดูอาการและเจาะเลือด รวมทั้งตรวจคลื่นไฟฟ้า หัวใจ หลังจากนั้น ผู้ป่วยก็จะนอนรอในห้องฉุกเฉินเพื่อเฝ้าดูอาการทุกครั้งจนครบอย่างน้อย 6 ชั่วโมง เมื่อไม่พบความผิดปกติใดๆ แพทย์จึงแจ้งให้ผู้ป่วยกลับบ้านได้.
แต่เนื่องจากผู้ป่วยรายนี้มาที่ห้องฉุกเฉินทุกวัน แพทย์ผู้ทำการรักษาจึงเกิดความสงสัยและเริ่มสอบ ถามประวัติโดยละเอียด ผู้ป่วยชราทำหน้าเศร้าและบอกว่า อยู่บ้านคนเดียวไม่มีลูกหลานจึงเหงามากและอยากเข้ามาอยู่ในที่ชุมชน ซึ่งเล็งเห็นแล้วว่า ห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาล เป็นสถานที่ปลอดภัยและมีผู้คนอยู่ตลอด 24 ชั่วโมงแน่นอน จึงทำให้มารับการรักษาที่ห้องฉุกเฉินทุกวัน แม้ว่าจะต้องเจ็บตัวจากการถูกเจาะเลือดก็ตาม แพทย์ได้ฟังก็รู้สึกสะท้อนใจและเข้าใจจิตใจของผู้ป่วย เพราะหลักความจริงตามธรรมชาติอย่างหนึ่งก็คือ มนุษย์เป็นสัตว์สังคม ดังนั้นจึงต้องการการอยู่ร่วมกันเป็นหมู่เป็นเหล่า.
อย่างไรก็ตาม แพทย์ก็ได้แต่แนะนำว่า ผู้ป่วยควรไปขอเข้าอาศัยที่บ้านพักคนชราบางแค เพื่อให้มีเพื่อนในวัยเดียวกันไว้พูดคุย หรือทำกิจกรรมบางอย่างร่วมกันเพื่อคลายเหงาต่อไป.
เรื่องนี้ทำให้คิดย้อนไปถึงผู้ป่วยหญิงอายุ 65 ปีอีกรายหนึ่ง ผู้ป่วยหญิงรายนี้มักมารับการรักษา ณ ห้องฉุกเฉินหลายครั้ง โดยมักมาหาแพทย์เวลา 4.00 น. ของทุกวันด้วยอาการแตกต่างกันไปหลายรูปแบบ. จากการตรวจของแพทย์เวรฉุกเฉินมักไม่พบความผิดปกติทางร่างกายแต่อย่างใด ผู้ป่วยมักรอจนกว่าทีมอาจารย์แพทย์ที่มาตรวจเยี่ยมผู้ป่วยทุกเช้าในห้องฉุกเฉินได้พูดคุยกับผู้ป่วยเรียบร้อยแล้วจึงค่อยกลับบ้าน มีผู้สงสัยรายหนึ่งสอบถามผู้ป่วยรายนี้ พบว่า ผู้ป่วยเหงามากและไม่ค่อยมีคนคุยด้วย จึงชอบมาพูดคุยธรรมะกับอาจารย์อาวุโสท่านหนึ่งที่มักมาตรวจเยี่ยมผู้ป่วยที่ห้องฉุกเฉินแห่งนี้ทุกเช้าเสมอๆ.
ห้องฉุกเฉินสามารถเป็นศาลาพักใจของผู้ป่วยที่มีความรู้สึกเหงาได้ รวมทั้งแพทย์และพยาบาลที่ทำงานในห้องฉุกเฉินก็สามารถแปลงกายเป็นศิราณีจำเป็นได้เป็นครั้งคราว. อย่างไรก็ตาม ช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยที่มีความเหงาทุกท่าน ควรจะเป็นเวลาที่ภาระงานเบาบางเพื่อที่ศิราณีจำเป็นจะได้ให้การดูแลได้ดีพอ.
รพีพร โรจน์แสงเรือง พ.บ., อาจารย์
ภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล
- อ่าน 3,142 ครั้ง
พิมพ์หน้านี้