เมื่อวันที่ 9 กันยายนที่ผ่านมา ผมได้รับเชิญไปบรรยายเรื่อง "หมออนามัยจิตอาสา" ในที่ประชุมสมัชชาหมออนามัยแห่งชาติ เนื่องในวันหมออนามัยแห่งชาติ (14 กันยายน) ซึ่งจัดโดยสภาหมออนามัยแห่งชาติที่จังหวัดขอนแก่น.
หมออนามัย หมายถึง บุคลากรสาธารณสุขที่ทำงานด้านสุขภาพในพื้นที่หมู่บ้านหรือชุมชน ได้แก่ บุคลากรสาธารณสุขในสถานีอนามัยหรือศูนย์สุขภาพชุมชนนั่นเอง.
หมออนามัยเป็นบุคลากรดับรากหญ้า ทำงานอยู่ด่านหน้าสุดของระบบบริการสาธารณสุข มีการกระจายอยู่อย่างทั่วถึงทุกตำบลของประเทศ ซึ่งได้มีประวัติวิวัฒนาการมามากกว่าครึ่งศตวรรษ.
หมออนามัยรุ่นอาวุโส ได้แก่ พนักงานอนามัย และผดุงครรภ์ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากชนบทห่างไกล ยากจน รับทุนมาเรียน จบแล้วกลับไปทำงานที่บ้านเกิดหรือชนบท ใช้ชีวิตหลอมเป็นหนึ่งเดียวกับชุมชนดุจปลากับน้ำ มีความสัมพันธ์และความผูกพันกับประชาชนดุจเครือญาติ มีความเข้าใจและเข้าถึงชุมชนซึ่งเป็นทุนสังคมอันล้ำค่าในการพัฒนาสุขภาพของชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวชนบทซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ.
ในอดีตเครือข่ายหมออนามัยได้สร้างคุณูปการต่อระบบสุขภาพไทยอย่างใหญ่หลวง โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานอนามัยแม่และเด็ก การวางแผนครอบครัว การสุขาภิบาลและอนามัยสิ่งแวดล้อม การเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรค (จนโรคติดเชื้อพื้นฐานหลายชนิดได้ถูกกำราบลงจนสิ้น) การควบคุมโรคระบาดในชุมชน การปฐมพยาบาลและการรักษาโรคเบื้องต้น (ซึ่งได้ช่วยคัดกรองโรค ค้นหาโรคระยะแรกเริ่ม การส่งต่อผู้ป่วย การติดตามผู้ป่วย การปรับพฤติกรรมผู้ป่วย สามารถลดอัตราตายและเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของชาวชนบท).
หมออนามัยที่ฝังตัวอยู่ในพื้นที่นาน 10-20 ปีขึ้นไป (บางท่านอยู่ทำงานในพื้นที่เดิมจนเกษียณ) นอกจากให้บริการสาธารณสุขขั้นพื้นฐานดังกล่าวแล้ว ยังทำหน้าที่เป็นครูของประชาชน เป็นนักพัฒนา นักสังคมสงเคราะห์ และผู้นำชุมชน ซึ่งเป็นที่รักใคร่ศรัทธาของประชาชนในพื้นที่อีกด้วย.
2 ปีมานี้ หมออนามัยได้รวมตัวกันจัดประชุมสมัชชาหมออนามัยแห่งชาติ เพื่อขับเคลื่อนทางวิชาการและเชิดชูความดีงามของหมออนามัยสู่สาธารณะ. ในโอกาสนี้ได้มีการมอบ "รางวัล หมออนามัยแห่งชาติ (รางวัลหมออนามัยที่มีหัวใจของความเป็นมนุษย์)" แก่หมออนามัยทั่วประเทศจำนวน 14 ท่าน.
ปีนี้ผมได้มีโอกาสพบปะ ฟังเรื่องราวและข้อคิดในการทำงานและการดำเนินชีวิตของหมออนามัยดีเด่นทั้ง 14 ท่าน ซึ่งสะท้อนถึงจิตวิญญาณของหมออนามัยที่รักประชาชน รับใช้ประชาชน ดังคำกล่าวจากใจของพวกเขา เช่น
"การได้ดูแลประชาชนเมื่อเขามีความทุกข์ ทำให้เขามีความสุข เราก็มีความสุขด้วย หากเราหาความสุขแต่คนเดียวก็จะเป็นการเอาเปรียบชาวบ้านเกินไป เพราะว่าเรากับเขาต่างก็ต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน"
"ชีวิตการทำงานกับชาวบ้านตลอดเวลากว่า 30 ปี ทุกวันนี้ยังมีความสุข ดีใจทุกครั้งที่ได้ช่วยเหลือชาวบ้าน มีความสุขอยู่กับงานบริการผู้ป่วย อยู่กับชาวบ้าน ชุมชน และอสม. เพราะหมออนามัยที่ดี คือ ที่พึ่งของชาวบ้าน มีคติส่วนตัวว่า รักประชาชน รักอสม. คือ หมออนามัย"
"หมออนามัย หัวใจชาวบ้าน ถ้าชาวบ้านต้องการผม ผมก็จะอยู่กับชาวบ้านตลอดไป"
"ทำงานด้วยใจรัก ให้บริการด้วยหัวใจ เพราะหมออนามัย คือทุกสิ่งทุกอย่างของชุมชน"
"ความเป็นหมออนามัย จะมีคุณค่าและมีศักดิ์ศรีตรงที่มีความเห็นอกเห็นใจต่อผู้ป่วย ต่อชาวบ้าน และคนยากจน สามารถเป็นที่พึ่งเขาได้...ไม่ได้ขึ้นอยู่กับตำแหน่ง ยศถาบรรดาศักดิ์ แต่มันคือหัวใจของความเป็นมนุษย์ที่จะต้องช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน"
"หากหมออนามัยเปรียบเสมือนชีวิต การทำให้ชีวิตมีศักดิ์ศรีและมีคุณค่าก็คือ การกระทำคุณงามความดีด้วยการช่วยเหลือชาวบ้าน ชาวบ้านคือกระจกเงาที่จะสะท้อนความดีงามเหล่านี้ สักวันหนึ่งเราจะรู้ว่า ไม่มีอาชีพไหนที่มีโอกาสได้ช่วยเหลือชาวบ้านมากมายเท่านี้"
"ให้ผู้ป่วยและชาวบ้านเป็นศูนย์กลาง ผ่านกระบวนการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และใช้หัวใจเป็นเครื่องมือในการทำงาน ทุกอย่างจะสำเร็จได้อย่างมีความสุข"
"การพัฒนาชุมชนไปสู่การมีสุขภาวะ จุดแตกหักอยู่ที่แกนนำชุมชน สถานีอนามัยถือเป็นหน่วยงานของรัฐที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ มีความใกล้ชิดกับประชาชนมากกว่าหน่วยงานของรัฐอื่นๆ อีกทั้งมีศักยภาพในการสร้างแกนนำชุมชน (อสม.) มาร่วม 30 ปี จึงควรเป็นองค์กรหลักสำคัญที่จะไปพัฒนาชุมชนไปสู้สุขภาวะได้"
หมออนามัยดีเด่นทั้ง 14 ชีวิต คือ แบบอย่างของหมอที่รักประชาชน ทำงานจิตอาสาด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์โดยแท้.
เอกสารอ้างอิง
นิรุจน์ อุทธา และคณะ. บันทึกชีวิต บันทึกความดี หมออนามัยที่มีหัวใจของความเป็นมุนษย์ พุทธศักราช 2550. ขอนแก่น : สภาหมออนามัยแห่งชาติ, 2551.
- อ่าน 4,320 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้