การแพทย์ทางเลือก ในเวชปฏิบัติโรคผิวหนัง : ตอนที่ 1 (Alternative Medicine in Dermatological Practice)
การแพทย์ทางเลือก (alternative medicine) หมายถึง การรักษาที่นอกเหนือไปจากการรักษาหลักที่เป็นที่ยอมรับกันทั่วไป (conventional medicine) การแพทย์ทางเลือกอาจเริ่มมาจากความเชื่อ, ปรัชญา, การสังเกต และบางครั้งยังไม่ได้ผ่านการทดลองพิสูจน์ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์. อย่างไรก็ตาม การรักษาทางการแพทย์ทางเลือกและสมุนไพรใดๆ ที่นำมาใช้ เมื่อมีการพิสูจน์ว่าได้ผลจริงและปลอดภัยตามหลักวิทยาศาสตร์ ก็จะได้รับการยอมรับและนำมาใช้ทั่วไปจนกลายเป็นการแพทย์ทางหลักได้.
มีการศึกษาในหลายประเทศพบว่าผู้ป่วยโรคมะเร็งร้อยละ 31 ใช้การแพทย์ทางเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งในการรักษา ในประเทศเยอรมนีและประเทศออสเตรีย ผู้ที่ใช้การแพทย์ทางเลือกเพื่อรักษาผู้ป่วยส่วนใหญ่คือ แพทย์ และมีการประมาณว่าในประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้ที่ใช้การแพทย์ทางเลือกครึ่งหนึ่งคือ แพทย์. ในประเทศเยอรมนีมีการควบคุมการใช้สมุนไพรอย่างเข้มงวด ร้อยละ 50 ของการใช้สมุนไพรในประเทศเยอรมนีสั่งจ่ายโดยแพทย์และเบิกประกันสุขภาพได้.
ส่วนในไทยนั้น ภญ.มณฑกา ธีรชัยสกุล กองการแพทย์ทางเลือก รายงานว่ากระแสความตื่นตัวเรื่องการแพทย์ทางเลือกในสังคมไทยเริ่มก่อตัวชัดเจนและแพร่หลายมากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. 2530 โดยเริ่มต้นจากการนำสมุนไพรมาใช้ การรื้อฟื้นภูมิปัญญาการแพทย์แบบพื้นบ้าน ไปจนถึงการแสวงหารูปแบบและวิธีการรักษาหลายอย่างจากต่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุขจึงก่อตั้งกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกขึ้นใน พ.ศ. 2545 ศาสตร์การแพทย์ทางเลือกที่ได้รับความนิยมในสังคมไทยแบ่งได้ 3 กลุ่ม เรียงจากกลุ่มที่ 1 หมายถึงได้รับความนิยมสูงสุด และกลุ่มอื่นๆ ได้รับความนิยมรองลงมาตามลำดับ ดังนี้
กลุ่มที่ 1 คือ การนวด, ออกกำลังกาย, บำบัดด้วยการดื่มน้ำผลไม้, ทำสมาธิ, ผ่อนคลาย (relaxation) และโยคะ.
กลุ่มที่ 2 คือ การอดอาหาร (fasting), เปลี่ยนวิถีชีวิต (lifestyle change), อาหารธรรมชาติ (natural food), การหายใจ (breathing pattern), การให้คำปรึกษา (counseling), ดนตรีบำบัด (ภาพที่ 1) และสมุนไพร (herbals).
กลุ่มที่ 3 คือ การฝังเข็ม (acupuncture), การบำบัดลำไส้ใหญ่ (colon therapy), การล้างพิษ (detoxification), โภชนาการบำบัด (nutritional therapy), อาหารเสริม (nutrition supplement), อาหารแมคโครไบโอติก (macrobiotic เป็นปรัชญาความเชื่อเรื่องของอาหารผสมผสานกับแนวทางการดำเนินชีวิตจากจีน คือ ทฤษฎีหยิน-หยาง) และการสร้างจินตภาพ (guided imaginary).
ปัจจุบันมีการนำสมุนไพรและการรักษาที่เป็นการแพทย์ทางเลือกมาใช้รักษาโรคผิวหนังหลายชนิด เช่น ผิวหนังอักเสบ, สิว, ฝ้า, เริม, สะเก็ดเงิน, โรคผิวหนังภูมิแพ้ และโรคผมร่วงเป็นหย่อม.
สมุนไพร และการแพทย์ทางเลือกที่ใช้รักษาโรคผิวหนัง
สมุนไพรที่ใช้รักษาโรคผิวหนัง เช่น
สารสกัดจากชา (Tea extracts) เป็นที่ทราบกันดีว่ารังสียูวีในแสงแดดทำให้เกิดผลเสียต่อผิวหนังมนุษย์หลายอย่าง เช่น ทำให้ผิวเหี่ยวแก่, เป็นมะเร็งไฝดำ, ผิวไหม้แดด มีการทดลองใช้สารสกัดชาเขียว (green tea extracts) เพื่อป้องกันผลเสียจากรังสียูวี ยังพบว่าสารสกัดชาดำ (black tea extracts) ก็ป้องกันผลเสียจากแสงแดดได้ มีการทดลองในหนูพบว่าสารที่สกัดจากใบ Eucommia ulmoides (ตู๋จ้ง, เป็นต้นไม้ประจำถิ่นของจีน) ที่มี geniposidic acid เป็นส่วนประกอบสำคัญ น่าจะป้องกันผิวเหี่ยวแก่ได้.
กลุ่มกรดไขมันจำเป็น (Essential fatty acids) พบว่า primrose oil หรือ borage oil ช่วยให้อาการคัน, ผิวแดง, ผิวเป็นตุ่มน้ำ และมีน้ำเหลืองไหลซึมในผู้ป่วยโรคผิวหนังภูมิแพ้ มีอาการดีขึ้นได้.
น้ำมันหอมระเหย (Essential oils) มีการใช้น้ำมันหอมระเหยที่มาจากสมุนไพรหลายตัว เช่น thyme (ต้นไม้พันธุ์เตี้ยชนิดหนึ่ง ใช้เป็นเครื่องเทศ), rosemary (เป็นพืชสมุนไพรเก่าแก่ชนิดหนึ่ง), lavender (ต้นไม้เล็กชนิดหนึ่งดอกสีม่วง ใช้สกัดทำกลิ่นหอม) และ cedarwood (ต้นไม้ประเภทสน) นวดหนังศีรษะผู้ป่วยผมร่วงแบบเป็นหย่อมทำให้ผมขึ้น.
วิตามินซี และวิตามินอี (Ascorbic acid and vitamin E) พบว่าการกินวิตามินซี (ascorbic acid) วันละ 2,000 มก. และวิตามินอีวันละ 1,000 ยูนิต ลดอาการผิวไหม้แดด.
Witch Hazel เป็นสารสกัดจากเปลือกต้น Hamamelis virginiana ใช้ในการแพทย์แผนโบราณมานานเพื่อรักษาโรคริดสีดวงทวารหนัก, แผลไฟไหม้, ผิวระคายเคือง และผิวหนังอักเสบภูมิแพ้.
ส่วนการแพทย์ทางเลือกที่ใช้รักษาโรคผิวหนัง เช่น
การสะกดจิต (Hypnosis) มีรายงานการใช้การสะกดจิตรักษาโรคผิวหนัง แบ่งเป็น 2 กลุ่มดังนี้
กลุ่มที่ 1 คือ กลุ่มที่มีรายงานว่าได้ผลชัดเจน มีการทำการทดลองแบบมีการควบคุม (randomized controlled trial) เรียงลำดับจากที่มีหลักฐานชัดเจนที่สุดลงมา ได้แก่ หูด (verruca vulgaris), โรคสะเก็ดเงิน (psoriasis), โรคผิวหนังภูมิแพ้ (atopic dermatitis) และลมพิษ (urticaria).
กลุ่มที่ 2 เป็นโรคผิวหนังที่มีรายงานว่ารักษาได้ด้วยการสะกดจิต แต่ยังมีหลักฐานอ้างอิงน้อย ส่วนใหญ่เป็นแค่รายงานผู้ป่วย (case report) เพียงไม่กี่รายงาน ได้แก่ โรคสิวแกะเกา (acne excorie' e), ผมร่วงเป็นหย่อม (alopecia areata), โรคเกล็ดปลาชนิดผิวแดง (congenital ichthyosiform erythroderma), โรคผิวหนังอักเสบเป็นตุ่มน้ำใส (dyshidrotic dermatitis), โรคหลอดเลือดอักเสบอุดตันทำให้ผิวหนังแดงและปวดแสบปวดร้อน มักเป็นที่ขาด้านล่าง (erythromelalgia หรืออีกชื่อคือ Mitchell's disease), รูขุมขนอักเสบติดเชื้อ (furuncles), อาการปวดแสบ ปวดร้อนที่ริมฝีปาก ในช่องปากและลิ้น (glossodynia), เริม (herpes simplex), ภาวะเหงื่อออกมากผิดปกติ (hyperhidrosis), โรคเกล็ดปลาชนิดสามัญ (ichthyosis vulgaris), โรคผื่นม่วงแดง (lichen planus), neurodermatitis, nummular dermatitis, อาการปวดหลังเป็นงูสวัด (postherpetic neuralgia), อาการคัน (pruritus), โรคผื่นหน้าแดง (rosacea), โรคผมร่วงจากการดึงเล่น (trichotillomania) และ โรคด่างขาว (vitiligo).
กลุ่มผู้ป่วยช่วยเหลือกันเอง (Support group) ใช้เพื่อรักษาและบรรเทาอาการทางผิวหนัง และช่วยให้สภาพจิตใจดีขึ้น มีการใช้กลุ่มผู้ป่วยช่วยเหลือกันเองในโรคผิวหนัง เช่น สิว, ผมร่วงชนิดเป็นหย่อม, เริม, โรคผิวเกล็ดปลา, สะเก็ดเงิน และด่างขาว.
การฝังเข็ม (Acupuncture) มีรายงานการใช้การฝังเข็มรักษาโรคผิวหนัง เช่น โรคผิวหนังอักเสบเรื้อรัง (chronic eczema), สะเก็ดเงิน, สิว, เริม, ผมร่วงชนิดเป็นหย่อม, ด่างขาว, หูด และรอยเหี่ยวย่น แต่ในบางโรคเช่น สะเก็ดเงิน มีรายงานโต้แย้งว่าไม่ได้ผล.
ดนตรีบำบัด (Music therapy) ใช้ในโรคผิวหนัง เช่น โรคผิวหนังภูมิแพ้.
อย่างไรก็ตาม ก็มีรายงานว่าการแพทย์ทางเลือก อาจทำให้เกิดโรคได้ เช่น การใช้ macrobiotic อาจ ทำให้เกิดโรคลักปิดลักเปิด (scurvy) ในผู้ป่วยบางราย.
ภาพที่ 1. ดนตรีบำบัด
โรคผิวหนังที่มีการนำสมุนไพรและการแพทย์ทางเลือกมาใช้รักษา เช่น
โรคสิว
แทนนิน (Tannins) เป็นสารสกัดจากเปลือกต้นไม้ เช่น โอ๊ก และฝาง เป็นสารที่ทำให้เกิดรสฝาดในพืชบางชนิด ใช้ทารักษาสิวเพราะมีคุณสมบัติสมานผิว (astringent properties) ที่ใช้บ่อยคือ Witch Hazel.
กรดผลไม้ (Fruit acids) กรดผลไม้ เช่น กรด citric (จากผลไม้รสเปรี้ยว เช่น มะนาว), gluconic (พบตามธรรมชาติในผลไม้, น้ำผึ้ง, ไวน์), gluconolactone, glycolic (จากอ้อย, สับปะรด, องุ่นดิบ, แคนตาลูป), malic (จากน้ำแอปเปิล) และ tartaric acids (จากองุ่น, กล้วย, มะขาม, ไวน์) ใช้ทารักษาสิวเพราะมีคุณสมบัติทำให้ผิวลอก.
Tea tree oil มีการนำ tea tree oil มาใช้รักษาสิว จัดเป็นน้ำมันหอมระเหยที่สกัดจากใบของต้น Melaleuca alternifolia (ภาพที่ 2) ซึ่งเป็นต้นไม้ประจำถิ่นในออสเตรเลีย.
ภาพที่ 2. ต้น Tea tree.
ส่วนประกอบที่สำคัญคือ terpenes มีการศึกษาเปรียบเทียบการใช้ 5% tea tree oil กับ 5% benzoyl peroxide (ยาทารักษาสิวตัวหลักที่ใช้กันแพร่หลาย) พบว่า tea tree oil ออกฤทธิ์ช้ากว่ายาทาเบนซอยล์เปอร์ออกไซด์ (benzoyl peroxide) แต่มีข้อดีคือ tea tree oil ก่อผลแทรกซ้อนน้อยกว่า.
Vitex มีการกิน Vitex (Vitex agnuscastus) เพื่อรักษาอาการกำเริบของสิวก่อนมีประจำเดือน. ในประเทศเยอรมนีมีการอนุมัติให้ใช้ยาทา topical bittersweet nightshade (Solanum dulcamara) และยากิน brewer's yeast (Saccharomyces cerevisiae) เพื่อรักษาสิว ในจีนมีการใช้ยาทา topical duckweed (Lemma minor) รักษาสิว.
โรคฝ้า
กรดโคจิก (Kojic acid) เป็นสารที่สร้างจากเชื้อรา กรดโคจิกกดการทำงานของเอนไซม์ tyrosinase แต่ก็ยังปรับสีผิวได้น้อย และมีรายงานการแพ้ครีมชนิดนี้ประปราย.
Arbutin เป็นสารสกัดธรรมชาติจากพืช (bearberry, เป็นต้นไม้พุ่มเตี้ยชนิดหนึ่ง) พบในสูตรยาโบราณของญี่ปุ่น arbutin กดการทำงานของ tyrosinase แต่มีประสิทธิภาพน้อยกว่า hydroquinone (ยาทารักษาฝ้าตัวหลักที่ใช้กันแพร่หลาย) 100 เท่า มีรายงานว่าผลการรักษาฝ้าด้วย arbutin ร้อยละ 3 ได้ผลดี แต่เป็นรายงานจากบริษัทเครื่องสำอาง ในการทดลองรักษาจริงพบว่าประสิทธิภาพต่ำมาก.
สารสกัดจากราก mulberry
วิตามินซี ใช้เป็นครีมทาผิวมานานแล้วเพื่อรักษาผิวพรรณ แต่วิตามินซีไม่คงตัว ทำให้ไม่เป็นที่นิยม วิตามินซีที่ค่อนข้างคงตัวได้แก่ ascorbyl palmitate และ ascorbyl phosphate.
สารสกัดชะเอมเทศ (licorice extract) มีรายงานว่ารักษาฝ้าได้ผล แต่การวิจัยยังมีวิธีการไม่ถูกต้อง ทำให้ไม่ได้ข้อสรุปแน่นอน.
แผลที่ผิวหนังและแผลไฟไหม้
ว่านหางจระเข้ (Aloe vera) มีส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ 2 ส่วน คือ เจล และน้ำยาง ส่วนเจลนำมาใช้รักษาแผลที่ผิวหนังและแผลไฟไหม้ ส่วนน้ำยางใช้เป็นยาระบายท้อง มีรายงานว่าว่านหางจระเข้ลดอาการปวดแสบปวดร้อน, คัน และแผลเป็นในโรคผิวหนังอักเสบหลังการฉายรังสี (radiation dermatitis) ได้ พบว่าว่านหางจระเข้ยังมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย และไวรัส.
น้ำผึ้ง (Honey) ใช้ในรูปยาทาเพื่อเร่ง ให้แผลหายเร็วมาหลายศตวรรษแล้ว มีรายงานการแพทย์ว่าใช้รักษาแผลไฟไหม้, แผลกดทับ และแผลติดเชื้อ พบว่ายังมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียและไวรัสได้เช่นกัน.
Marigold เป็นต้นไม้ประเภทดาวเรือง (ภาพที่ 3) ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Calendula officinalis ใช้เป็นยาทามาตั้งแต่ยุคโบราณ ในประเทศเยอรมนีอนุมัติให้ใช้เป็นยาฆ่าเชื้อ (antiseptic) และช่วยสมานแผล นิยมใช้รักษาผื่นผิวหนังแพ้ผ้าอ้อม เชื่อว่าสารออกฤทธิ์ต้านอักเสบคือ triterpenoids.
ภาพที่ 3. Marigold.
nnins (ยาฝาดสมาน) มีสมุนไพรหลายตัวที่มีสาร tannins ที่ออกฤทธิ์เป็นยาสมานผิว (astringents) ใช้รักษาแผลเลือดออก และแผลที่มีน้ำเหลืองไหล สมุนไพรที่มี tannins ที่นำมาใช้รักษาแผล เช่น English walnut leaf, goldenrod (พืชจำพวกดอกสร้อยทอง มีดอกเล็กสีเหลือง), labrador tea (พืชพุ่มเล็กๆ ใช้เป็นเครื่องเทศหมักเนื้อ), lavender (พืชดอกสีม่วงชนิดหนึ่ง), mullein (สมุนไพรที่ส่วนใหญ่นำมาใช้รักษาอาการเจ็บคอ, ไอ), oak bark, rhatany (ต้นไม้พุ่มใช้รากแห้งเป็นยาสมานผิว, ใช้ผสมในยาสีฟัน, ยาอมบ้วนปาก), chinese rhubarb, St. John's wort (สมุนไพรดอกสีเหลือง) และ yellow dock (สมุนไพรชนิดหนึ่งใช้รากและใบทำยา).
โรคเริม (Herpes simplex) และโรคงูสวัด (Herpes zoster)
Balm ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Melissa officinalis เป็นพืชตระกูลมินท์ (mint) ที่มีกลิ่นมะนาว ใช้ใบสกัดเอาน้ำมันหอมระเหยมาทารักษาเริม และบาดแผลเล็กน้อย. สมุนไพรอื่นๆ ที่กำลังทดลองใช้รักษาเริม คือ Echinacea (สมุนไพรที่ชาวตะวันตกนิยมใช้ ป้องกันและรักษาหวัด), sweet marjoram (พืชจำพวก โหระพา, กะเพรา), peppermint และ propolis (propolis คือ ส่วนผสมที่มีลักษณะเป็นยางข้นเหนียว สีดำ เป็นสารชีวภาพประกอบหลายชนิดที่ผึ้งไปกัดยอดอ่อน หรือตาไม้บางชนิด (ภาพที่ 4) ผึ้งใช้พรอพ์โพลิสป้องกันรังให้พ้นจากศัตรู).
ภาพที่ 4. ผึ้งกำลังเก็บ พรอพ์โพลิส เห็นเป็นก้อนที่ปลายเท้า.
นอกจากนั้น ยังมีรายงานของการใช้การแพทย์ทางเลือกเพื่อลดการกำเริบและระยะเวลาการดำเนินโรคของเริม โดยการฝังเข็ม, การนวดและทำกายภาพบำบัด, การนวดน้ำมันหอมระเหย (aromatherapy), กลุ่มผู้ป่วยช่วยเหลือกันเอง, เทคนิคการผ่อนคลาย (relaxation technics), โยคะ, การสร้างจินตภาพ, การทำสมาธิ และการสะกดจิตตัวเอง (self hypnosis).
ชะเอมเทศและกระเจี๊ยบแดง (Licorice and Hibiscus) มีการใช้เจลชะเอม (Glycyrrhiza glabra, Glycyrrhiza uralensis) ทารักษาโรคงูสวัด และอาการปวดหลังเป็นงูสวัด สารออกฤทธิ์ตัวหนึ่ง คือ glycyrrhizen สามารถยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัสงูสวัดได้ ในจีนมีการใช้ยาทาจากกระเจี๊ยบแดง (Hibiscus sabdariffa) รักษางูสวัด.
โรคติดเชื้อแบคทีเรีย, ไวรัส และเชื้อรา (Bacterial, viral and fungal infections)
Tea tree oil มีการใช้ tea tree oil ในรูปยาทารักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรีย และไวรัส มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียที่ก่อสิว (Propionibacterium acnes), แบคทีเรียที่ก่อฝีหนอง (Staphylococcus aureus) ยังมีฤทธิ์ทำลายเชื้อยีสต์ (Candida albicans) และเชื้อรา Trichophyton mentagrophytes และ Trichophyton rubrum.
กระเทียม (Garlic) ชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Allium sativum มีสาร ajoene ซึ่งออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อรา มีการทดลองใช้ครีมสกัดกระเทียม (0.4% ajoene cream) ทารักษาเชื้อราที่เท้า ทาวันละครั้ง พบว่ารอย โรคหายใน 1 สัปดาห์ ร้อยละ 79 ที่เหลือหายใน 2 สัปดาห์ ติดตามผลนาน 3 เดือน พบว่าไม่มีการกลับเป็นซ้ำ แต่มีรายงานการเกิดผื่นแพ้สัมผัส ห้ามใช้กระเทียมในรูปยากินระหว่างให้นมบุตร และมีรายงานว่าอาจพบอาการเลือดหยุดไหลช้าเมื่อกินกระเทียม
หิด (Scabies)
Anise (Pimpinella anisum, เทียนสัตตบุษย์) เป็นเครื่องเทศที่ใช้ทำอาหาร (ภาพที่ 5) กลิ่นคล้ายโป๊ยกั๊ก. น้ำมันหอมระเหยที่สกัดจากเม็ด anise มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย และฆ่าแมลง ใช้ทารักษาหิดและเหา ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์.
ภาพที่ 5. เม็ด anise.
หูดหงอนไก่ และหูด (Condyloma and verruca vulgaris)
รากต้น American mayapple มีผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรที่ใช้รักษาหูดหงอนไก่ และหูด. ยา podophyllin ที่ใช้รักษาหูดหงอนไก่ทำจากรากต้น american mayapple (Podophyllum peltatum) ที่มีสารพิษคือ podophyllotoxin ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ ในประเทศประเทศเยอรมนีอนุมัติให้ใช้ bittersweet nightshade (S. dulcamara, พืชเถาที่มี ลูกสีแดง) และ oat straw (Avena sativa, ใช้ก้านสีเขียว, ใบ และเม็ด ส่วนใหญ่ทำเป็นสมุนไพรป้องกันโรคกระดูกพรุน) รักษาหูด ในอินเดียใช้ Calotropis (Calotropis procera, ต้นรัก) และในจีนใช้ greater celandine (Chelidonium majus, พืชดอกสีเหลืองตระกูลดอกป็อปปี้) เพื่อรักษาหูด ห้ามใช้ยาเหล่านี้ ในหญิงตั้งครรภ์และในผู้ที่กำลังให้นม.
โรคผิวหนังอักเสบและโรคสะเก็ดเงิน (Dermatitis and psoriasis)
ยาสมุนไพรจีน (Chinese herbal medicine) มีการศึกษาการใช้ยากินสมุนไพรจีนที่ประกอบด้วย Potentilla chinensis, Tribulus terrestris, Rehmannia glutinosa, Lophatherum gracile, Clematis armandii, Ledebouriella saseloides, Dictamnus dasycarpus, Paeonia lactiflora, Schizonepeta tenuifolia และ glabra โดยบรรจุในถุงและชงดื่มในรูปน้ำชา รักษาโรคผิวหนังภูมิแพ้ ที่ดื้อต่อการรักษาด้วยวิธีแผนปัจจุบัน พบว่าได้ผลดีกว่าการไม่ใช้ยา (หรือใช้ยาหลอก, placebo) ชัดเจน แต่ต้องตรวจเม็ดเลือดและการทำงานของตับอย่างสม่ำเสมอ เพราะเคยมีรายงานผู้ป่วยเสียชีวิตจากอาการตับวายจากการกินยาสมุนไพรจีนในรูปแบบนี้.
ว่านหางจระเข้ (Aloe vera) มีการนำมาใช้รักษาโรคสะเก็ดเงิน.
สารสกัดพริกไทย (Capsaicin) capsaicin เป็นส่วนประกอบหลักของพริกไทย (cayenne pepper, Capiscum frutescen) มีการนำมาใช้รักษาโรคสะเก็ดเงิน.
รากชะเอมเทศ (Licorice root) ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Glycyrrhiza glabra และ Glycyrrhiza uralensis ในจีนใช้รักษาโรคผิวหนังภูมิแพ้ (atopic dermatitis).
โรคผมร่วง (Alopecia)
มีการใช้น้ำมันหอมระเหย (essential oils) ที่มีส่วนผสมของ thyme (พืชปรุงกลิ่นใช้ในการทำอาหารฝรั่ง), rosemary (สมุนไพรใบรูปเข็ม), lavender, cedarwood (ไม้ตระกูลสน), grapeseed (เมล็ดองุ่น) และ jojoba (พืชที่นำเมล็ดมาสกัดน้ำมันทำเครื่องสำอาง) นวดศีรษะเพื่อรักษาผมร่วงแบบเป็นหย่อม.
เนื่องจากการใช้สมุนไพรและการแพทย์ทางเลือกในการรักษาโรคผิวหนังนั้น หลายวิธียังขาดข้อสรุปที่ชัดเจนตามหลักวิทยาศาสตร์ หรือยังอยู่ในระหว่างการศึกษา นอกจากนั้น การใช้สมุนไพรและการแพทย์ทางเลือกก็มีข้อห้ามใช้ และอาจก่อผลแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ จึงควรใช้เทคนิคเหล่านี้โดยใช้วิจารณญาณและปราศจากมิจฉาทิฐิ.
เอกสารอ้างอิง
1. ปัญญา เจียรวุฒิสาร. สารสกัดสมุนไพรกับการรักษาฝ้า. ผิวหนัง 2545; 7:116-22.
2. ประวิตร พิศาลบุตร. โรคฝ้าในเวชปฏิบัติ(ตอนที่ 3). ยาและเวชสำอางรักษาฝ้าชนิดใหม่. คลินิก 2551; 24. 701-8.
3. บุษราภรณ์ จันทร์ปรุง, ปิติ พลังวชิรา, มนตรี อุดม-เพทายกุล. การศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิภาพการรักษาฝ้าโดยวิธีใช้เข็มร่วมกับการทาไวตามินซี และการทายา 3% hydroquinone. โรคผิวหนัง 2551; 24:22-3.
4. Cassileth BR. Alternative and complementary cancer treatments. Oncologist 1996; 1: 173-9.
5. Levin C, Maibach H. Exploration of "alternative" and "natural" drugs in dermatology. Arch Dermatol 2002; 138:207-11.
6. Bedi MK, Shenefelt PD. Herbal therapy in dermatology. Arch Dermatol 2002; 138:232-42.
7. Brown DJ, Dattner AM. Phytotherapeutic approaches to common dermatologic conditions. Arch Dermatol 1998; 134:1401-4.
8. Shenefelt PD. Hypnosis : Applications in Dermatology and Dermatologic Surgery. eMedicine. Last updated: Feb 26, 2007.
9. Rosted P. The use of acupuncture in the management of skin diseases. Altern Ther Clin Pract 1996; 3(4):19-24.
10. Jerner B, Skogh M, Vahlquist A. A controlled trial of acupuncture in psoriasis : no convincing effect. Acta Derm Venereol 1997; 77(2):154-6.
11. Greenwood D. Honey for superficial wounds and ulcers. Lancet 1993; 341(8837):90-1.
12. Binns SE, Hudson J, Merali S, Arnason JT. Antiviral activity of extracts from Echinacea spp. against herpes simplex virus (HSV-I). Planta Med 2002; 68(9):780-3.
13. Gruzelier JH. A review of the impact of hypnosis, relaxation, guided imagery and individual differences on aspects of immunity and health. Stress. 2002; 5(2):147-63.
14. Ledezma E, Marcano K, Jorquera A, et al. Efficacy of ajoene in the treatment of tinea pedis : a double-blind and comparative study with terbinafine. J Am Acad Dermatol 2000; 43:829-32.
15. Ellis CN, et al. A double-blind evaluation of topical capsaicin in pruritic psoriasis. J Am Acad Dermatol 1994 Jul; 31(1):135.
16. www.dtam.moph.go.th/alternative/viewstory<. php?id=89
17. www.pharm.chula.ac.th/physiopharm/2548_< sem2/group5.html
18. www.pharm.chula.ac.th/museum <
ประวิตร พิศาลบุตร พ.บ., เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง
Diplomate, American Board of Dermatology
Diplomate, American Subspecialty Board of Dermatological Immunology,
Diagnstic and Laboratory Immunology
อาจารย์พิเศษ, ภาควิชาเภสัชกรรม, คณะเภสัชศาสตร์,
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- อ่าน 21,575 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้