วันที่ 6 ธันวาคม 2550 ศาลจังหวัดทุ่งสงได้มีคำพิพากษาจำคุกแพทย์โรงพยาบาลร่อนพิบูลย์ 3 ปี โดยไม่รอลงอาญา จากการฉีดยาเข้าช่องไขสันหลังผู้ป่วยเพื่อระงับความรู้สึกในการเตรียมผ่าตัดไส้ติ่ง แล้วผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้น และเสียชีวิตในเวลาต่อมาอีก 16 วัน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 291 ที่บัญญัติว่า ผู้ใดกระทำโดยประมาทและการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกินสองหมื่นบาท. ต่อมาเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2551 ศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง โดยศาลเชื่อถือคำเบิกความของพยานผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งเป็นประธานราชวิทยาลัยวิสัญญีแพทย์แห่งประเทศไทย ทำให้แพทย์หญิงของโรงพยาบาลร่อนพิบูลย์ไม่มีความผิดและไม่ต้องรับโทษทางอาญาแล้ว.
ในการปฏิบัติหน้าที่ของแพทย์เป็นการกระทำต่อชีวิตและร่างก่ายมนุษย์ ซึ่งมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดภาวะอันไม่พึงประสงค์โดยไม่คาดคิดขึ้นได้เสมอ แม้ผู้ประกอบวิชาชีพจะได้ใช้ความระมัดระวังตามวิสัยและพฤติการณ์อย่างสูงแล้วก็ตาม การที่จะพิจารณาว่าผู้ประกอบวิชาชีพจะมีความผิดและต้องรับโทษทางอาญาหรือไม่จำเป็นต้องใช้ความรู้ทางวิชาการเฉพาะสาขาที่มีความสลับซับซ้อนมาก ซึ่งมีความก้าวหน้าและมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา.
ดังนั้น ในกรณีที่มีความเสียหายเกิดขึ้นจากการประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพโดยไม่ได้เจตนา จึงไม่ควรใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 มาตรา 300 และมาตรา 390 ที่ใช้สำหรับความผิดทั่วไปมาใช้บังคับลงโทษผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพ แต่ควรมีกฎหมายพิเศษที่มีบทกำหนดความผิดบทกำหนดโทษและวิธีพิจารณาความแยกออกมาต่างหากเพื่อให้มีความคุ้มครองทั้งผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพและประชาชนตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 80 (2) และเนื่องจากในปัจจุบันปัญหาการฟ้องร้องแพทย์ได้ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างน่าวิตกทำให้เกิดผลกระทบใน วงกว้างและก่อให้เกิดความเสียหายดังต่อไปนี้คือ
1. แพทย์เปลี่ยนอาชีพโดยหาทางไปประกอบวิชาชีพอื่น เช่น ผู้พิพากษา อัยการ นักธุรกิจ เป็นต้น
2. แพทย์ลาออกจากระบบราชการโดยเฉพาะแพทย์ของกระทรวงสาธารณสุข ในแต่ละปีได้ลาออกเป็นจำนวนมาก เนื่องจากงานหนัก และค่าตอบแทนต่ำกว่าในภาคเอกชนมาก อีกทั้งยังมีความเสี่ยงสูงโดยเฉพาะอย่างยิ่งแพทย์ที่ประจำอยู่ตามโรงพยาบาลอำเภอ ซึ่งขาดทั้งกำลังคน และเครื่องมือทำให้มีความเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องดำเนินคดีอาญาเพราะในกฎหมายปัจจุบัน เมื่อเกิดภาวะแทรกซ้อนอันไม่ พึงประสงค์เกิดขึ้นกับผู้ป่วย แพทย์จะถูกดำเนินคดีอาญาในลักษณะเดียวกับการกระทำผิดอย่างอื่น เช่น ขับรถชนคนตาย.
3. แพทย์ขาดความกล้าหาญในการทำงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งแพทย์ที่อยู่ในที่ห่างไกล เช่น โรงพยาบาลอำเภอ อาจไม่กล้ารักษาผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ผู้ป่วยที่มีโอกาสเสียชีวิตร้อยละ 70 แพทย์อาจไม่กล้าตัดสินใจผ่าตัดผู้ป่วย เนื่องจากหากเสียชีวิต ตนเองอาจต้องรับโทษทางอาญาถึงขั้นติดคุก (ซึ่งในปัจจุบันมีคดีที่แพทย์ถูกศาลชั้นต้นสั่งจำคุกโดยไม่รอลงอาญาหลายคนแล้ว โดยขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์) ทำให้แพทย์จำเป็นต้องลดความเสี่ยงของตนเอง โดยการส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลจังหวัดทำให้ผู้ป่วยอาจมีโอกาสเสียชีวิตได้สูงขึ้นจากการรักษาที่ล่าช้าไม่ทันการ.
4. นักศึกษาแพทย์ลาออกระหว่างการเรียน เพื่อไปเรียนวิชาอื่นๆ รวมทั้งผู้สมัครสอบเข้าเรียนแพทย์ที่สอบได้แล้วมีการสละสิทธิ์ถึงร้อยละ 20 จนต้องเรียกผู้ได้คะแนนสำรองถึงสามรอบ ซึ่งต่างกับในอดีตที่แย่งกันเข้าเรียนเป็นอันดับหนึ่งมาโดยตลอด ทั้งนี้เพราะกลัวปัญหาการฟ้องร้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคดีอาญา.
5. ประชาชนมีความเสี่ยงมากขึ้น เนื่องจากแพทย์ไม่กล้าตัดสินใจรักษาผู้ป่วยทำให้ต้องถูกส่งไปยังโรงพยาบาลที่มีศักยภาพสูงกว่า โดยโรงพยาบาลอำเภอส่งไปยังโรงพยาบาลจังหวัด โรงพยาบาลจังหวัดส่งต่อไปยังโรงพยาบาลในกรุงเทพมหานคร และผู้ป่วยจะมีความเสี่ยงต่อความตายสูงขึ้นหากอยู่ในภาวะวิกฤต. อีกประการหนึ่ง แพทย์อาจเกิดความกลัวมากจนจำเป็นต้องประกอบวิชาชีพโดยวิธีป้องกันตนเองไว้ก่อน เช่น ผู้ป่วยมาด้วยอาการปวดศีรษะครั้งแรก ก็อาจจะส่งตรวจคอมพิวเตอร์สมองไว้ก่อนเพราะถ้าหากเป็นเนื้องอกในสมอง (ซึ่งมีโอกาสเป็นน้อยมาก) ซึ่งถ้าหากเป็นจริงแล้วไม่ส่งตรวจไว้ตั้งแต่แรกก็อาจถูกฟ้องร้องได้.
ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้นทำให้เกิดวิกฤตความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยเกิดความไม่ไว้วางใจกันซึ่งเป็นการสูญเสียหลักการสำคัญของความจำเป็นในการรักษาพยาบาล ในที่สุดจะทำให้เกิดเป็นวงจรที่แก้ไขไม่ได้ ซึ่งจะสร้างความเสียหายต่อระบบสาธารณสุขทั้งประเทศ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องแก้ไข โดยการสร้างกฎหมายใหม่ขึ้น เพื่อให้มีการคุ้มครองประชาชนและให้แพทย์มีความมั่นใจในการปฏิบัติหน้าที่ดูแลรักษาและช่วยชีวิตประชาชน เพราะไม่มีทางที่จะแยกออกจากกันได้ เนื่องจากแพทย์ทุกคน ก็คือลูกหลานประชาชน และแพทย์เองก็ย่อมมีครอบครัว ญาติ พี่ น้อง ซึ่งต่างก็เป็นประชาชนคนไทยด้วยกันทั้งสิ้น.
อำนาจ กุสลานันท์ พ.บ.
น.บ., น.บ.ท.,
ว.ว. (นิติเวชศาสตร์)
ศาสตราจารย์คลินิก
เลขาธิการแพทยสภา
- อ่าน 4,685 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้